เคยสงสัยไหมว่า ธนาคาร ค่ายบัตรเครดิต และสถาบันการเงินต่างๆ เขาดูเกณฑ์อะไรในการปล่อยสินเชื่อบ้าง วันนี้ Brandinside เลยอาสาค้นข้อมูลจาก ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน (ศคง.) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มาสรุปเกณฑ์ให้เข้าใจง่ายๆ กัน
เปิดสูตรแบงก์ ใช้ 3 เกณฑ์พิจารณาปล่อยสินเชื่อ
ข้อมูลจากเว็บไซด์ ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน (ศคง.) ระบุว่า เกณฑ์พิจารณาการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินกับผู้ให้สินเชื่อมีหลักๆ 3 อย่าง ได้แก่
1.นโยบายสินเชื่อของผู้ให้สินเชื่อ บริษัทจะมีนโยบายเฉพาะ เช่น บางรายกำหนดว่าผู้ขอกู้ต้องไม่มีประวัติการค้างชำระในช่วง 12 เดือนย้อนหลัง หรืออาจงดให้สินเชื่อแก่ลูกค้าใหม่ในกลุ่มอาชีพหรือกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงสูง ฯลฯ
2.วัตถุประสงค์ในการขอสินเชื่อ บริษัทเขาจะดูว่าใช้เงินไปทำอะไร เช่น ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการทำธุรกิจ หรือลงทุนขยายโรงงาน ซึ่งจะเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาความสามารถในการชำระหนี้ในอนาคต
3.คุณลักษณะและความสามารถในการชำระหนี้ของผู้ขอสินเชื่อ สถาบันการเงินส่วนใหญ่จะใช้หลัก 5 Cs ได้แก่
- Character หรือลักษณะของผู้กู้ เช่น อาชีพ อายุ ประวัติและวินัยในการชำระหนี้ ถ้าเป็นสินเชื่อธุรกิจ จะดูเรื่องประวัติผู้บริหาร เวลาในการดำเนินงาน ฯลฯ
- Capacity ความสามารถในการชำระหนี้คืนตามระยะเวลาที่กำหนด เช่น รายได้ปัจจุบัน ภาระหนี้สินที่มีอยู่ ประวัติการจ่ายหนี้สินเชื่ออื่นๆ ที่เคยมี
- Capital เป็นหัวใจของสินเชื่อธุรกิจ เพราะเงินทุน สินทรัพย์ต่างๆ แบงก์มองว่าจะเป็นแหล่งเงินสำรองในการชำระหนี้ในกรณีที่ใช้หนี้ไม่ได้
- Collateral หลักประกัน หรือ ผู้ค้ำประกัน เป็นสิ่งที่ช่วยให้แบงก์มีความเสี่ยงลดลงและมั่นใจว่าผู้กู้จะจ่ายหนี้ได้มากขึ้น
- Conditions เงื่อนไขต่างๆ ที่อาจจะกระทบต่อรายไก้ของผู้ขอสินเชื่อ เช่น เศรษฐกิจ เงินเฟ้อ ความมั่นคง สิ่งแวดล้อม ฯลฯ
จาก 3 ข้อที่ผ่านมา เราเริ่มเห็นแววคนที่จะกู้ผ่านและไม่ผ่านแล้ว ดังนั้นสรุปง่ายๆ หากคนที่ขอสินเชื่อมีอาชีพและมีรายได้ที่มั่นคง ไม่มีหนี้สินล้นตัว การขอสินเชื่อก็จะง่ายขึ้น แต่คนที่ไม่มีงานที่มั่นคง ไม่มีเอกสารใบรับรองเงินเดือน ก็ยังกู้เงินได้แต่ต้องมีหลักฐานอื่นๆ เช่น ใบแจ้งยอดบัญชี หรือสเตทเมนต์ (Statement) ของบัญชีเงินฝาก มาเพิ่มความมั่นใจให้สถาบันการเงินได้
ขอสินเชื่อไม่ผ่าน เพราะอะไร ? เราถามแบงก์ได้
ใครๆ ก็อยากขอสินเชื่อแล้วได้รับการอนุมัติทั้งนั้น แต่ถ้าครั้งล่าสุดที่เราขอสินเชื่อแบงก์ไม่ได้รับอนุมัติ เราต้องหาสาเหตุให้เจอว่าทำไมกู้ไม่ได้ ดังนั้นในข้อกำหนดของแบงก์ชาติ (ธนาคารแห่งประเทศไทย) เลยกำหนดให้ผู้บริโภคอย่างเราสามารถถามธนาคารว่า สาเหตุในการปฏิเสธสินเชื่อครั้งนี้คืออะไร เช่น แบงก์ประเมินแล้วรายได้ไม่พอกับการชำระหนี้ ฯลฯ
และสำหรับคนที่ขอกู้สินเชื่อธุรกิจ ถ้าไม่ได้รับการอนุมัติจากแบงก์เราสามารถขอเอกสารประกอบการขอสินเชื่อคืนมาได้ ไม่ว่าจะเป็นแผนประกอบธุรกิจ รายละเอียดหลักประกัน
ทว่ากฎนี้ยังมีช่องโหว่เพราะ Non-Bank หรือ ผู้ให้บริการที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน อย่างคนที่ให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคล (พีโลน) และสินเชื่อบัตรเครดิตไม่จำเป็นต้องแจ้งลูกค้าก็ได้
ที่มา ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา