ไม่ว่าแบงก์ชาติขึ้นดอกเบี้ยตอนไหน ธนาคารปรับตัวขึ้นดอกเบี้ยบ้าน-รถยนต์ล่วงหน้าแล้ว

ปัจจัยที่ 5 ในชีวิตตอนนี้คงหนีไม่พ้นคำว่าเงิน ซึ่งส่วนใหญ่เราก็ทำธุรกรรมผ่านธนาคาร ไม่ว่าจะออมเงิน กู้ซื้อบ้าน ซื้อรถ ฯลฯ ดังนั้นดอกเบี้ยเลยกลายเป็นเรื่องที่เราสนใจกันมาก แต่ใครเป็นคนกำหนดดอกเบี้ยให้ผู้บริโภคอย่างเรากัน

ภาพจาก Shutterstock

ใครเป็นคนกำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย

หลายคนคงสงสัยว่า “ใคร” เป็นคนกำหนดอัตราดอกเบี้ยที่พวกเราได้รับเวลาฝากเงิน หรือกู้เงิน คำตอบคือ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นคนกำหนด แต่จะเป็นทิศทางกว้างๆ เท่านั้น

โดยจะมีคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จำนวน 7 คน มานั่งประชุมกัน (1 ปีแบ่งประชุม 8 ครั้ง) ว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของประเทศควรจะอยู่ที่เท่าไร ควรจะขยับขึ้น หรือขยับลง

ซึ่งการประชุมครั้งล่าสุดเมื่อ 8 ส.ค. 2561 ผลการประชุมกนง. แม้จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.5% แต่กรรมการเริ่มคิดต่างกันแล้ว เพราะมี 6 เสียงมองว่าคงดอกเบี้ยต่อไป และ 1 เสียงมองว่าต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% (จะทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มขึ้นเป็น 1.75%)

กสิกรไทยมอง ธปท.ไม่ต้องรีบขึ้นดอกเบี้ยปีนี้ ไปขึ้นปีหน้าก็ยังทัน

ดร.เชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย บอกว่า ภาวะเศรษฐกิจไทยภาพรวมดูดีขึ้น แต่ยังโตแบบกระจุกตัว เป็นสาเหตุให้กนง.ยังไม่มีความจำเป็นต้องรีบขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้ ขณะเดียวกัน กนง. น่าจะยังดูท่าทีของเศรษฐกิจไทย และเศรษฐกิจโลกอีกสักระยะ เพราะมีนักวิเคราะห์ทั่วโลกมองว่าปีหน้าเศรษฐกิจโลกจะโตแบบชะลอตัวลง และอาจส่งผลกระทบต่อเนื่องมาที่การส่งออกของไทย

“ตอนนี้ปัจจัยเสี่ยงยังมีหลายเรื่องทั้งเรื่องสงครามการค้า (Trade War)  และถ้าเศรษฐกิจโลกดโตชะลอตัว ก็จะกระทบภาคการท่องเที่ยว และการส่งออกของไทยด้วย ดังนั้นกนง. น่าจะรอดูความชัดเจนเรื่องนี้สักระยะ และไปขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งแรกในปลายไตรมาส 1 ปี 2019”

ปีหน้า (2019) เราคาดการณ์ว่า ธปท.จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 2 ครั้ง ครั้งแรกในช่วงปลายไตรมาส 1 2019 และดูเงื่อนไขต่างๆ ก่อนจะขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้งในปี 2019 แต่ก่อนจะขึ้นดอกเบี้ยทุกครั้ง กนง. ต้องส่งสัญญาณให้ภาคเอกชนเตรียมปรับตัวอยู่แล้ว (ผู้ประกอบการเริ่มล็อกต้นทุนผ่านการกู้ยาวขึ้น รายย่อยก็มองหาสินเชื่อที่ดอกเบี้ยคงที่มากขึ้น) ซึ่งอัตราดอกเบี้ยนโยบายไม่สามารถอยู่ในระดับต่ำได้ตลอดไป

ภาพจาก shutterstock

ธปท.ไม่ขึ้นดอกเบี้ย แต่แบงก์รีบปรับตัว ชิงขึ้นดอกเบี้ยกู้ บ้าน-รถยนต์

จากกระแสที่ทั่วโลกเป็นเทรนด์ดอกเบี้ยขาขึ้น (สหรัฐฯ อังกฤษ ฯลฯ) ทำให้ภาคธนาคารพาณิชย์หันมาควบคุมต้นทุนดอกเบี้ย โดยเฉพาะการปรับตัวในสินเชื่อระยะยาว เช่น สินเชื่อบ้าน (ระยะเวลา 10 ปี ขึ้นไป) สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ (ระยะเวลา 3-5 ปี) ที่ธนาคารส่วนใหญ่ทยอยปรับอัตราดอกเบี้ยขากู้ขึ้นไปแล้ว

ซึ่งการปรับตัวครั้งนี้ก็เพื่อควบคุมต้นทุนที่จะสูงขึ้นในอนาคต เพราะถ้าไม่ปรับโครงสร้างดอกเบี้ยจะส่งผลให้กำไรลดลง

TMB Analytics มองต่าง คาด กนง. ขึ้นดอกเบี้ยนโยบายปลายปีนี้

TMB Analytics มองว่า เราคาดการณ์กนง. จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงไตรมาส 4 ของปีนี้ มาอยู่ที่ระดับ 1.75% (มองไปถึงสิ้นปี 2019 จะอยู่ที่ 2.25%) เนื่องจากเศรษฐกิจไทยจะกลับมาขยายตัวดี รวมถึงอัตราเงินเฟ้อกลับมาเข้ากรอบเป้าหมาย เพราะอุปสงค์ในประเทศเริ่มสูงขึ้น รวมถึงการขึ้นดอกเบี้ยเพื่อรักษา policy space

เพราะหากไทยไม่มีการสะสม policy space หรือขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในตอนนี้ เมื่อเกิดวิกฤติขึ้นในอนาคต ธปท. อาจต้องลดดอกเบี้ยมากกว่า 0.25% หมายความว่าดอกเบี้ยจะลดลงไปอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 1.25% ซึ่งเป็นอัตราที่ต่ำที่สุดตั้งแต่ที่ไทยเคยมีอัตราดอกเบี้ยนโยบายมา อาจยิ่งทำให้เงินทุนไหลออกรุนแรงมากขึ้น

ภาพจาก TMB

“ในอนาคต อย่างปีหน้าเศรษฐกิจโลกอาจชะลอตัวเพราะเรื่อง Trade war ฉุดให้เศรษฐกิจไทยชะลอตามไปด้วย ถึงตอนนั้น กนง.อาจต้องลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และเมื่อมีการลดดอกเบี้ยในขณะที่สภาพคล่องในตลาดเงินโลกลดลง (นโยบายธนาคารกลางทั่วโลกดึงสภาพคล่องออกจากการตลาดการเงิน) จะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน เมื่อคนกลัวความเสี่ยง อาจจะมีเงินทุนไหลออกรุนแรงและฉับพลัน”

ส่วนเรื่องที่นกังวลอีกอย่างคือ Search for Yield เมื่ออัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับเป็นเวลานานก็ทำให้คนหันไปลงทุนในสินทรัพย์ที่เสี่ยงขึ้น และหากนักลงทุนไม่เข้าใจความเสี่ยงเพียงพอ ก็อาจะส่งผลต่อเนื่องในอนาคต

สรุป

แม้ว่าธนาคารพาณิชย์จะเป็นคนกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และเงินออมที่เราได้รับ แต่แบงก์ชาติจะเป็นคนกำหนดนโยบายดอกเบี้ยแบบกว้างๆ อยู่เสมอ ดังนั้นผู้บริโภคอย่างเราก็ควรรู้ที่มาที่ไป และทิศทางของดอกเบี้ย เผื่อว่าจะวางแผนสินเชื่อรวมถึงการลงทุนได้ดีขึ้น

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา