เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า คนที่จะมาสืบทอดกิจการของ Alibaba หลังจากยุคของแจ๊ค หม่า ก็คือ “แดเนียล จาง” (Daniel Zhang) ผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งซีอีโออยู่ในขณะนี้
- เชื่อว่าหนึ่งในคำถามที่ทุกคนอยากรู้ที่สุดตอนนี้คือ แดเนียล จางคือใคร?
Brand Inside รวบรวมเส้นทางชีวิตการทำงานของเขามาให้ได้อ่าน ไล่เรียงตั้งแต่ก่อนร่วมงานกับ Alibaba จนมาถึงว่าที่ประธานกรรมการบริษัท Alibaba คนต่อไป เขาคือผู้สืบทอดตัวจริงของแจ๊ค หม่า
เปิดเส้นทางแดเนียล จาง ก่อนจะเข้าสู่ Alibaba
ก่อนหน้าที่จะเข้ามาอยู่ภายใต้อาณาจักรของ Alibaba ประวัติการทำงานของแดเนียล จางย้อนไปได้ถึงปี 2002
ในปี 2002 จางทำงานที่ Arthur Anderson’s China บริษัทที่ปรึกษาด้านการจัดการ ซึ่งต่อมาได้ควบรวมเข้ากับ PricewaterhouseCoopers (PwC) บริษัทตรวจสอบบัญชีและให้ปรึกษาทางธุรกิจรายใหญ่ของโลก
การเริ่มต้นการทำงานของจางกับบริษัทที่ปรึกษาด้านการเงิน-การลงทุน สอดคล้องกับภูมิหลังด้านการศึกษา เพราะจางจบปริญญาตรีสาขาวิชาการเงิน จาก Shanghai University of Finance and Economics โดยเป็นมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงระดับประเทศในสาขาวิชาด้านธุรกิจ การจัดการ และเศรษฐศาสตร์ของเซี่ยงไฮ้
หลังจากนั้นประมาณ 2 ปี จางย้ายไปเป็นผู้อำนวยการสายการเงิน หรือ CFO ของ Shanda Interactive บริษัทเกมในจีน
- ทุกอย่างดูราบรื่น และเส้นทางชีวิตของจางอาจไม่ได้เข้ามาสู่อาณาจักรของ Alibaba หากเขาไม่ได้พบกับโจ ไช่ (Joe Tsai) ผู้ร่วมก่อตั้งและรองประธานกรรมการของ Alibaba ในปี 2007
เมื่อไช่ได้พบกับจางในปีนั้น ไช่ได้ชวนจางไปร่วมงานกับ Alibaba โดยบอกว่า “ทำไมไม่เดินทางไปหางโจวเพื่อพบกับแจ๊ค[หม่า] และจะได้รู้จักกับ Alibaba มากกว่านี้หน่อยล่ะ” ในตอนนั้น จางคิดแค่เพียงว่า “ก็ไม่เลวนะ เพราะแจ๊ค [หม่า] ในตอนนั้นก็กำลังโด่งดังอยู่พอดี”
เมื่อจางได้พบกับหม่าในปี 2007 จางบอกว่า ระหว่างเขากับหม่าไม่ได้คุยกันเยอะสักเท่าไหร่ “เราแทบจะไม่ได้คุยเรื่องธุรกิจกันเลย เราคุยกันแค่หนึ่งชั่วโมงในออฟฟิศเล็กๆ” และสุดท้ายก็ตกลงกันได้ จางใช้เวลา 2 สัปดาห์เพื่อตัดสินใจมาทำงานกับ Alibaba
เปิดเส้นทางแดเนียล จาง กว่าจะมาเป็นซีอีโอของ Alibaba
งานแรกของจางในอาณาจักร Alibaba เริ่มต้นในปี 2007
จางเริ่มด้วยการดำรงตำแหน่ง CFO ของ Taobao Marketplace เว็บไซต์ขายของออนไลน์ของ Alibaba ที่ในขณะนั้นยังไม่ทำกำไร และมีผู้ใช้งานบนแพลตฟอร์ม 10 ล้านคนต่อวัน
จางทำงานเกินหน้าที่ ทั้งในส่วนงานด้านการดำเนินการและการเงิน ด้วยวิสัยทัศน์ของเขา ทำให้ Taobao ขยายไปสู่การทำธุรกิจแบบ B2C และกลายมาเป็น Taobao Mall ที่เรารู้จักกันดีในทุกวันนี้ โดยในปัจจุบันบนแพลตฟอร์ม Taobao มีผู้ใช้งานต่อวันนับแค่บนมือถือสูงถึง 189 ล้านคน
- จางถูกขนานนามให้เป็น “ผู้เปลี่ยนโฉมหน้าการช้อปปิ้งของคนจีน” เพราะความสำเร็จของเขาที่ยิ่งใหญ่คือ การเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันให้เกิดการช้อปปิ้งในวันคนโสดของจีน
ในปี 2009 คือปีแรกที่จางและทีมงานเปิดตัววันลดราคาให้คนจีนช้อปปิ้งในวันคนโสดเป็นครั้งแรก ผลปรากฏว่า ประสบความสำเร็จอย่างมาก เพราะเปิดตัววันแรกทำยอดขายได้ถึง 52 ล้านหยวน (คิดเป็นเงินไทย 249 ล้านบาท) ถือเป็นการเติบโตที่ก้าวกระโดดของ Tmall เป็นอย่างมาก เพราะปกติทำเงินได้แค่วันละ 10 ล้านหยวนเท่านั้น
ในปี 2010 วันลดราคาช้อปปิ้งในวันคนโสดจีนเติบโตแบบบ้าคลั่ง ทำยอดขายพุ่งจากปีก่อนหน้าถึง 1,700% ในวันเดียวปิดยอดขายไปได้ถึง 936 ล้านหยวน (คิดเป็นเงินไทย 4,489 ล้านบาท)
ในปี 2011 ยิ่งหนักเข้าไปใหญ่ เพราะวันลดราคาช้อปปิ้งในวันคนโสดจีนทำยอดขายไปปิดที่ 3.4 พันล้านหยวน (คิดเป็นเงินไทย 16,306 ล้านบาท)
ในปี 2012 Alibaba จึงตั้งเป้าไว้ว่าจะปิดยอดขายในวันคนโสดจีนที่ 1 หมื่นล้านหยวน ผลปรากฏว่า ไม่ต้องรอให้จบวัน เพราะสามารถปิดยอด 1 หมื่นล้านหยวนที่ตั้งไว้เมื่อเวลา 13.30 ของวัน และเมื่อจบวันยอดขายก็พุ่งไปปิดที่ 1.9 หมื่นล้านหยวน (คิดเป็นเงินไทย 9.1 หมื่นล้านบาท)
จากนั้นในปี 2016 ยอดขายของ Alibaba ในวันคนโสดจีนก็เติบโตเกินหลักแสนล้านหยวน ไปปิดอยู่ที่ 1.21 แสนล้านหยวน (คิดเป็นเงินไทย 5.8 แสนล้านบาท)
ล่าสุดในปี 2017 ที่ผ่านมา Alibaba ก็ทุบสถิติใหม่ในวันคนโสดจีนด้วยการทำยอดขายเพียงครึ่งวันที่ 1.21 แสนล้านหยวน ล้มสถิติเก่าในปี 2016 และปิดยอดขายทั้งวันที่ 1.68 แสนล้านหยวน (คิดเป็นเงินไทย 8.3 แสนล้านบาท)
อันที่จริงแล้ว เบื้องหลังความคิดเรื่องการช้อปปิ้งในวันคนโสดนี้มาความคิดของจางที่พูดคุยกับทีมว่า “เราน่าจะทำแคมเปญคล้ายๆ กับ Black Friday [ของสหรัฐอเมริกาที่เป็นวันลดราคาสินค้าให้คนออกมาช้อปปิ้ง โดยจะเกิดขึ้นหลังวันขอบคุณพระเจ้า] แต่เราต้องการวันที่เหมาะสม เพราะฉะนั้นเราต้องหาวันที่เป็นเทศกาลของจีน และจนสุดท้ายมาลงตัวที่วันคนโสดจีน [วันที่ 11 เดือน 11] “
ผลงานอันโดดเด่นของจางในการผลักดันอีคอมเมิร์ซและยอดขายของ Alibaba ทำให้จางขึ้นเป็นซีอีโอของ Alibaba ในปี 2015 พร้อมทั้งได้อยู่ในบอร์ดผู้อำนวยการของ Alibaba Group โดยนั่งเป็นประธานของ Cainiao Network ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ก่อตั้ง Alibaba Partnership และยังเป็นสมาชิกในกลุ่มคณะกรรมการของ Ant Financial
ในจดหมายของแจ๊ค หม่าฉบับล่าสุด เขาเขียนไว้ว่า ตลอดระยะเวลาการทำงานของจางใน Alibaba จางได้ทำให้รายได้และธุรกิจของ Alibaba เติบโตขึ้นอย่างยั่งยืนต่อเนื่องมาถึง 13 ไตรมาส นอกจากนั้นจางยังได้รับการยกย่องจากสื่อจีนให้เป็นซีอีโอดีเด่นประจำปี 2018 หม่าบอกว่า จางเป็นคนที่มีความรับผิดชอบ มีไฟในการทำงาน มีหัวในการคิดสร้างสรรค์ และพัฒนารูปแบบทางธุรกิจอยู่เสมอ
- หม่ายังบอกด้วยว่า เขาเชื่อมั่นเป็นอย่างมากกับการนำ Alibaba ของจางหลังจากนี้
และแน่นอน เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า จางคือผู้สืบทอดตัวจริงของแจ๊ค หม่าแห่ง Alibaba โดยเขาจะได้ขึ้นเป็น “ประธานกรรมการบริษัท” ของ Alibaba ในวันที่ 10 กันยายน 2019
วิสัยทัศน์ของแดเนียล จาง ผู้สืบทอดตัวจริงของแจ๊ค หม่า
ย้อนกลับไปในอดีต ก่อนที่จางจะเข้ามาทำงานกับ Alibaba (ตอนนั้นยังทำงานกับบริษัทเกม) เขาบอกไว้ว่า “เหตุผลที่ผมคิดว่าอีคอมเมิร์ซมีอนาคตที่สดใส เพราะมันยังอยู่ในจุดเริ่มต้น ต่างกันกับธุรกิจเกม ผมคิดว่าอีคอมเมิร์ซมีความสำคัญกับชีวิตของผู้คนในชีวิตประจำอย่างแท้จริง”
ส่วนในอนาคตข้างหน้า บทสัมภาษณ์ของจางเริ่มแสดงวิสัยทัศน์อันแรงกล้าว่า Alibaba จะเติบโตต่อไปในอนาคตได้ดีด้วยกลยุทธ์ “New Retail” นั่นคือการผสมผสานระหว่างออนไลน์ (อีคอมเมิร์ซ) กับออฟไลน์ (หน้าร้าน) อย่างลงตัว หลายคนน่าจะได้เห็น Hema ซุปเปอร์มาร์เก็ตของ Alibaba ที่มีโซนอาหารสดให้เชฟทำให้กินในร้าน
จางมองว่า ธุรกิจห้างสรรพสินค้าหรือซุปเปอร์มาเก็ตที่มีหน้าร้านยังมีคุณค่าสูง เพียงแต่ต้องได้รับการยกระดับรูปแบบทางธุรกิจ รวมถึงการบริหารจัดการต้องเป็นดิจิทัล
นี่คือวิสัยทัศน์เบื้องต้นที่เราจะได้เห็น Alibaba มุ่งไป ในยุคหลังแจ๊ค หม่าอย่างแน่นอน
ข้อมูล – Alizila [1], Alizila [2], South China Morning Post
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา