ครึ่งปีที่ผ่านมาวงการดิจิทัลขึ้นลงอย่างไรบ้าง โดยมีการตั้งเป้าเม็ดเงินโฆษณาจะโต 21% หรือมีมูลค่าแตะ 15,000 ล้านบาท โดย Facebook ยังเป็นแพลตฟอร์มที่มีมูลค่าสูงสุดที่ 4,479 ล้านบาท
12 เรื่องที่นักการตลาดควรรู้ การใช้สื่อดิจิทัล
ภายในงานสัมมนาการตลาด และการสื่อสารดิจิทัล หรือ DAAT DAY 2018 ได้ฉายภาพรวมของทิศทางสื่อดิจิทัลในปี 2018 ว่าจะมีการเติบโตอย่างไร และให้นักการตลาดได้วางแผนสื่อได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ในสภาวะที่ตลาดมีความท้าทายรอบด้าน
- เม็ดเงินโฆษณาสื่อดิจิทัลในช่วงครึ่งปีแรกมีมูลค่า 6,684 ล้านบาท และมีการคาดการณ์ครึ่งปีหลังจะมีมูลค่า 8,289 ล้านบาท หรือในสิ้นปีนี้จะมีมูลค่ารวม 14,973 ล้านบาท มีการเติบโต 21% จากปีก่อน ตลาดยังมีการเติบโตอีกมาก เพราะในต่างประเทศสื่อดิจิทัลคิดเป็นสัดส่วน 10% ของมูลค่าสื่อโฆษณาทั้งหมด แต่ในประเทศไทยยังถือว่าน้อยมาก
2. 5 สื่อที่ได้รับความนิยมมากที่สุดยังคงเป็น Facebook คิดเป็นสัดส่วน 30% มูลค่า 4,479 ล้านบาท รองลงมาคือ YouTube สัดส่วน 18% มูลค่า 2,690 ล้านบาท Display สัดส่วน 10% มูลค่า 1,517 ล้านบาท Search สัดส่วน 10% มูลค่า 1,424 ล้านบาท และ Creative สัดส่วน 9% มูลค่า 1,340 ล้านบาท
3. อุตสาหกรรมดาวรุ่งที่ใช้เงินกับสื่อดิจิทัลมากที่สุด ได้แก่ รถยนต์ มูลค่า 1,722 ล้านบาท Communication หรือเทเลคอม มูลค่า 1,657 ล้านบาท Skincare มูลค่า 1,256 ล้านบาท ธนาคาร มูลค่า 1,052 ล้านบาท และผลิตภัณฑ์นม มูลค่า 819 ล้านบาท
4. อุตสาหกรรมที่มีการใช้เงินเติบโตสูงที่สุด ได้แก่ “มอเตอร์ไซค์/จักรยาน” เติบโต 179% มาจากสินค้าที่เป็นมอเตอร์ไซค์ระดับแมส มีการใช้สื่อออนไลน์ในการสร้างการรับรู้มากขึ้น รวมถึงเทรนด์ของมอเตอร์ไซต์บิ๊กไบค์ทำให้ตลาดดิจิทัลโตขึ้น มีหลายรายเข้ามาบุกตลาดในไทย ไม่ค่อยได้ใช้สื่อทีวีจะใช้สื่อออนไลน์ในการสื่อสารมากกว่า อีกหนึ่งอุตสาหกรรมคือ “อสังหาริมทรัพย์” เติบโต 124% ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคอนโดแนวสูงเป็นกลุ่มใหญ่ที่มีการใช้เงิน มีการเอาดาต้ามาใช้ ทำให้เข้าถึงคนที่สนใจได้อย่างมีประสิทธิภาพ
5. กลุ่ม Office Business Equipment ก็มีการเติบโต 118% ทำให้เห็นว่าสื่อดิจิทัลสามารถเข้าถึงสินค้าได้ทุกกลุ่ม ไม่จำเป็นจะต้องเป็นอุตสาหกรรมที่มีการแข่งขันสูงๆ เสมอไป
6. เหตุผลที่ในปีที่แล้วกลุ่มธนาคารมีการใช้สื่อดิจิทัลมาก เพราะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง แต่ละแห่งพยายามทำตลาดอย่างหนัก ใช้พรีเซ็นเตอร์จึงมีการใช้งบเยอะ สำหรับกลุ่มสกินแคร์มีการเติบโตทุกปีอยู่แล้ว มีการแตกเซ็กเมนต์มากขึ้น แยกสินค้าสำหรับหญิงชายมากขึ้น ลักชัวรี่แบรนด์ก็ลงมาเล่นตลาดออนไลน์กันเยอะ ทำให้ตลาดกลุ่มสกินแคร์มีการใช้งบดิจิทัลสูง
7. มองว่า Facebook ยังเติบโตขึ้นไปอีกเพราะมีการตลาดที่แข็งแรงขึ้น มีการเปิดออฟฟิศอย่างเป็นทางการในไทย มีหลายบริการออกมาตอบรับนักการตลาด พยายามทำตัวเป็นช่องทีวีเพื่อเข้าถึงยูเซอร์ให้มากที่สุด ให้ความสำคัญกับครีเอทีฟมากขึ้น ลดออแกนิกรีชเพื่อให้ลงโฆษณากันเยอะขึ้น ส่วน YouTube กลายเป็นแมสมีเดียไปแล้วเรียบร้อย และคอนเทนต์ยอดนิยม 6 ใน 10 เป็นคอนเทนต์ลูกทุ่ง นักการตลาดต้องหันกลับมามองว่าจะสื่อสารอย่างไรให้เข้าถึงคนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
8. ฐานมูลค่าของ Facebook และ YouTube รวมกันเกือบ 50% ของตลาดรวมทั้งหมด สิ่งที่เห็นที่ผ่านมาก็คือการซัพพอร์ตต่างๆ เวลามีปัญหาไม่สามารถแก้ไขได้ทันที ต้องเดินเรื่องกลับไปทางบริษัทแม่ก่อน บางครั้งก็ทำให้แบรนด์เสียหายในการลงโฆษณา ถ้ามีบริการที่ตอบโจทย์โลคอลมากกว่านี้จะช่วยทำให้ตลาดโตได้มากขึ้น ความท้าทายอีกอย่างหนึ่งก็คือ แบรนด์กำลังมาหาบลูโอเชียนหรือแพลตฟอร์มที่คนไม่ใช้มาก และหาวิธีการสื่อสารใหม่ๆ ที่เป็นกลุ่มเฉพาะ เพราะทั้งสองแพลตฟอร์มยังมีปัญหาเรื่องการกำหนดทาร์เก็ต
9. Twitter มีการเติบโตสูง 275% เพราะแต่เดิมเป็นฐานที่เล็ก ยังมีโอกาสโตอีกมาก ตอนนี้มีพาร์ทเนอร์ในไทยแล้วทำทารเก็ตได้ดี เทรนด์ที่ใช้เยอะคือ “ทวิตเตอร์เทรนด์” คนจะใช้เวลาเปิดแคมเปญสร้างกระแส หรือต้องการให้คนติดปาก เป็นสิ่งที่น่าสนใจให้นักการตลาดเลือก
10. LINE เติบโต 83% มีผู้ใช้ 42 ล้านยูเซอร์ ข้อดีของ LINE คือ เข้าถึงคนได้หลากหลายตั้งแต่ระดับเด็กประถมฯ ยันคนแก่ คนกรุงเทพฯ คนต่างจังหวัดก็ใช้ เพราะใช้โทรศัพท์แทนการโทรปกติได้ ในส่วนของเครื่องมือการตลาดตอนนี้ไม่ได้มีแค่สติ๊กเกอร์ แต่มีการพัฒนา Official Account ที่เชื่อมกับ API ของแบรนด์ สามารถส่งข้อมูลกับลูกค้าแบบ Personalize ได้
11. Instagram เติบโต 77% คนรุ่นใหม่ใช้มากขึ้น มีความ Unique สูง คนส่วนใหญ่ใช้ดูรูป แต่ผู้ใช้มีพฤติกรรมที่มีการตัดสินใจซื้อรวดเร็ว ส่วนใหญ่แบรนด์ในกลุ่มแฟชั่น บิวตี้ อีคอมเมิร์ซ รถยนต์จะมีเอ็นเกจเมนต์สูง แต่เวลาทำสื่อโฆษณาในอินสตาแกรมต้องทำรูปสวยๆ ไม่ใช่แค่ลงโปรโมชั่นเหมือนในเฟซบุ๊ก ยิ่งตอนนี้มีฟีเจอร์ Stories เป็นอีกช่องทางในการสื่อสารได้
12. Display มีการเติบโตจากโปรแกรมแมติก มีการจับกลุ่มเป้าหมายได้ตรงจุดมากขึ้น ส่วน Instant Messaging มีการตกลงถึง 55% รายเล็กๆ ไม่สามารถสู้รายใหญ่ในตลาดได้ ส่วน WeChat กับ WhatApps ยังสามารถจับกลุ่มต่างประเทศได้อยู่
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา