เมื่อปี 2540 วิกฤตต้มยำกุ้ง หลายคนยังจำได้ว่ามีธนาคารที่ล้มและต้องปิดตัวไป หลังจากนั้นบางคนยังกลัวว่าถ้าฝากเงินไว้ในบัญชีแล้วเงินเราจะหายไปไหม ภาครัฐเลยเสริมความมั่นใจให้คนไทย ด้วยการเปิดสถาบันคุ้มครองเงินฝาก (สคฝ.) มาตั้งแต่ปี 2551
แต่เมื่อ 11 ส.ค. ที่ผ่านมาทางสถาบันฯ เริ่มลดวงเงินคุ้มครองเงินฝากลงจาก 15 ล้านบาทมาอยู่ที่ 10 ล้านบาท และจะลดลงเหลือ 1 ล้านบาทในอนาคต เรื่องนี้กระทบเราอย่างไรบ้าง
มารู้จักสถาบันคุ้มครองเงินฝากกันก่อน ว่าหน้าที่เขาคืออะไร ?
สาทร โตโพธิ์ไทย ผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองเงินฝาก บอกว่า หน้าที่ของสถาบันคุ้มครองเงินฝาก คือช่วยให้ลูกค้าของสถาบันการเงินต่างๆ ได้รับเงินคืน (ตามที่กฎหมายกำหนด) เมื่อสถาบันการเงินเหล่านั้นต้องปิดกิจการลง ซึ่งตอนนี้ใครที่ฝากเงินบาทกับธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุน และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ รวม 35 แห่งในไทย จะได้รับความคุ้มครองในวงเงิน 10 ล้านบาท
“สถาบันเราก่อตั้งโดยภาครัฐเมื่อปี 2551 ซึ่งจะคุ้มครองเงินฝากในสถาบันการเงิน 35 แห่ง จะไม่รวมเงินลงทุนในพันธบัตร และตราสารหนี้ ซึ่งเราก็ต้องเดินตามนโยบายของภาครัฐ โดยรูปแบบการทำงานของเราศึกษามาจากหลายประเทศททั่วโลกที่มีองค์กรคุ้มครองเงินฝาก”
กระบวนการหลักคือ สถาบันจะคุ้มครองประชาชนเมื่อสถาบันการเงินปิดตัวลง ประชาชนจะได้รับเงินคืนภายใน 30 วันโดยไม่ต้องทำอะไร ทางสถาบันฯ จะเป็นคนจ่ายคืนเงินให้ผู้ฝาก แล้วชำระบัญชี โดยเข้าไปจัดการทรัพย์สินของสถาบันการเงินที่ปิดตัว เช่น เอาทรัพย์ออกขาย ฯลฯ
ทำไมต้องลดวงเงินคุ้มครองเงินฝาก ประชาชนจะได้อะไร?
สาทร บอกว่า การจะขยายหรือลดวงเงินคุ้มครองเงินฝากขึ้นอยู่กับนโยบายของภาครัฐ รายได้ของคนไทยและ GDP ของประเทศ ซึ่งวงเงินคุ้มครองของไทยที่ 10 ล้านบาทตอนนี้ถือว่าสูงที่สุดในโลก เพราะในต่างประเทศอย่างสหรัฐวงเงินคุ้มครองอยู่ที่ 8 ล้านบาท มาเลเซียอยู่ที่ 2 ล้านบาท สิงคโปร์อยู่ที่ 1.2 ล้านบาท เวียดนามอยู่ที่ 1 แสนบาท
“การลดวงเงินคุ้มครองเงินฝากลงมาอยู่ที่ 1 ล้านบาท จะทำให้เราสามารถคุ้มครองคนไทยที่มีเงินฝากถึง 98.19% คือ ประมาณ 98 จาก 100 คน จะได้รับเงินฝากคืนทันทีภายใน 30 วัน แต่ส่วนที่เหลือคือคนที่วงเงินเเกิน ทางสถาบันเราก็จะบริหารจัดการทรัพย์สินให้แล้วเครียร์เงินคืนให้ในภายหลังแต่อาจจะได้ไม่ครบ ต้องดูที่ทรัพย์สินของสถาบันการเงินนั้นๆ”
ในอนาคตเมื่อวงเงินคุ้มครองเงินฝากเหลือ 1 ล้านบาท คงต้องรอดูนโยบายของภาครัฐ หากมีการปรับขยายขึ้น วงเงินคุ้มครองก็สามารถขยับขึ้นได้นั่นเอง
ปัญหาใหญ่ DPA คนยังไม่รู้จักสถาบันเงินฝาก ตั้งเป้าหมาย 4 ปี คนค่อนประเทศต้องรู้จัก
สาทร บอกว่า เมื่อ 4 ปีที่แล้ว เราให้ทางนิด้าทำเซอร์เวย์ให้เราพบว่า คนไทยรู้จักสถาบันคุ้มครองเงินฝากแค่ 26% จากประชากรไทยกว่า 60 ล้านคน เราเลยเปิดตัวแคมเปญใหม่ให้ประชาชนสามารถส่งคลิปวีดีโอเข้ามาประกวด และหลังจากนี้เาจะมีการเข้าถึงประชาชนกับสื่อหลายช่องทาง
ส่วนเป้าหมายภายในปี 2563 นี้คาดว่าจะมีคนไทยรู้จักสถาบันคุ้มครองเงินฝากที่ 40% จากปลายปี 2560 ที่ผ่านมาอยู่ที่ 33% แล้ว
สรุป
เราเคยได้ยินว่าภาครัฐอยากสนับสนุนให้คนมาลงทุน ถึงได้ออกนโยบายลดความคุ้มครองเงินฝากลง ดังนั้นอาจเป็นสาเหตุหลักให้สถาบันคุ้มครองเงินฝากลดวงเงินคุ้มครองลง ในขณะที่อีกด้านหนึ่งการลดวงเงินคุ้มครองลงอาจจะทำให้คนส่วนมากได้เงินเร็วขึ้น เพราะวงเงินน้อยลงนั้นเอง สุดท้ายแล้วกลายเป็นเราควรถูกบีบให้เอาเงินไปลงทุนงั้นหรือ ? อย่างไรก็ตามเรามาคิดกันก่อนดีกว่าว่าจะมีเงินล้านแรกจากวิธีใดบ้าง
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา