อนาคตหุ่นยนต์ กับมุมค้าปลีก – บริการ ประเทศไทยพร้อมแล้วหรือไม่

หุ่นยนต์คงไม่ใช่เรื่องใหม่ในประเทศไทย เพราะในภาคอุตสาหกรรมมีการใช้หุ่นยนต์เพื่อช่วยประกอบ หรือสร้างชิ้นส่วนต่างๆ อยู่แล้ว แต่ในภาคค้าปลีก และบริการยังถือเป็นเรื่องใหม่ ผ่านปัจจัยเรื่องการพัฒนามาใช้จริงค่อนข้างยาก

robot-507811_1920

ต้องรอซักพักกว่าจะตกตะกอน

เฉลิมพล ปุณโณทก ประธานกรรมการ บริษัท ซีที เอเชีย โรโบติกส์ จำกัด ผู้พัฒนาหุ่นยนต์ภาคบริการ เล่าให้ฟังว่า การพัฒนาหุ่นยนต์เพื่อให้งานในภาคบริการให้เต็มรูปแบบทำได้ค่อนข้างยาก เพราะต้องอาศัยฐานข้อมูลจำนวนมาก เพื่อทำให้หุ่นยนต์สามารถเรียนรู้เรื่องต่างๆ ได้ด้วยตนเอง แต่ด้วยฐานข้อมูลนั้นรวบรวมได้ค่อนข้างยาก ต้องอาศัยหน่วยงานต่างๆ ในการเปิด ดังนั้นคงต้องรออีกซักระยะกว่าหุ่นยนต์จะเข้ามายกระดับภาคบริการ และค้าปลีก

“หุ่นยนต์ไม่ใช่เรื่องอนาคตแล้ว เพราะการพัฒนามันง่ายขึ้น แต่ก็ใช่ได้แค่ฝั่งอุตสาหกรรมที่มีการป้อนงานผ่านระบบที่แน่นอน แต่ในฝั่งบริการ ฐานข้อมูลที่เข้ามาช่วยหุ่นยนต์ตัดสินใจไม่ได้หากันง่ายๆ ซึ่งบริษัทก็พยายามพัฒนาจากแค่หุ่นยนต์ ให้เป็นปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI (Artificial Intelligence) อยู่ เนื่องจากหุ่นยนต์ที่บริษัทประดิษฐ์ขึ้นมามีประสาทสัมผัสเกือบครบ แต่ไม่สามารถวิเคราะห์ข้อมูลได้เต็มรูปแบบ ได้แค่ตัดสินใจเบื้องต้นเท่านั้น”

dinsow-robot

ดินสอ กับเฟิร์มแวร์ใหม่ที่ไม่ใช่แค่ตอบรับ

สำหรับหุ่นยนต์ที่บริษัทพัฒนาขึ้นใช้ชื่อว่า ดินสอ ถึงปัจจุบันเป็นรุ่นที่ 3 โดยรุ่นแรกถูกพัฒนาขึ้นเพื่อดูแลผู้ป่วย หรือผู้สูงอายุ เช่นเตือนเวลาทานยา และส่งสัญญาณไปยังเลขหมายที่กำหนดเมื่อผู้ที่ถูกดูแลหกล้ม หรือเกิดอันตราย ซึ่งรุ่นนี้ถูกนำไปใช้ในโรงพยาบาลญี่ปุ่นแล้ว และรุ่นถัดมาถูกพัฒนาให้เสิร์ฟอาหาร รวมถึงรับคำสั่งได้ โดยรุ่นนี้ถูกใช้ในร้าน เอ็มเค มานานกว่า 5 ปี

ล่าสุดเป็นรุ่นที่ 3 ที่ถูกกลุ่มสหพัฒน์นำไปใช้งาน ผ่านการพัฒนาระบบให้รับชำระค่าสินค้าได้ ตอบรับได้หลายภาษา และเชื่อมต่อกับฐานข้อมูลลูกค้า His & Her กว่า 2 ล้านคน เพื่อส่งโปรโมชั่นเมื่อลูกค้าเข้ามาภายในร้าน และเป็นผู้ช่วยพนักงานขายเต็มรูปแบบ ซึ่ง ดินสอ จะเริ่มให้บริการในร้านขายเสื้อผ้า Arrow จำนวน 2 สาขาในเบื้องต้น ก่อนจะเพิ่มเป็น 20 ตัวในสิ้นปีนี้ และ 100 ตัว ภายในปี 2560 ครอบคลุมสินค้าแฟชั่น Arrow, เครื่องสำอาง BSC และชุดชั้นใน Wacoal กว่า 200 สาขา

img_4959
บุญเกียรติ โชควัฒนา ประธานกรรมการ บมจ.ไอ.ซี.ซี. อินเตอร์เนชั่นแนล (ซ้าย) เฉลิมพล ปุณโณทก ประธานกรรมการ บริษัท ซีที เอเชีย โรโบติกส์ จำกัด (ขวา)

ถึงใหญ่ ก็ต้องปรับตามดิจิทัล

บุญเกียรติ โชควัฒนา ประธานกรรมการ บมจ.ไอ.ซี.ซี. อินเตอร์เนชั่นแนล ผู้ผลิต และจัดจำหน่ายสินค้าแฟชั่นในเครือสหพัฒน์ ย้ำว่า ถึงตัวธุรกิจจะมีขนาดใหญ่ และสามารถจำหน่ายสินค้าได้อย่างต่อเนื่อง สังเกตจากรายได้ปีนี้ยังเติบโต 1 – 2% จากปีก่อนราว 13,000 ล้านบาท แต่การปรับตัวเข้าสู่ดิจิทัลเป็นเรื่องจำเป็น เพราะต้องการตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคนี้ จนถึงอนาคตได้ดีขึ้น จึงทุ่มเงินกว่า 100 ล้านบาท เพื่อดึงหุ่นยนต์ ดินสอ เข้ามาเป็นผู้ช่วยพนักงานขาย

“ต้องยืนยันตรงนี้ก่อนว่า การนำหุ่นยนต์เข้ามาเป็นการยกระดับธุรกิจให้ก้าวทันยุคดิจิทัล ไม่ได้เข้ามาทดแทนพนักงานขายที่มีกว่า 6,000 คนแน่นอน เพราะพวกเขาคือฟันเฟืองหลักของเรา ที่สำคัญการนำหุ่นยนต์ ดินสอ มาใช้ จะแบ่งเป็นสองส่วน คือหุ่นยนต์ตัวใหญ่ที่เคลื่อนที่ได้ จะถูกใช้เพื่อแนะนำสินค้า และตอบโต้เรื่องต่างๆ กับลูกค้า ส่วนหุ่นยนต์ตัวเล็ก จะนำไปใช้กับการขายเครื่องสำอาง”

dinsow
หุ่นยนต์ดินสอขนาดเล็ก

สรุป

การนำหุ่นยนต์มาเป็นผู้ช่วยในการขาย ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัลได้ดี แต่จากนี้หากหุ่นยนต์มีระบบนึกคิดของตัวเอง ฉลาดพอที่จะขายของเองโดยไม่ต้องมีพนักงานคุมได้ แล้วพนักงานเหล่านั้นจะทำอย่างไร ซึ่งปัจจุบัน Google ก็พัฒนา AI จนแข่งกีฬาชนะคนมาแล้ว ดังนั้นมนุษย์อย่างเราควรพัฒนาตัวเองให้เร็วที่สุด ก่อนจะถูกหุ่นยนต์กลืนกินงานของเราไป

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา