เดี๋ยวนี้ใครๆ ก็เป็นสาย Healthy กันหมด นอกจากเรื่องอาหารการกิน ออกกำลังกาย ก็ต้องมีอาหารเสริม วิตามิน มาช่วยให้ร่างกายแข็งแรง ซึ่งบางคนก็หันไปพึ่งบริการทางการแพทย์ ทั้งการวิเคราะห์ของผู้เชี่ยวชาญ ว่าจะต้องดูแลสุขภาพอย่างไร ตลาดนี้ถือว่าใหญ่มาก ทำให้ผู้ประกอบการเข้ามาแข่งขันเรื่อง Healthcare กันเยอะ
Healthcare-ร้านขายยา-บริการทางการแพทย์ โตแรง 2 บริษัทเครือ BDMS จับทางขยายเครือข่าย
ณรงค์ฤทธิ์ กาละพุฒ ประธานคณะผู้บริหารกลุ่มธุรกิจสนับสนุนโรงพยาบาล 7.1 ของ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) (BDMS) บอกว่า กลุ่มธุรกิจเราเป็นส่วนที่เติมเต็มความต้องการลูกค้า เพราะปัจจุบันลูกค้าต้องการมากกว่าการรักษาพยาบาลตอนเจ็บป่วย แต่ต้องการรักษาสุขภาพก่อนที่จะป่วยด้วย เรื่องเหล่านี้ถูกเรียกรวมกับเรื่อง Healthcare ซึ่งคนกำลังสนใจกันมาก
ดังนั้นเมื่อคนสนใจ Healthcare การรักษาสุขภาพ และการดูแลร่างกาย ทำให้ บริษัท เนชั่นแนล เฮลท์แคร์ ซิสเท็มส์ จำกัด (N Health) ของเรามองเรื่องการพัฒนาบริการทางการแพทย์และธุรกิจโรงพยาบาลที่มีอยู่ เช่น บริการผลการตรวจสอบจากห้องแล็บ (ห้องปฏิบัติการ)ให้ในการวิเคราะห์ วินิจฉัยโรค บริการวิศวกรรมทางการแพทย์ บริการผ้าและปราศจากเชื้อภายในโรงพยาบาล ฯลฯ ให้ดียิ่งขึ้น โดยปี 2561 ตั้งเป้าหมายรายได้ 4,200 ล้านบาท เติบโต 17% จากปี 2560
“เราเน้นกลยุทธ์ Center excellent คือสร้างบริการทางการแพทย์ที่มีประสิทธิภาพในทุกด้าน ไม่ว่าจะมะเร็ง หัวใจ ฉุกเฉิน เราต้องพัฒนาเรื่องแล็ปให้ดีขึ้น จากที่ตอนนี้มีแล็ปขนาดใหญ่อยู่ 2 ที่คือ กรุงเทพฯ และหาดใหญ่ ต่อไปจะขยายในหลายที่ เช่น เชียงใหม่ หรือ ตะวันออก ฯลฯ”
N Health ถือว่าให้บริการหลากหลายมาก แต่ลูกค้าส่วนใหญ่ 95% ยังเป็นลูกค้าจากโรงพยาบาล ทำให้ไม่มีความหลากหลายมากนัก ซึ่ง N Health นอกจากนี้ยังอยู่ระหว่างศึกษากฎระเบียบในการลงทุนเพื่อขยายสาขาไปยังประเทศต่างๆในภูมิภาค หลังจากปัจจุบันมีสาขาในกัมพูชา และเมียนมาแล้ว
นอกจากนี้เรายังมี บริษัท เซฟดรัก เซ็นเตอร์ จำกัด (SAVE DRUG) ที่เป็นร้านขายยาและเวชภัณฑ์ ที่เพิ่มช่องทางเข้าถึงลูกค้ารายย่อยได้ดี นอกจากที่เราจะขายยาถูกกว่าโรงพยาบาลถึง 20% ขณะเดียวกันยังมีสินค้าเพื่อดูแลสุขภาพโดยมีกลยุทธ์ Prevention (การป้องกัน) เพื่อตอบสนองความต้องการลูกค้าในปัจจุบัน เช่น ลูกค้าเลือกปรึกษาว่ากินวิตามินแบบไหนดี ฯลฯ
“ธุรกิจ Healthcare ในไทยมีมูลค่าประมาณ 300,000 ล้านบาท เติบโตปีละประมาณ 5% ส่วนใหญ่ก็ยังโตดี และอยู่ในเทรนด์เรื่องการป้องกัน (Preventive Healthcare) ซึ่งกลุ่มธุรกิจเราทั้ง 2 บริษัทก็ตอบสนองลูกค้าได้ดี”
ขยายเทรน B2C ปั้นร้านขายยาที่ไม่ได้มีแค่ยา เสริมแพคเกจสุขภาพ
มติชน อ่ำดี Commercial Director บริษัท เซฟดรัก เซ็นเตอร์ จำกัด บอกว่า ธุรกิจร้านขายยาในไทยอยู่ที่ 30,000 ล้านบาท มีภาพการเติบโตต่อเนื่อง
ส่วนของบริษัทเราจะเน้นการสร้างร้านขายยาที่ไม่ได้มีแค่ยา เพราะจะมีสินค้าและบริการที่ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่เป็นที่ปรึกษาด้านสุขภาพ เช่น การนำสินค้านวัตกรรมทางการแพทย์ใหม่ๆ สินค้าอุปโภคบริโภคที่เป็นสินค้าไลฟ์สไตล์ และยาต้องมีครบทุกประเภท หรือสามารถซื้อแพคเกจสุขภาพของร้านค้าบริเวณใกล้เคียงได้
“ในไทยเรามีร้านขายยาอยู่ 2 ประเภท คือ เกิน 50% เป็น InterChain จากต่างประเทศ เช่น วัตสัน ฯลฯ และ Local Chain หรือร้านขายยาในประเทศอย่างเรา ซึ่งเรามีจุดเด่นที่ราคายาจะถูกกว่า และมียาหลากหลายกว่า”
คาดว่าปีนี้จะมีรายได้ที่ 1,100 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.8% จากปี 2560 ส่วนปีนี้มองว่าจะคงสาขาไว้ที่ 150 สาขา ส่วนปีหน้าคาดว่าจะมีสาขา SAVE DRUG อยู่ที่ 200 สาขาทั่วประเทศ ส่วนใหญ่ยังอยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล
Next big thing – Health tech
ณรงค์ฤทธิ์ บอกว่า ตอนนี้มีเทคโนโลยีมากมายที่ช่วยให้คุณภาพชีวิตลูกค้าดีขึ้น ซึ่งเราจะพัฒนาผ่านทีมงานของบริษัท โดยสิ่งที่น่าจะเห็นเร็วๆ นี้คือ
- การปรับใช้ ปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพอุปกรณ์ทางการแพทย์
- การใช้ Probiotic มาช่วยในการดูแลสุขภาพ เช่น ต่อไปอาจจะเห็นการกิน Probiotic ในรูปแบบแคปซูล ซึ่งเป็นไวรัสกลุ่มดี เพื่อทำให้ร่างกายเราดีขึ้น เหมือนการที่เรากินวิตามิน
ซึ่งจากเรื่องที่เปลี่ยนแปลงในโลก ทำให้เรามองเรื่องการลงทุนใน 2-3 ปีจากนี้ จะมีวงเงินอยู่ที่ 800-1,000 ล้านบาท
ทิศทางขยายต่างประเทศมุ่งเป็น Medical Hub
ณรงค์ฤทธิ์ บอกว่า ไทยเราสามารถเป็น ศูนย์กลางการบริการด้านการแพทย์ (Medical Hub) ในระดับโลก โดยเฉพาะในละแวกประเทศเพื่อนบ้านอย่าง กัมพูชา เมียนมา และสปป.ลาว ซึ่งก็เลือกบินมารักษาที่ไทยอยู่แล้ว
“ตอนนี้เรามีโรงพยาบาลเครือข่ายในหลายประเทศ เข่น ในเสียมเรียบมีอยู่ปะมาณ 130 เตียง ในอนาคตจะค่อยๆ เพิ่มจำนวนขึ้น ส่วนในประเทศอื่นๆ เราก็ค่อยๆคัดเลือกและขยายธุรกิจเข้าไป ซึ่งเราต้องเลือกให้ดี เช่น ในเมียนมาเรามีธุรกิจบริการทางการแพทย์ แต่เราไม่เอา SAVE DRUG เข้าไป เพราะตลาดยังไม่ตอบรับเท่าที่ควร แต่ที่กัมพูชาสามารถให้บริการได้ทั้ง 2 ธุรกิจเป็นต้น”
ส่วนแผนงานในปีนี้ ทางบริษัทจะเข้าไปขยายบริการในสิงคโปร์ เช่น การมีการเปิดห้องปฏิบัติการ ฯลฯ ซึ่งจะหันมาเน้นเรื่องการบริการลักษณะ High-end นอกจากนี้ยังขยายงานในประเทศ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม
สรุป
นอกจากธุรกิจโรงพยาบาล ธุรกิจ Healthcare ถือว่าน่าจับตามองมาก เพราะแค่ในไทยก็มีตลาดกว่า 300,000 ล้านบาท ซึ่งถ้ามองโอกาสของธุรกิจในแต่ละส่วน ก็มีทั้งการพัฒนาตัวของร้านขายยาที่จะไม่ขายแค่ยาให้คนป่วย แต่จะเน้นขายผลิตภัณฑ์ที่รักษาสุขภาพไม่ให้ป่วย ส่วนด้านธุรกิจสนับสนุนโรงพยาบาล ทั้งห้องแล็ป วิศวกรรมทางการแพทย์ ก็ได้รับประโยชน์เต็มๆ จากเรื่อง เราคงต้องเรียนรู้ให้ทันเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อดูแลสุขภาพในราคาที่ไม่สูงเกินไป
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา