dtac ให้คำมั่นที่จะดูแลลูกค้าอย่างต่อเนื่อง หลังจากหมดสัญญาในระบบสัมปทานกับ CAT ในวันที่ 15 ก.ย. นี้ แนะนำให้ลูกค้าเปลี่ยนซิมจาก dtac เป็น DTN พร้อมข้อเสนอใช้ดาต้า และรีวอร์ด
เปิดมาตรการบรรเทาผลกระทบหลังหมดสัมปทาน
เมื่อ กสทช. ยังไม่มีมติใดๆ เกี่ยวกับมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวในกรณีสิ้นสุดสัมปทาน ตามแผนที่ dtac และ CAT เสนอไป ทำให้ในที่สุดเช้าวันที่ 6 ก.ย. 2561 dtac ได้ยื่นฟ้องเพิกถอนมติ กสทช. และขอคุ้มครองชั่วคราวต่อศาลปกครองกลาง และขอให้ไต่สวนฉุกเฉิน เพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้ใช้บริการมือถือ และที่ผ่านมาดีแทคยังยืนยันในการทำตามประกาศ กสทช. เรื่องมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวกรณีสิ้นสุดการอนุญาตสัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (“ประกาศมาตรการเยียวยาฯ”) มาโดยตลอด
เหลืออีกเพียง 9 วันก่อนสิ้นสุดสัมปทาน dtac จึงจำเป็นต้องใช้สิทธิตามประกาศมาตรการเยียวยาฯ ยื่นคำฟ้องต่อศาลปกครอง เพื่อขอให้ศาลเพิกถอนมติ กสทช. ดังกล่าว เพื่อสิทธิประโยชน์ของลูกค้า dtac ในการใช้งานคลื่นความถี่ 850 MHz
ทาง dtac มีลูกค้าในระบบสัมปทานกับ CAT ที่ใช้คลื่นความถี่ 850MHz จำนวน 90,000 ราย นอกจากนี้ยังมีลูกค้า ดีแทคไตรเน็ต หรือ DTN อีกเป็นจำนวนมากกว่าล้านรายที่ใช้บริการข้ามโครงข่ายภายในประเทศบนคลื่นความถี่ 850 MHz ทั่วประเทศ
โดยที่ dtac ได้วางมาตรการช่วยเหลือลูกค้าหลักๆ 7 ข้อด้วยกัน ได้แก่
- วิเคราะห์ลูกค้า และการใช้งานของแต่ละคนว่าใครได้รับผลกระทบบ้าง
- ติดต่อลูกค้าที่ได้รับผลกระทบโดยตรง
- มอบข้อเสนอการใช้งานในด้านดาต้า และโทรให้แก่ลูกค้า
- เปิดแคมเปญ และสายด่วนสำหรับลูกค้า หสามารถติดต่อได้โดยตรง
- เพิ่มสื่อที่ศูนย์บริการในการสร้างการรับรู้กับลูกค้า
- เพิ่มวันใช้งานแก่ซิมดีแทคแบบเติมเงิน
- บริการ dtac reward อย่างต่อเนื่องให้ลูกค้าได้ใช้สิทธิ์มากขึ้น
อีกทั้งยังมีการเพิ่มพนักงานคอลเซ็นเตอร์อีก 50% ในการโทรหาลูกค้าที่อาจได้รับผลกระทบ เป็นการโทรพูดคุยโดยตรง บอกถึงสถานการณ์ และวิธีการเยียวยา และมีการฝึกอบรมพนักงานเพื่อรองรับลูกค้าที่ศูนย์ให้บริการเพิ่มขึ้นอีก 20-30% ในการดูแลลูกค้า
ลูกค้ากลุ่มใดที่ได้รับผลกระทบบ้าง?
dtac ได้แบ่งประเภทของลูกค้าที่จะได้รับผลกระทบ โดยจัดตั้งทีมทำงานขึ้นมาดูแลลูกค้าเป็นพิเศษในช่องทางศูนย์บริการ และคอลเซ็นเตอร์ ซึ่งลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจะได้รับข้อเสนอ ฟรีดาต้า และโทรฟรี โดยขึ้นอยู่กับการได้รับผลกระทบในการใช้งานของแต่ละคน
กรณีที่ 1 ลูกค้าที่ใช้ซิมจดทะเบียนกับ dtac ที่อยู่ใต้สัญญาสัมปทานในนามบริษัท dtac กลุ่มนี้มีความเสี่ยงที่จะใช้งานไม่ได้ มาตรการคุ้มครองคือ ต้องให้ลูกค้ามาเปลี่ยนซิม DTN ได้ฟรี พร้อมข้อเสนอมือถือราคาพิเศษ
กรณีที่ 2 ลูกค้าที่ใช้มือถือฟีเจอร์โฟน ที่รองรับคลื่น 1800MHz ที่จดทะเบียนซิม DTN กลุ่มนี้สามารถใช้งานได้ต่อเนื่องตามปกติ มีมาตรการคุ้มครองคือ ลูกค้าจะได้รับข้อเสนอมือถือราคาพิเศษที่รองรับการใช้งานคลื่น dtac เทอร์โบ
กรณีที่ 3 ลูกค้าที่อยู่บางพื้นที่จะไม่ได้รับความสะดวกในการใช้งาน โดยสามารถเช็คสถานะได้ที่ *777 โทรออก (เริ่มได้ตั้งแต่ 13 ก.ย. 2561) ส่วนมาตรการคุ้มครองนั้น ลูกค้าจะได้รับข้อเสนอดาต้า และโทรฟรี ให้ลูกค้าได้รับประโยชน์จากการใช้งานทั้งลูกค้าพรีเพด และโพสท์เพด
เร่งขยายโครงข่ายสัญญาณ รองรับการใช้งาน
นอกจากมาตรการเยียวยาหลังหมดสัมปทานแล้ว เพื่อเตรียมพร้อมกับการให้บริการต่อในอนาคต dtac ได้เร่งขยายเสาสัญญาณ คลื่น dtac TURBO 2300 MHz ที่ร่วมมือกับ TOT อย่างต่อเนื่อง ซึ่งคลื่นดังกล่าวมีประสิทธิภาพในการดาวน์โหลดสูงสุดในประเทศไทยด้วยความกว้างแบนด์วิดท์ 60MHz และปัจจุบันสามารถให้บริการครอบคลุม 40% ของประชากรทั้งประเทศแล้ว
พร้อมกับได้เร่งขยายโครงข่าย 2100 MHz เพื่อทดแทนประสิทธิภาพของคลื่น 850MHz และยังเร่งย้ายลูกค้าจำนวน 340,000 ราย ที่ยังใช้ซิม dtac เดิมให้เปลี่ยนมาใช้ซิม DTN ภายใต้ระบบใบอนุญาต
สรุป
dtac ได้สร้างความมั่นใจในการใช้งานของลูกค้าด้วยการออกมาตรการคุ้มครองหลังจากที่คลื่นหมดสัมปทานลง และได้เตรียมพนักงานเพื่อสื่อสารกับลูกค้า และทำความเข้าใจกับลูกค้ามากขึ้น พร้อมกับได้เร่งในการขยายโครงข่าย 2100MHz และ 2300MHz เพื่อรองรับการใช้งานในอนาคต
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา