เมื่อเศรษฐกิจโลกจะชะลอ สงครามการค้าปะทุ ประเทศเกิดใหม่มีปัญหา แล้วไทยล่ะ?

ช่วงนี้ใครที่ลงทุน เก็งกำไรหุ้น หรือทำธุรกิจกับต่างประเทศ อาจกังวลเพราะมีข่าวไม่ดีทุกวัน อย่าง วิกฤตของตุรกี อาร์เจนตินา ล่าสุดเรื่องสหรัฐฯ และจีนที่เขาคิดภาษีนำเข้าสินค้าระหว่างกัน จนหลายนักวิเคราะห์มองว่าปีหน้า เศรษฐกิจโลกจะโตชะลอตัวลง ว่าแต่ไทยเราจะได้รับผลกระทบอย่างไรบ้าง

ภาพจาก shutterstock

สารพัดเรื่องที่เกิดขึ้นบนโลก ส่งผลกระทบกับไทยอย่างไรบ้าง?

กอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย บอกว่า ระยะนี้เราเห็นการเปลี่ยนแปลงไปทั่วโลก เช่น วิกฤตตุรกี อาร์เจนตินา อัตรดอกเบี้ยนโยบายเริ่มเป็นขาขึ้น สงครามการค้า ทำให้เศรษฐกิจและตลาดการเงินมีความผันผวนมากกว่าปีอื่นๆ ที่ผ่านมา

โดยไทยเรามีการส่งออกกว่า 70% จึงได้รับผลกระทบทางอ้อมจากเรื่องเหล่านี้ แต่ยังคงมองว่า GDP ไทย ปี 2561 จะเติบโตที่ 4.5% ขณะเดียวกันเรื่องตลาดทุนเห็นผลกระทบชัดเจน เพราะตั้งแต่ต้นปีเงินลงทุนต่างชาติลดการถือทรัพย์สินในกลุ่ทประเทศเกิดใหม่ (Emerging markets) รวมถึงไทย และหันกลับไปลงทุนสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ

ภาพจาก Shutterstock

“สถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ผู้จัดการกองทุนหลายคนต้องกลับมาดูแล้วว่า Emergings markets ไม่ได้มีแต่ขาขึ้นอย่างเดียว แต่ยังมีขาความเสี่ยงที่ต้องดูด้วย ซึ่งหลังจากวิกฤตในตุรกี อาร์เจนตินา เราอาจะจะเห็นอีกหลายประเทศมีปัญหาทางเศรษฐกิจ เช่น แอฟริกาใต้ ยูเครน ฮังการี เพราะเป็นกลุ่มที่มีหนี้ต่างประเทศค่อนข้างเยอะบางที่เกิน 50% และเมื่อหลายคนเห็นว่า Emerging markets เสี่ยงเลยลดการถือทรัพน์สินในกลุ่มนี้รวมถึงไทยด้วย ทั้งที่จริงๆ แล้วหนี้ต่างประเทศเราอยู่ที่ 22.3% เท่านี้น ”

แม้ว่าตลาดหุ้นไทยจะได้รับผลกระทบไปแล้ว แต่ปีนี้ภาพรวมเศรษฐกิจไทยน่าจะยังโตตามที่คาดการณ์ไว้ ทั้งเศรษฐกิจโลก Emerging markets GDP การส่งออก การบริโภคภาคเอกชน เพราะได้รับแรงหนุนจากหลายทาง อย่างการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ โครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ โครงการระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก (EEC) และที่สำคัญความชัดเจนเรื่องการเลือกตั้ง ทำให้นักลงทุนบางส่วนสนใจกลับมาลงทุนในตลาดหุ้นไทยแต่น่าจะเป็นระยะสั้น

ภาพจาก Shutterstock

ปัจจัยที่ต้องจับตามองหลังจากนี้ และเศรษฐกิจไทยปีหน้าจะเป็นอย่างไร?

ส่วนไตรมาส 4 ปี 2561 นี้เราต้องจับตาว่าสงครามการค้าจะมีทิศทางอย่างไร เพราะเราเปลี่ยนความคิดจากเดิมมองว่า Donald Trump ประธานาธิบดีสหรัฐ จะใช้มาตรการภาษีกับสินค้านำเข้าของจีนถึงช่วงสิ้นปีนี้ เพื่อรักษาฐานเสียงการเมืองในการเลือกตั้ง Midterm

แต่จากแนวโน้มในปัจจุบันจะ Trump อาจจะใช้มาตรการทางภาษีไปจนถึงการเลือกตั้งครั้งหน้าเลย ซึ่งเรื่องนี้จะส่งผลกระทบต่อจีนที่เป็นคู่ค้าหลักของไทย ขณะเดียวกันคนจีนที่มาเที่ยวไทย คิดเป็น 1 ใน 3 ของนักท่องเที่ยวทั้งหมดด้วย

“ตอนนี้นักท่องเที่ยวจีนมาไทยเยอะมาก เขามีผลต่อ GDP ไทยถึง 12% ดังนั้นถ้าเศรษฐกิจบ้านเขาไม่ดี เขาก็อาจจะมาท่องเที่ยวน้อยลง เรามองว่าตอนนี้และทั้งปี 2561 การท่องเที่ยวไทยยังดีต่อเนื่อง แต่ต้นปีหน้าอาจจะเห็นคนจีนมาเที่ยวน้อยลง รายได้ของไทยเราก็จะลดลงด้วย”

ส่วนปี 2562 เริ่มมีคนมองว่าเศรษฐกิจจีน ญี่ปุ่นจะชะลอตัว ทำให้ IMF และนักวิเคราะห์หลายประเทศมองว่าเศรษฐกิจโลกจะชะลอตัว (น่าจะอยู่ที่ 4% กว่าๆ) ซึ่งจะส่งผลกระทบกลับมายังประเทศไทยที่มีสัดส่วนการส่งออกเกินครึ่ง โดย GDP ปี 2562 ของไทยน่าจะอยู่ที่ 4.2-4.3% ต่ำกว่าปีนี้

ที่มา ธนาคารกสิกรไทย

ใส่ใจค่าเงินบาท ตัวชี้ทางเศรษฐกิจ

ด้านค่าเงินบาทปัจจุบันถือว่าแข็งค่ามากโดยสิ้นไตรมาส 3/2561 นี้คาดว่าจะอยู่ที่ 32.00 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ จากเดิมที่มองว่าจะอยู่ระดับ 34.00 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ สาเหตุหลักมาจากความผันผวนในต่างประเทศ และหากค่าเงินบาทยังแข็งค่าต่อไปจะส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันประเทศจะลดลง

“ถ้าค่าเงินบาทเราแข็งค่าขึ้น เราจะแข่งกับประเทศอื่นๆ ได้น้อยลง เช่น ตอนนี้อินโดนีเซีย อินเดีย ที่ส่งออกสินค้าเกษตรเหมือนๆ กับเรา แต่ค่าเงินเขาอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเราแสดงว่า สินค้าเขาจะถูกกว่าเรา ไทยก็จะแข่งกับเขายากขึ้น แต่พอบาทแข็งค่าในรอบนี้ก็น่าจะเริ่มอ่อนค่าลงไปจนถึงสิ้นปี”

ที่มา ธนาคารกสิกรไทย

ส่วนช่วงไตรมาส 1/2562 เราอาจจะเห็นค่าเงินบาทแข็งค่าอีกครั้งอาจจะอยู่ที่ 31.00 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ สาเหตุเพราะเราจะเห็นธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายทำให้มีเงินทุนไหลกลับเข้ามา การท่องเที่ยวไตรมาสนี้ก็จะสูงสุด รวมถึงธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะหยุดอัดฉีดเงินเข้าระบบทำให้ค่าเงินเขากลับมาแข็งค่าและกดดันค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง ซึ่งจะทำให้สกุลเงินดอลลาร์อ่อนค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่นๆ ด้วย

  • ทางธนาคารคาดว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (FED) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 2 ครั้งในปีนี้ และอีก 2 ครั้งในปีหน้า
  • คาดว่าธปท. จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปจนถึงสิ้นปี (วันนี้ ธปท. ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.5%) และคาดว่าจะปรับขึ้นในปีหน้า 2 ครั้ง

สรุป

ทั่วโลกมีเศรษฐกิจที่เชื่อมโยงกัน เมื่อมีสถานการณ์ใดใดขึ้น อย่างแรกจะกระทบกับตลาดเงินตลาดทุนก่อน ต่อมาจะเริ่มเห็นผลกระทบต่อการค้า เศรษฐกิจ ซึ่งครั้งนี้เมื่อสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนดูจะยืดเยื้อ ก็ทำให้นักลงทุน และแต่ละประเทศเริ่มมองนโยบายการลงทุนในประเทศอื่นๆ

ส่วนวิกฤตการเงินของตุรกี และอาร์เจนตินาก็เป็นสัญญาณให้คนตื่นตัวว่า Emerging markets มีความเสี่ยงมากกว่าที่คิด แต่สรุปแล้ว ไทยเราจะได้รับผลกระทบไม่มากนัก แต่ต้องจับตาดูสถานการณ์ของจีนที่เป็นพี่ใหญ่เรา ถ้าเขาไปรุ่ง เราก็รอด

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา