เมื่อ HR หรือ Human Resource ได้ทรานส์ฟอร์มเข้าสู่ยุค 4.0 ภาพ HR ที่เคยเป็นแม่บ้านประจำองค์กรจะหายไป ถูกแทนที่ด้วยการเป็น Business Partner กับผู้บริหาร เพราะ “คน” เป็นสินทรัพย์ที่มีค่าขององค์กร
HR ไม่ใช่แม่บ้านอีกต่อไป
ประเด็นเรื่องการบริหารคนในองค์กรกลายเป็นประเด็นใหญ่ที่หลายบริษัทหยิบยกมาเป็นวาระสำคัญ เพราะคนกลายเป็นฟันเฟืองในการขับเคลื่อนองค์กร ยิ่งยุคนี้เป็นยุคที่แต่ละองค์กรมีความแตกต่างระหว่าง Gen มาพร้อมด้วยความคาดหวังที่ต่างกัน แล้ว HR ยุคใหม่จะรับมืออย่างไร?
Brand Inside ขอพาไปพูดคุยกับ “พนิดา แซ่ลิ้ม” Head of Human Resource, Shopee อีคอมเมิร์ซที่มาแรงแห่งหนึ่งในไทย แต่เราไม่ได้คุยกันเรื่องตลาดอีคอมเมิร์ซ จะพูดคุยในเรื่องการบริหารคนในองค์กรอย่างไรให้แฮปปี้กันทุกฝ่าย
พนิดาอยู่ในวงการ HR มากว่า 20 ปีมีประสบการณ์ในการเป็น HR ในบริษัทใหญ่ที่อยู่ในอุตสาหกรรมไอทีทั้งสิ้น อย่าง M Web (ก่อนเป็น Sanook.com), Reuters, Accenture, Ascend, Central Group และ Shopee ในปัจจุบัน
ทำให้พนิดาได้เห็นวิวัฒนาการของวงการ HR ตั้งแต่ยุคก่อน มาจนถึงยุคใหม่มีการเปลี่ยนแปลงไปค่อนข้างมาก การเป็น Recruiter หรือสรรหาบุคลากรนั้นต้องเหมือนเป็น PR ของบริษัทมาจนถึง HR ต้องเป็น Marketing ลากยาวไปจนถึง Business Partner กับองค์กร
“แต่ก่อนคนมอง HR เป็นแม่บ้าน อยู่หลังบ้านอย่างเดียว มาถึงอีกยุคหนึ่งจะมาเป็นยุคจับผิดเป็นครูฝ่ายปกครองของบริษัท แต่ยุคนี้ HR เป็นเหมือนพาร์ทเนอร์ ถ้าไม่มี HR บริษัทก็โตไม่สุด ถ้าคนไม่เก่งก็โตไม่สุด เพราะคนเป็นสินทรัพย์อย่างหนึ่งขององค์กร อย่างเวลาซื้อกิจการนายทุนก็มองเรื่องคนด้วย”
เป็นทุกอย่างให้เธอแล้ว! จาก PR ต้องเป็น Marketing มากขึ้น
พนิดาบอกว่า มีมุมมองต่อ HR ยุคใหม่ เป็นเสมือนงาน PR และ Marketing ของบริษัท สิ่งที่ทำในการพูดคุยกับผู้มาสมัครงาน คือภาพลักษณ์ของบริษัททั้งหมด HR จะถูกปลูกฝังว่าเป็น PR ต้องระวังการตอบคำถามอย่างที่สุด
ขณะที่การสื่อสาร ดูแลพนักงานในองค์กรก็สำคัญมากขึ้นเช่นเดียวกัน
“การเป็นมาร์เก็ตติ้งของ HR ต้องทำทั้ง External Awareness และ Internal Awareness ถ้าพนักงานไม่มีความสุขก็จะบอกคนอื่นไม่ได้ว่าที่นี่ดีอย่างไร ทำงานมีความสุขหรือเปล่า”
การทำ Marketing ภายในองค์กร ก็เหมือนการสื่อสารกับพนักงานอย่างหนึ่ง เช่น ทำแคมเปญ Career Path พนักงานส่วนใหญ่ยังไม่รู้ว่าการดูแลอาชีพเป็นหน้าที่ของตัวเอง ไม่ใช่หน้าที่ของบริษัทที่มากำหนดให้ มีการทำเวิร์กช้อป จัดอีเวนท์ ทำ Career Week มีกิจกรรม เกมส์ หรือเอาคนที่เติบโตในองค์กรมาเล่าให้ฟังเพื่อให้เห็นภาพว่าทำไมคนๆ นี้ถึงโต มีการดูแล Career ตัวเองยังไง ไม่ได้โตเพราะหัวหน้าดึงให้ขึ้นแต่โตด้วยตัวเอง
HR ต้องรู้กลยุทธ์องค์กร เพื่อบริหารคนให้ถูกจุด
HR ยุคใหม่เป็น Marketing แล้ว ต้องเป็น Business partner ต้องรู้ว่าบริษัทจะโตไปทางไหน ต้องเข้าใจว่าธุรกิจจะไปยังไง ต้องรู้กลยุทธ์ทั้งหมด ต้องเข้าประชุมด้วยตลอด มีความคิดเห็นอย่างไรบ้าง การเป็น HR ต้องรู้กลยุทธ์ด้วย เพื่อวางแผนกับคนที่มีอยู่ และคนที่เข้ามาเพิ่มให้สอดคล้องกับกลยุทธ์นั้นๆ
“หน้าที่สำคัญต้องวิ่งออกไปหาลูกค้าก็คือ พนักงาน ต้องรู้ว่าในแต่ละแผนกมีสถานการณ์อะไรบ้าง มีอะไรที่สามารถแก้ได้ และแก้ไม่ได้ อะไรที่แก้ได้ต้องรีบแก้ แล้วต้องกลับมาวางแผน
ยกตัวอย่างที่ Shopee ที่มีปัญหามากที่สุดคือ แผนกงานการตลาด ไม่มี Head ที่เป็นโลคอลในไทย มี Head ที่เป็น Regional มาดูแล เขายังมองว่าคนโลคอลมองภาพใหญ่ไม่ออก มีเรื่องการสื่อสาร เรื่องการไม่เข้าใจกัน และด้วยความที่ทีมการตลาดเป็นเด็กรุ่นใหม่ก็จะมีไอเดียเยอะ จะรู้สึกว่าทำไมไม่ฟังเขา ก็ต้องมาทำโฟกัสกรุ๊ปให้ต่างคนต่างเข้าใจก่อน”
เข้าใจธรรมชาติของงาน… และของคน
ความยากของ HR ที่นอกจากต้องดีลกับคนที่มีความแตกต่างกันร้อยพ่อพันแม่แล้ว ต้องเข้าใจธรรมชาติของงานแต่ละอย่างที่แต่ละคนเจอด้วย ต้องเข้าใจงานแต่ละแผนกว่าเป็นอย่างไร ต้องเจออะไร ดีลกับอะไร เป็นการเชื่อมโยงกับการเป็น Business Partner เมื่อเข้าใจธุรกิจว่าฝั่งผู้บริหารต้องการอะไร ก็สามารถคุยกับพนักงานได้
พนิดาได้ยกกรณีศึกษาหนึ่งว่า “โฆษณาณเดชน์-ญาญ่า” มีการคิดต่างๆ นานาว่าจะทำแบบไหน เด็กๆ โลคอลในไทยก็คิดเหมือนกัน แต่ทาง CEO ที่สิงคโปร์ก็ฟันธงมาเลยว่าเอาตามที่อินโดนีเซียทำ มีการคิดถึงว่ามันต้องติดหูแน่ๆ ด้วยภาษาไทยคำนี้แปลว่าอะไร แต่เด็กมาร์เก็ตติ้งมองว่าทำไมต้องลอกอินโดฯ ตลอดเวลา เราก็ต้องคุยในมุมทีเล่นทีจริงว่าต้องมีไอเดียที่เลิศกว่าเขา มีเหตุผลอะไรที่จะมาเสี่ยงกับไอเดียของเรา เพราะที่อินโดฯ ทำแล้วได้ผล พอโฆษณาออกมาแล้วปัง ประเทศอื่นก็ทำกันต่อ”
สุดท้ายพนิดาได้ทิ้งท้ายถึง “ความท้าทาย” ของการเป็น HR ยุคนี้ มองว่าท้าทายตั้งแต่ระดับผู้บริหาร เพราะผู้บริหารยุคนี้ยังเด็ก มีอายุเฉลี่ยน้อยลง ประสบความสำเร็จเร็วขึ้น แต่เขาเก่งในฟังก์ชันนอล เก่งที่พัฒนาตัวเองได้มาถึงขนาดนี้
แต่เรื่องของคนที่เขายังไม่ถนัด พื้นฐานแต่ละคนในองค์กรไม่เหมือนกัน คนมีหลายชนชั้น ความคาดหวังต่างกัน บางคนไม่ได้ถนัดเหมือนกัน บางทีเขายังไม่เห็นอีกมุมหนึ่งของโลก บางคนต้องไกด์ต้องชี้แนะก่อน ต้องมีความเข้าใจรอบด้าน
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา