เมื่อความเร็วคือพระเจ้า ธุรกิจใหญ่ด้านเฮลท์เทคปรับตัวแยกจากบริษัทแม่

เทรนด์สุขภาพและการแพทย์มาแรงทั่วโลก ทำให้บริษัทเทคโนโลยีต่างๆ หันมาพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อให้คนมีชีวิตยืนยาว สุขภาพดี ซึ่งก็รวมถึงการรักษาโรคภัยไข้เจ็บต่างๆด้วย แต่เมื่อมีดิจิทัล ความเร็วเลยกลายเป็นหัวใจหลักในการทำธุรกิจ

เมื่อ Speed เป็นเรื่องของพระเจ้า Siemens Healthineers แยกตัวจากบริษัทแม่

ดร.โทเบียส เซย์ฟาร์ท กรรมการผู้จัดการ และ ประธาน ซีเมนส์ เฮลทิเนียร์ส (Siemens Healthineers) ประจำภูมิภาคอาเซียน บอกว่า ก่อนหน้านี้ Siemens Healthineers เป็นส่วนหนึ่งของบริษัทแม่ Siemens ที่ทำธุรกิจเรื่องรถไฟฟ้า แต่เมื่อ 3 เดือนที่ผ่านมา เราแยกออกมาเปิดบริษัทใหม่ในตลาดหลักทรัพย์ชื่อ Siemens Healthineers ที่จะพัฒนาเทคโนโลยีทางการแพทย์ออกมาแข่งในโลกธุรกิจ ปัจจุบันเรายังมีสัดส่วนประมาณ 18% ของ Siemens ทั้งหมด

“การทำธุรกิจตอนนี้โดยเฉพาะธุรกิจเทคโนโลยีจำเป็นต้องมีความเร็ว และความคล่องตัว การที่เราต้องแข่งขันกับบริษัทเทคโนโลยีใหญ่ เลยต้องใช้จุดเด่นเราที่มีเครือข่าย พันธมิตรโรงพยาบาล ทำให้สามารถเข้าถึงข้อมูลลูกค้าที่ใช้บริการเครื่องมือทางการแพทย์ต่างๆ มาวิเคราะห์ พัฒนาและสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ได้มากกว่าบริษัทเทคโนโลยีอื่นๆ”

นอกจากนี้การมีบริษัทแม่เป็น Siemens ทำให้ภาคการผลิตของเราดีขึ้น เพราะเรามีการแลกเปลี่ยน IT engineer ความรู้ต่างๆ ระหว่างกันมากขึ้น

ภาพจาก Shutterstock

พัฒนาเทคโนโลยี AI เพิ่มทางเลือกให้ธุรกิจ สนับสนุนการแพทย์

เทคโนโลยีทางการแพทย์มีเรื่องใหม่ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา การที่บริษัทเราจะแข่งขันกับคนอื่นได้ ต้องพัฒนาให้เร็วยิ่งขึ้น จุดแข็งเราคือการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ เอไอ (Artificial Intelligence) มาพัฒนาอุตสาหกรรมสุขภาพ เครื่องมือทางการแพทย์ การบริการคนไข้ การเพิ่มประสิทธิภาพห้องทอลอง (ห้องแล๊ป) ฯลฯ

ปัจจุบันบริษัทเราให้บริการภายในโรงพยาบาล (รพ.) อยู่แล้ว อย่างในไทย รพ.จุฬาลงกรณ์ รพ.บำรุงราษฎร์ กลุ่มรพ. รามคำแหง และ รพ.ในเครือกรุงเทพดุสิตเวชการ มีเครื่องมือแพทย์อย่างเครื่องเอ็มอาร์ไอและซีทีสแกนที่ใช้เทคโนโลยี Cinematic VRT และซอฟต์แวร์ซินโกเวีย (Syngo.via) ซึ่งทำให้แพทย์มีข้อมูลภาพจำลองร่างกาย สมองมนุษย์ ฯลฯ และเอามาวินิจฉัยโรคได้ดีขึ้น เพราะมองเห็นอวัยวะที่ต้องการตรวจได้ชัดเจนขึ้น

และเมื่ออุตสาหกรรมเทคโนโลยีทางการแพทย์ทั่วโลกมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากโรงพยาบาล (รพ.) ทั่วโลก มีการใช้เครื่องเอ็มอาร์ไอและซีทีสแกนเพิ่มขึ้น 30% ทำให้รพ. ต่างๆ ต้องบริหารขั้นตอนภายในรพ.ให้เร็วขึ้น มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น Simens Healthineers เลยพัฒนาโซลูชั่นและแพลตฟอร์มออนไลน์ ให้บุคลากรของรพ. ในชื่อ PEPconnect (Personalized Education Plan)

PEPconnect (Personalized Education Plan) จะใช้งานง่ายเหมือนโซเชี่ยลมีเดีย มีช่องให้คนในรพ.แชทกันได้ เพื่อติดตามสมรรถนะการใช้งานของเครื่องแบบเรียลไทม์และแจ้งบำรุงรักษาได้ทันทีผ่านคอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต และสมาร์ทโฟน

แล้ว Siemens Healthineers วางแผนงานธุรกิจในไทย อย่างไรบ้าง

Simens Healthineers เรามองเทรนด์เทคโนโลยีทางการแพทย์ไทยมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเราต้องดูนโยบายของประเทศไทยว่าจะขับเคลื่อนไปทางไหน ซึ่งปัจจุบันไทยทำได้ดีในเรื่องการดูแล และรักษาพยาบาลลูกค้ากลุ่มบน ดังนั้นในอนาคตเรามองว่าควรการแพทย์ต้องเข้าถึงกลุ่มประชาชนไทยให้มากขึ้น และคนกลุ่มนี้ต้องสามารถเข้าถึงการรักษาทางการแพทย์ขั้นพื้นฐานให้ได้ ทางบริษัทจึงสนับสนุนไทยผ่านเทคโนโลยร และเงินทุนอย่างถูกที่ ถูกเวลา

Siemens Healthineers เราอยู่ในไทยมากว่า 120 ปี จึงตั้งเป้าหมายการเติบโตในไทยอย่างต่อเนื่อง เพราะปัจจุบันไทยถือเป็น Medical Hub ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้ว โดยจุดประสงค์ของบริษัทยังแบ่งเป็น 4 ด้านได้แก่

  • เพิ่มความแม่นยำในการตรวจรักษา
  • เปลี่ยนโฉมการดูแลรักษาคนไข้ให้รวดเร็วมีประสิทธิภาพมากขึ้น
  • ปรับประสบการณ์การรับบริการของคนไข้
  • ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการดูแลสุขภาพไปสู่ยุคดิจิทัล

สรุป

เทคโนโลยีทางการแพทย์ยังเติบโตต่อเนื่อง ทำให้บริษัทเทคโนโลยีใหญ่ๆ เริ่มเข้ามาแข่งขันกับเจ้าใหญ่ในธุรกิจเดิม ดังนั้น Siemens Healthineers ซึ่งเป็นเจ้าใหญ่ในตลาด แม้จะมีจุดแข็งว่าเข้าถึงข้อมูลการรักษาพยาบาลได้มากกว่ากลุ่มหน้าใหม่ แต่เพื่อรักษาส่วนแบ่งการตลาดให้ได้ ล่าสุดเลยแยกบริษัทออกจากบริษัทแม่ แน่นอนว่าเพื่อความคล่องตัวให้ทำธุรกิจ นโยบายต่างๆ ได้เร็วขึ้นแต่ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเรื่องการระดมเงินทุนได้มากขึ้นด้วย เพราะธุรกิจเทคโนโลยีเหล่านี้ต้องใช้เงินจำนวนมากในการพัฒนา 

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา