สัมภาษณ์ 3 ผู้บริหาร LINE MAN ประเทศไทย กับบริการที่ไทยคิดให้ไทยใช้ แล้วก้าวต่อไปคืออะไร?

  • นับเป็นเวลา 2 ปีแล้วที่ LINE MAN ได้เกิดขึ้นมาภายใต้ทีมงานของ LINE ประเทศไทยคิดค้นขึ้นมาเอง จาก Pain Point ในบริบทของสังคมไทย ไม่ได้เป็นบริการที่มาจากญี่ปุ่น ถือเป็นบริการที่คนไทยคิดเพื่อให้คนไทยใช้

หนึ่งในความสำเร็จของ LINE MAN ดูได้จากการแทนที่ของชื่อ “LINE MAN” กับบริการต่างๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น เมื่อก่อนให้รถเตอร์ไซค์ไปส่งของ เราอาจจะเรียกว่าเป็นการให้ “แมส” (ที่คนไทยพูดย่อติดปากมาจากคำว่า แมสเซ็นเจอร์) ไปส่งของ แต่ในปัจจุบัน เราเริ่มมีคำติดปากกันใหม่ว่า “ให้ LINE MAN ไปส่งของ” หรือ “ให้ LINE MAN ไปซื้ออาหารมาให้”

จนถึงวันนี้ LINE MAN มีบริการในมือถึง 5 รายการ ได้แก่

  1. บริการสั่งซื้ออาหาร (LINE MAN Food Delivery)
  2. เรียกรถแท็กซี่ (LINE MAN TAXI)
  3. ส่งพัสดุ (LINE MAN Parcel)
  4. ส่งของด่วน (LINE MAN Messenger)
  5. สั่งซื้อของสะดวกซื้อ (LINE MAN Convenience)

  • Brand Inside สัมภาษณ์ 3 ผู้บริหาร LINE MAN ประเทศไทย เพื่อต้องการจะรู้ว่าก้าวต่อไปของ LINE MAN คืออะไร?
ซ้าย-นายธารวิทย์ ดิษยวงศ์ ผู้จัดการบริการ LINE MAN Messenger & Parcel (ส่งพัสดุ) กลาง-ณภพ ธนาธัชรัตน์ ผู้จัดการอาวุโส LINE MAN – TAXI ขวา-นพปฎล วชิรโกวิทย์ ผู้จัดการบริการ LINE MAN - Food Delivery (ส่งอาหาร)
ซ้าย-นายธารวิทย์ ดิษยวงศ์ ผู้จัดการบริการ LINE MAN Messenger & Parcel (ส่งพัสดุ) กลาง-ณภพ ธนาธัชรัตน์ ผู้จัดการอาวุโส LINE MAN – TAXI ขวา-นพปฎล วชิรโกวิทย์ ผู้จัดการบริการ LINE MAN – Food Delivery (ส่งอาหาร)

ก้าวต่อไปของ LINE MAN คืออะไร?

  • Food Delivery 

นพปฎล วชิรโกวิทย์ ผู้จัดการบริการ LINE MAN ผู้ดูแล Food Delivery หรือบริการส่งอาหาร รวมถึงดูแลบริการสั่งของสะดวกซื้อ เริ่มต้นด้วยการบอกว่า “จนถึงวันนี้ เราพูดได้แล้วว่า LINE MAN Food Delivery เราเป็นเบอร์ 1 ในตลาด มันเป็นเพราะเราเข้าใจผู้บริโภค เรามีข้อมูลที่ครบถ้วนเพราะร่วมมือกับวงใน เรามีร้านอาหารกว่า 40,000 ร้านค้า สูงกว่าคู่แข่งถึง 10 เท่า”

“ผมมองว่าจุดนี้ช่วย SME ได้ค่อนข้างเยอะ” หนึ่งสิ่งที่นพปฎลเน้นย้ำในระหว่างการให้สัมภาษณ์ คือการที่ LINE MAN ได้ส่งเสริมให้ SME ไทยมีรายได้ที่ดีขึ้น โดยบอกว่า ในยุคนี้เวลาจะเปิดร้านอาหาร ไม่จำเป็นต้องมีเงินทุนมาตั้งหน้าร้าน หรือต้องคิดถึงทำเลที่ตั้งอีกต่อไป เพราะครัวผลิตอาหารจะอยู่ที่ไหนก็ได้ แต่สามารถขายผ่าน LINE MAN ได้หมด บางเจ้าไม่มีหน้าร้าน แต่ขายอาหารถึงหลักหลายล้านชิ้นมาแล้ว

นพปฎล วชิรโกวิทย์ ผู้จัดการบริการ LINE MAN - Food Delivery (ส่งอาหาร)
นพปฎล วชิรโกวิทย์ ผู้จัดการบริการ LINE MAN – Food Delivery (ส่งอาหาร)

เมื่อถามว่าก้าวต่อไปของ LINE MAN ในหมวดบริการส่งอาหารคืออะไร?

นพปฎล บอกว่า หลังจากนี้ LINE MAN จะรู้ใจผู้บริโภคมากขึ้น ด้วยการทำนายอนาคตได้เลยว่าอยากกินอะไร โดยจะใช้เทคโนโลยีอย่าง AI และ Machine Learning เข้ามาช่วย

“เราจะพัฒนาระบบผ่าน AI ให้ช่วยผู้บริโภคคิดได้ว่าอยากกินอะไร โดยดูจากประวัติการสั่งซื้อและการประมวลผลข้อมูล นอกจากนั้นพอรู้แล้วว่าชอบอะไรก็สามารถต่อยอดไปสู่การเสนอโปรโมชั่นพิเศษแบบรายบุคคลได้อีกด้วย” 

ต่อจากนี้ไป LINE MAN อาจจะรู้ดีกว่าเราก็ได้ว่ามื้อต่อไปจะกินอะไรดี พร้อมทั้งส่งโปรโมชั่นมาแจ้งเตือนแบบรายบุคคลด้วย

นพปฎล ย้ำว่า หลังจากนี้ LINE MAN Food Delivery จะเป็นบริการที่กว้างขึ้นและลึกขึ้น เพราะเข้าใจพฤติกรรมของผู้บริโภคจากข้อมูลและการพัฒนาเทคโนโลยีให้ Localize กับบริการ “เพราะสุดท้ายแล้ว เราต้องการให้บริการหมุนรอบตัวผู้บริโภค ประสบการณ์ของผู้บริโภคต้องดีขึ้นจากการใช้งานเรา และเราต้องไม่หยุดแค่นี้ เพราะเราอยากคงเป้าหมายแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ”

  • LINE MAN TAXI

ณภพ ธนาธัชรัตน์ ผู้จัดการอาวุโส LINE MAN ผู้ดูแล LINE MAN TAXI โดยตรง เริ่มต้นด้วยการบอกว่าบริการแท็กซี่ของ LINE เกิดขึ้นในจังหวะที่ดี (ช่วงมีนาคม 2018) เพราะหลังจากนั้นไม่นาน มีข่าวการควบรวมกิจการของผู้แข่งขันในตลาด แต่นั่นถือเป็นโอกาส เพราะทำให้ LINE MAN TAXI พร้อมที่จะเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกของคนไทย

“การเข้ามาทำบริการรถแท็กซี่ ทำให้เราเห็นรากปัญหาของคนขับแท็กซี่ ทั้งรายได้ ชีวิตความเป็นอยู่ นำไปสู่การเลือกรับหรือไม่รับงาน การที่เขามาอยู่บนแพลตฟอร์มของเรา ทำให้เราจึงต้องคิดรูปแบบธุรกิจที่ยั่งยืนมากขึ้น … ไม่มีคนขับรถคนไหนหรอกที่อยากจะออกมาก่อเรื่อง เพียงแต่ว่าไม่เคยมีใครที่อยากจะแก้ปัญหาให้ถึงรากเท่านั้น เราต้องการแก้ตรงนี้”

ณภพ เชื่อว่า LINE MAN TAXI ที่มาในรูปแบบของแพลตฟอร์มจะช่วยแก้ไขปัญหาในภาพใหญ่หรือเชิงโครงสร้างได้

ณภพ ธนาธัชรัตน์ ผู้จัดการอาวุโส LINE MAN – TAXI
ณภพ ธนาธัชรัตน์ ผู้จัดการอาวุโส LINE MAN – TAXI

ก้าวต่อไปของ LINE MAN TAXI จึงจะเป็นการส่งบริการที่สร้าง Impact กับสังคมให้มากกว่านี้ โดยเฉพาะในเรื่องของการขนส่งมวลชน ทำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ณภพ บอกว่า ถึงที่สุดแล้วต้องรวมไปถึงปัญหาการจราจรของสังคม ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องทำงานร่วมกับภาครัฐและภาคเอกชนอีกมาก

ณภพ บอกว่า ตอนนี้ LINE MAN TAXI จะไม่โฟกัสแต่เพียงการเชื่อมต่อผู้คนจากจุด A ไปจุด B เท่านั้น แต่ต้องโฟกัสว่าจะเชื่อมต่อคนจากจุด A ไป B อย่างมีประสิทธิภาพได้อย่างไร ยกตัวอย่างเช่น มีความเป็นไปได้สูงที่ Rabbit LINE PAY จะร่วมมือสร้างบริการใหม่ๆ กับ BTS และทำงานร่วมกับ LINE MAN TAXI ก็เป็นไปได้

  • LINE Messenger & Parcel

ธารวิทย์ ดิษยวงศ์ ผู้จัดการบริการ LINE MAN Messenger & Parcel (ส่งพัสดุ) บอกว่า 2 บริการนี้ ทั้งส่งเอกสารและส่งของ เป็นบริการที่สร้างขึ้นมาจากความต้องการแก้ปัญหาให้กับคนไทยโดยเฉพาะ

ความโดดเด่นของบริการส่งของในปัจจุบันสามารถส่งของได้ถึง 4 ทุ่ม ส่งได้ทุกวันไม่เว้นวันหยุด ส่วนบริการส่งเอกสารคือ “ความเร็ว” เพราะความเร็วคือสิ่งที่คนอยากได้มากที่สุด ในปัจจุบัน LINE MAN ส่งเอกสารใช้เวลาในการรับงานประมาณ 13.9 วินาที และใช้เวลาส่งงานจนสำเร็จอยู่ที่ 50 นาที

นายธารวิทย์ ดิษยวงศ์ ผู้จัดการบริการ LINE MAN Messenger & Parcel (ส่งพัสดุ)
นายธารวิทย์ ดิษยวงศ์ ผู้จัดการบริการ LINE MAN Messenger & Parcel (ส่งพัสดุ)

ก้าวต่อไปของ LINE ส่งเอกสาร-ส่งพัสดุไม่ใช่อะไรอื่น นอกจากทำให้บริการรวดเร็วมากกว่านี้และขยายพื้นที่ออกไปให้กว้างขวางครอบคลุมมากกว่าที่เป็นอยู่

สรุป

ก้าวต่อไปของ LINE MAN คือการสร้างบริการที่ให้ผู้บริโภคจำเป็นต้องใช้ ชนิดที่ว่าต่อให้ไม่มีโปรโมชั่น ผู้บริโภคก็จำเป็นต้องใช้งาน เพราะตอบโจทย์ชีวิตในหลากหลายมิติ

ลองดูได้จากฝั่งของ Food Delivery ที่จะทำนายมื้ออาหารของผู้บริโภค หรือบริการ TAXI ที่จะเข้ามาร่วมแก้ปัญหาใหญ่ของคนเมืองอย่างการจราจรที่สาหัส รวมไปถึงการส่งเอกสารและพัสดุที่จะตอบโจทย์ความเร็วของผู้บริโภคในยุคนี้

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา