ถึงทัวร์ศูนย์เหรียญจะหาย แต่โอกาสร้านค้าไทยยังโตได้ หลัง “WeChat Pay” แต่งตัวบุกตลาดไทยอีกรอบ

ระบบเพย์เมนต์จากต่างประเทศเข้ามาทำตลาดในไทยอาจไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะช่วงต้นปีมีทั้ง Alipay และ WeChat Pay จากจีนแผ่นดินใหญ่ตามกันมาแบบรัวๆ เพื่อเชื่อมต่อระบบกับร้านอาหาร ร้านขายสินค้า และบริการต่างๆ แล้ว แต่ด้วยเรื่องใบอนุญาต ทำให้ทั้งคู่ต้องกลับไปแต่งตัวมาใหม่ และเป็น Alipay ที่เข้ามาก่อนตามที่รายงานไป คลิกอ่านได้ที่นี่ คราวนี้มาถึงตา WeChat Pay บ้าง

wechat

มาช้ากว่า แต่ฐานลูกค้าแน่นปึ้ก

เซีย หลิงหยุน ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายการรับชำระเงินระหว่างประเทศ เทนเซนต์ กรุ๊ป ผู้ให้บริการ WeChat Pay บอกว่า ปัจจุบันกลุ่มผู้ใช้งานวีแชทอย่างต่อเนื่อง (Active User) มีกว่า 8,060 ล้านไอดี เกือบทั้งหมดเป็นชาวจีน และเมื่อประเทศไทยเป็นเป็นที่หมายอันดับที่ 1 เมื่อนับจำนวนนักท่องเที่ยวจีนปี 2558 ที่ 7.9 ล้านคน สร้างเงินสะพัดภายในไทยกว่า 3.7 แสนล้านบาท และปี 2559 น่าจะมีเข้ามาถึง 10 ล้านคน สร้างเงินสะพัดกว่า 5 แสนล้านบาท การเข้ามาติดต่อกับร้านขายสินค้า และบริการ เพื่อรับชำระด้วย WeChat Pay จึงเป็นโอกาสธุรกิจที่สำคัญ

“WeChat Pay เป็นระบบชำระเงินที่เชื่อมต่อกับวีแชทวอลเล็ต หรืออีวอลเล็ตภายในแอปพลิเคชั่นวีแชท โดยฝั่งผู้ใช้จะเติมเงิน, ผูกบัญชีธนาคาร หรือบัตรเครดิตเข้ากับวอลเล็ต และสามารถชำระสินค้าต่างๆ ได้ทั้งระบบบาร์โค้ด, คิวอาร์โค้ด รวมถึงการชำระออนไลน์ ซึ่งขณะนี้วีแชทเพย์กลับเข้ามาทำตลาดในประเทศไทยอีกครั้ง ผ่านการมีพาร์ทเนอร์ที่ดูแลเรื่องใบอนุญาตในไทย และช่วยติดต่อร้านค้าต่างๆ ให้ติดตั้งระบบรับชำระเงินด้วยวีแชทเพย์ โดยชูจุดเด่นเรื่อง ตอบโจทย์การชำระเงินของนักท่องเที่ยวชาวจีน”

12784

คิกออฟไตรมาส 4 หวังร้านค้าร่วม 5,000 ราย

ปรเมษฐ์ รังรองธานินทร์  ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.แอสเซท ไบร์ท (เอบีซี) ผู้ดูแลการตลาดวีแชทเพย์ในประเทศไทย เสริมว่า ด้วยบริษัทได้รับใบอนุญาตการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Payment) จากธนาคารแห่งประเทศไทย จึงเตรียมเจรจาให้ร้านค้าที่สนใจในกรุงเทพ, เชียงใหม่, พัทยา และภูเก็ต ติดตั้งระบบรับชำระเงินวีแชทเพย์ ตั้งเป้าร้านค้าที่เข้ามาร่วม 3,000 – 5,000 ราย เนื่องจากระบบติดตั้งง่าย เพียงมีสมาร์ทโฟนก็สามารถรับชำระเงินได้ทันที โดยค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นระหว่างร้านค้า กับนักท่องเที่ยวชาวจีน ทางบริษัทจะเป็นผู้บริหารจัดการให้

“ถ้าคร่าวๆ เอบีซีจะมีรายได้จากการเก็บค่าธรรมเนียมจากร้านค้าในประเทศไทยที่รับชำระด้วยวีแชทเพย์ แต่ไม่สามารถบอกได้ว่าเก็บค่าธรรมเนียมในอัตราเท่าไหร่ ซึ่งการเร่งทำตลาดหลังจากนี้ คาดหวังการชำระด้วยวีแชทเพย์ คิดเป็น 10% ของมูลค่าจับจ่ายนักท่องเที่ยวจีนในประเทศไทย ที่สำคัญการเป็นพาร์ทเนอร์กับวีแชทเพย์ครั้งนี้ ยังเป็นการต่อยอดธุรกิจอีคอมเมิร์ซของบริษัท หลังจากปี 2557 เปิดให้บริการ ABC Point ระบบเปลี่ยนแต้มบัตรเครดิตเป็นอีมันนี่เพื่อชำระค่าสาธารณูปโภค และซื้อสินค้าออนไลน์”

img_3628
ปรเมษฐ์ รังรองธานินทร์  ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.แอสเซท ไบร์ท

แชท – จ่ายแอปเดียวคือแต้มต่อ

หม่า เยียน ผู้จัดการประจำประเทศไทย เคเชอร์ ผู้รับผิดชอบเรื่องระบบเชื่อมต่อWeChat Pay บอกว่า ด้วยความสามารถแชท และชำระเงินภายในแอปพลิเคชั่นเดียว ทำให้มีผู้ใช้ที่ใช้ WeChat Pay แล้ว 600 ล้านราย ต่างจากคู่แข่งที่ระบบชำระเงินจะแยกออกมาอีกแอปพลิเคชั่น และนอกจากประเทศไทยที่เตรียมทำตลาด WeChat Pay ยังมีญี่ปุ่น, ไต้หวัน และฮ่องกง ที่เปิดใช้งานแล้วเช่นกัน โดยแต่ละประเทศ WeChat Pay จะแต่งตั้งผู้ดูแลระบบขึ้น ขณะที่ในประเทศไทย มีบริษัท เคเซอร์ (Ksher) เป็นผู้ดูแลระบบ เพราะมีความเชี่ยวชาญด้านตลาดจีน

สรุป

การเข้ามาของ WeChat Pay น่าจะสร้างประโยชน์ให้กับกลุ่มผู้ค้าไทยมากกว่า เพราะเป็นการเปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวจีนชำระเงินได้ง่ายขึ้น ไม่ต้องมาเสียเวลาทอน หรือสื่อสารจำนวนที่ถูกต้อง รวมถึงรัฐบาลก็สามารถติดตามตัวเลขมูลค่าจับจ่ายของนักท่องเที่ยวจีนได้ง่ายขึ้นเช่นกัน แต่การจะให้คนไทยมาใช้ WeChat Pay น่าจะไม่ง่าย นอกจากบริการเพย์เมนต์ที่มีอยู่เพียบในไทย WeChat ซึ่งเป็นแอปแชทก็ไม่ได้รับความนิยมสักเท่าไร ส่วนใครจะเป็นผู้ชนะระหว่าง WeChat Pay หรือ Alipay ก็คงต้องดูกันยาวๆ เพราะทั้งคู่ต่างก็เป็นทุนใหญ่จากจีน

ในทางกลับกัน น่าจับตาดู บมจ.แอสเซท ไบร์ท ว่ามีทิศทางการดำเนินธุรกิจอย่างไร ความแน่นอนในการทำธุรกิจด้านนี้เป็นอย่างไร เพราะถ้าเทียบกับผู้ให้บริการอีเพย์เมนต์รายอื่นๆ ในตลาด แอสเซท ไบร์ท ถือว่าค่อนข้างหน้าใหม่ และไม่ได้เป็นที่รู้จัก หรือมีฐานลูกค้ามาก่อน ดังนั้นในด้านการแข่งขันก็อาจจะเป็นรองอยู่พอสมควร

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา