เพราะสงครามการค้า “กัมพูชา” คือฐานการผลิตเสื้อผ้าแห่งใหม่แทนจีน

เมื่อบริษัทเสื้อผ้าและเครื่องประดับแฟชั่นชื่อดังเตรียมย้ายฐานการผลิตจากประเทศจีนมายังประเทศกัมพูชา เนื่องจากปัญหาของสงครามการค้า แต่อย่างไรก็ดีการย้ายฐานการผลิตมากัมพูชาอาจต้องแลกกับอะไรบางอย่าง ไม่ว่าจะเป็นแรงงานที่คุณภาพยังไม่ได้คุณภาพ ถึงแม้ว่าจะมีข้อดีอยู่มากเช่น แรงงานมีราคาถูก และสิทธิทางภาษีก็ตาม

ภาพจาก Shutterstock

หลังจากการประกาศขึ้นภาษีสินค้านำเข้าของสหรัฐ ทำให้สินค้าที่ผลิตจากประเทศจีนไม่ว่าจะเป็น กระเป๋า เสื้อผ้า หรือแม้แต่รองเท้า จากยี่ห้อดังๆ ได้รับผลกระทบจากภาษีนำเข้าที่เพิ่มขึ้น ซึ่งทำให้อาจต้องย้ายฐานการผลิตจากจีนไปยังประเทศในอาเซียน โดยเฉพาะประเทศกัมพูชา

ในช่วงที่ผ่านมาอาเซียนเป็นเป้าหมายหนึ่งของบริษัทต่างชาติที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ หรือแม้แต่บริษัทผลิตของเล่น

Steve Lamar ประธานบริหารของ American Apparel & Footwear Association กล่าวถึงการย้ายฐานการผลิตกำลังเกิดขึ้นในอุตสาหกรรมนี้ เนื่องจากปัญหาของสงครามการค้า ซึ่งสร้างผลกระทบให้กับอุตสาหกรรมนี้เป็นอย่างมาก

ขณะที่ผลการสำรวจของ U.S. Fashion Industry Association ได้แสดงว่าบริษัทต่างๆ ในอุตสาหกรรมนี้มากถึง 2 ใน 3 กำลังทยอยลดกำลังการผลิตในประเทศจีนลงภายใน 2 ปีนี้ ซึ่งเป็นความท้าทายใหม่ๆ ของบริษัทเหล่านี้

กัมพูชาคือฐานการผลิตใหม่

Edward Rosenfeld ซึ่งเป็น CEO ของแบรนด์รองเท้าชื่อดังอย่าง Steven Madden กล่าวว่าบริษัทกำลังย้ายฐานการผลิตมาที่ประเทศกัมพูชา โดยยอดการผลิต 15% จะอยู่ที่กัมพูชาภายในปีนี้ และจะเพิ่มขึ้นเป็นอีกเท่าตัวภายในปีหน้า

ส่วนทางด้าน Tapestry ซึ่งเป็นเจ้าของแบรนด์ดังอย่าง Coach และ Kate Spade ก็เตรียมย้ายฐานการผลิตจากจีนมาประเทศกัมพูชา หรือไม่ก็เวียดนาม โดยจะเหลือกำลังการผลิตในประเทศจีนไม่เกิน 5%

ประเทศกัมพูชานั้นได้ให้สิทธิประโยชน์แก่โรงงานที่มาตั้งฐานการผลิตที่นี่ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสิทธิทางด้านภาษี นอกจากนั้นยังมีเรื่องของค่าแรงที่ถูกกว่าในจีนด้วย ในปีที่ผ่านมากัมพูชานั้นมียอดส่งออกรองเท้าเติบโตมากถึง 25%

แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับการย้ายฐานการผลิต

อย่างไรก็ดีผลการสำรวจจาก Hong Kong Development Council พบว่า การย้ายฐานการผลิตออกมาจากจีนอาจเป็นความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากแรงงานกัมพูชาที่มีราคาถูกกว่าจีนนั้นในแง่ประสิทธิภาพการทำงานของแรงงานกัมพูชา 1 คนอาจได้เพียงแค่ 50-60% เมื่อเทียบกับแรงงานจีน 1 คนด้วยซ้ำ

นอกจากนี้ยังมีปัญหาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศกัมพูชาที่ไม่ค่อยถือว่าดีเท่าไหร่นัก ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคในการย้ายฐานการผลิตมาที่นี่

ที่มาBloomberg

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

mm
Content Writer ที่สนใจในเรื่องของตลาดทุนทั้งในและต่างประเทศ กลุ่ม TMT (Technology, Media, Telecom) การควบรวมกิจการ (M&A) นโยบายทางเศรษฐกิจของไทยและต่างประเทศ รวมถึงสิ่งละอันพันละน้อยทางธุรกิจที่น่าสนใจ