ใครที่มีบัตรเครดิตหลายใบ รวมถึงบัตรอื่นๆ อีกเยอะในกระเป๋าตังค์ น่าจะชอบแอปพลิเคชั่น Samsung Pay เพราะนี่คือทางออกสำหรับทั้งผู้ใช้ ธนาคารหรือผู้ให้บริการทางการเงิน และร้านค้าต่างๆ ทุกคนได้ประโยชน์กันหมด Brand Inside อาสาพาไปหาคำตอบกันแบบชัดๆ เชิญอ่านโดยพลัน
ระบบกลาง รองรับการจ่ายเงินได้จากทุกคน
วิชัย พรพระตั้ง รองประธานองค์กร ธุรกิจโทรคมนาคมและไอที บริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด เริ่มต้นเล่าถึง Samsung Pay ว่าเป็น Payment Platform หรือ บริการกลางที่รวบรวม บัตรเครดิต, บัตรเดบิต, Mobile payment, ระบบสมาชิก, ระบบชำระเงิน ใดๆ ก็ตาม มาไว้บน Samsung Pay และสามารถใช้จ่ายเงินให้กับร้านค้าต่างๆ โดยที่ซัมซุงไม่คิดค่าธรรมเนียมใดๆ ทั้งสิ้น (การเก็บค่าธรรมเนียม เป็นของสถาบันการเงิน หรือผู้ให้บริการชำระเงินเหมือนเดิม)
จุดเด่นคือ Samsung Pay สามารถชำระเงินได้ทั้งระบบ NFC, Magnetic หรือแถบแม่เหล็ก, บาร์โค้ด และคิวอาร์โค้ด สรุปว่า อะไรที่บัตรเครดิตจ่ายเงินได้ อะไรที่ Mobile payment จ่ายเงินได้ Samsung Pay ทำได้หมด
ตัวอย่างเช่น บันทึกบัตรเครดิตลงไปใน Samsung Pay เริ่มต้นจาก
- ต้องใช้สมาร์ทโฟนของซัมซุง โดยเครื่องที่รองรับในปัจจุบัน คือ A5, A7, A9, S6 Edge Plus, S7, S7 Edge และ Note5 รวมถึง A9 Pro และรุ่นใหม่ในอนาคต ดาวน์โหลดแอป Samsung pay จากเพลย์สโตร์ จากนั้นทำตามขั้นตอนในแอปได้เลย
- การบันทึกบัตรทำโดยการถ่ายรูปบัตรเครดิต ให้เห็นตัวเลขทั้ง 16 หลัก จากนั้นทำการยืนยันตัวตนไปตามขั้นตอน พร้อมกับตั้งพาสเวิร์ดแบ็คอัพ สำหรับการเข้าถึงตัวแอป ในกรณีฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้น
- เมื่อทำขั้นตอนทุกอย่างครบ ก็เป็นอันเสร็จเรียบร้อย Samsung Pay สามารถใช้งานได้ โดยเลือกได้ว่าจะสแกนลายนิ้วมือเพื่อจ่าย หรือจะกดรหัสพิน ตามความสะดวกของแต่ละคน
ความปลอดภัยต้องมาเป็นอันดับ 1
เรื่องเงินๆ ทองๆ สิ่งที่ผู้ใช้ให้ความสำคัญคือเรื่องความปลอดภัย ยิ่งมีข่าวเกี่ยวกับข้อมูลส่วนตัว และการขโมยเงินในช่วงที่ผ่านมา แต่กับ Samsung Pay ไม่ต้องเป็นห่วง เพราะความปลอดภัยของ Samsung Pay อยู่ที่ตัวอุปกรณ์ คือ สมาร์ทโฟนของซัมซุง ซึ่งมีอุปกรณ์ที่เรียกว่า Samsung KNOX ทำหน้าที่เก็บข้อมูลเกี่ยวกับระบบ Samsung Pay
สรุปง่ายๆ ว่า ระบบความปลอดภัยของ Samsung Pay ไม่ได้อยู่บนซอฟต์แวร์ และยังทำงานร่วมกับผู้ให้บริการด้านการเงินระดับโลกทั้ง VISA, Mastercard และ AMEX (สำหรับประเทศไทยเน้นที่ VISA และ Mastercard เป็นหลัก) และยังทำงานร่วมกับธนาคารพาณิชย์ของไทย (และผู้ให้บริการทางการเงินอื่นๆ ในอนาคต) จึงมั่นใจได้ในระบบความปลอดภัย
อย่างไรก็ตาม ถ้ามีผู้ไม่ประสงค์ดีสามารถเจาะระบบ Samsung KNOX ได้ ตัว Samsung KNOX จะทำลายข้อมูลภายในทันที และทำให้สมาร์ทโฟนเครื่องนั้น ไม่สามารถใช้งานระบบ Samsung Pay ได้อีก (แต่ยังใช้งานเป็นสมาร์ทโฟนได้อยู่) ดังนั้น ใครที่ Root เครื่องจึงหมดสิทธิ์ใช้เช่นกัน เพราะเป็นระบบฮาร์ดแวร์ ดังนั้นทางแก้ไขคือ ต้องเปลี่ยนอุปกรณ์ใหม่เท่านั้น
จ่ายได้ทุกระบบ เริ่มต้นด้วย 6 ธนาคารพาณิชย์
ความร่วมมือแรกในประเทศไทย Samsung Pay ร่วมมือกับ 6 ธนาคารพาณิชย์ คือ Kbank, KTC, Krungsri, Citi, SCB และ BBL ให้สามารถบันทึก “บัตรเครดิต” ลงใน Samsung Pay ได้ (และเปิดรับธนาคารอื่นๆ ทุกธนาคาร) ขณะที่กลุ่ม Non-Bank อื่นๆ เช่น ผู้ให้บริการ Mobile Payment , ระบบบัตรสมาชิก ฯลฯ จะทยอยเปิดในเฟสต่อๆ ไป
อย่างที่กล่าวไปว่า Samsung Pay เป็นตัวกลางที่ให้บริการและดูแลเรื่องความปลอดภัย อำนวยความสะดวกในการใช้งาน จะไม่มีการเก็บข้อมูลการใช้งานของผู้ใช้ เพื่อความเป็นส่วนตัวมากที่สุด และสามารถจ่ายเงินทุกอย่างได้ด้วยระบบไวร์เลส ทั้ง NFC และ Magnetic หรือแถบแม่เหล็ก ซึ่งปกติต้องใช้วิธีการรูดบัตร รวมถึงระบบชิพการ์ดที่ใช้การเสียบบัตร
แต่ด้วยเทคโนโลยี Magnetic Secure Transmission ซึ่งซัมซุงมีอยู่ ทำให้การใช้ แถบแม่เหล็ก ไม่ต้องรูดบัตร แต่สามารถส่งสัญญาณถึงกันได้ทันที ดังนั้น บัตรเครดิตที่บันทึกลง Samsung Pay สามารถจ่ายได้ด้วยการแตะสัมผัส และยืนยันการใช้ด้วย ลายนิ้วมือ หรือ รหัสพิน นี่คือ ความสะดวกสบาย
ดังนั้น ปัจจุบันในไทยมีเครื่องรับชำระเงินด้วยบัตรเครดิต (EDC) ประมาณ 400,000 เครื่องในประเทศไทย เป็นระบบ Magnetic 94% และเป็น NFC ประมาณ 6% ทุกเครื่อง Samsung Pay จ่ายได้ด้วยการแตะสัมผัสทั้งหมด และถ้าจะใช้บาร์โค้ด หรือ คิวอาร์โค้ด ก็สบายหายห่วง
จะพกบัตรเครดิตทำไมหลายใบ ใส่ไว้ใน Samsung Pay ดีกว่า
วิชัย บอกว่า การพัฒนา Samsung Pay ขึ้นมาให้บริการ ซัมซุงไม่เก็บค่าธรรมเนียมใดๆ ทั้งสิ้น เป้าหมายคือ ต้องการสร้างความแตกต่าง และต้องการบอกให้ผู้ใช้รู้ว่า ซัมซุง ไม่ได้เป็นแค่มือถืออีกต่อไปแล้ว และสิ่งที่ซัมซุงเป็น ก็คือ แบรนด์ที่ขายอุปกรณ์สมาร์ทโฟนเหมือนเดิม
“คนที่มีบัตรเครดิตหลายๆ ใบ ทำไมต้องพกหลายใบด้วย มาบันทึกลงใน Samsung Pay บันทึกได้สูงสุด 10 ใบ เลือกได้เลยว่าอยากใช้ใบไหน และต่อไปจะบันทึกบัตรอื่นๆ หรือที่ไม่ใช่บัตรได้ด้วย เช่น บัตรรถไฟฟ้า, บัตรสะสมแต้ม นี่คือความสะดวกสบายของผู้ใช้งาน”
ตลอดทั้งปีนี้ซัมซุง ได้ทำการทดสอบระบบ โดยการออกไปใช้งานในร้านค้าต่างๆ ช่วงแรกๆ อาจจะมีร้านค้าที่งง สับสน ไม่เข้าใจ แต่ทุกคนก็เริ่มเรียนรู้ได้รวดเร็ว เพราะกระแสเรื่อง Mobile Payment มาแรงอยู่แล้ว แต่ต่อไปซัมซุงจะต้องทำความเข้าใจกับร้านค้าในวงกว้างขึ้นไปอีก
เริ่มต้นได้ดีในต่างประเทศ ได้ประโยชน์กันทุกคน
Samsung Pay เริ่มให้บริการในเกาหลีใต้มาปีกว่า ได้รับการตอบรับที่ดีมาก มีผู้ใช้งานกว่า 5 ล้านราย มียอดธุรกรรมกว่า 500 ล้านครั้งตั้งแต่เปิดให้บริการมา และเปิดให้บริการในอีกหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา, สเปน, สิงคโปร์, ออสเตรเลีย, จีน และบราซิล ซึ่งประเทศไทย เป็นหนึ่งประเทศเป้าหมายต่อไป
โดยคาดว่าจะเปิดให้บริการได้ภายในปลายปีนี้
วิชัย บอกว่า นี่คือบริการที่ทุกคนได้ประโยชน์ เป็น Win-Win Situation สำหรับทุกคน
- ซัมซุง ได้สร้างนวัตกรรมเพื่อความแตกต่าง สร้างมูลค่าที่มากกว่าให้กับแบรนด์
- ธนาคาร ก็รู้สึกดีเพราะ Samsung Pay ทำให้การใช้งานบัตรเครดิตง่ายขึ้น สะดวกขึ้น และพกได้หลายใบด้วย ไม่ได้แย่งลูกค้า
- ร้านค้า ดีใจเพราะลูกค้าสามารถจ่ายเงินได้ง่าย เพิ่มโอกาสมีลูกค้ามากขึ้น
- ผู้ให้บริการการเงินอื่นๆ Samsung Pay เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้เกิดการจ่ายเงินที่ง่ายขึ้นเช่นกัน
ในการใช้งาน Samsung Pay ผู้ใช้สามารถสบายใจได้เลยว่า ขั้นตอนในการบันทึกบัตรเครดิต (หรือบัตรอื่นๆ ในอนาคต) มีขั้นตอนที่รัดกุมและปลอดภัย แต่การลบ (delete) บัตรออก สามารถทำได้ง่ายโดยการกดลบ และยืนยันตัวตน ก็สามารถทำได้ทัน
ส่วนกรณีที่สมาร์ทโฟนสูญหาย สามารถโทรหา Call Center ของธนาคาร เพื่อให้ระงับเฉพาะบัตรบน Samsung Pay ได้ทันทีโดยบัตรหลักยังใช้งานได้ปกติ หรือจะเข้าไปที่ https://findmymobile.samsung.com/ เพื่อทำการยกเลิกด้วยตัวเองก็ได้ หรือถ้าบัตรหลักหมดอายุ บัตรหลักสูญหายและแจ้งอายัติ บัตรบน Samsung Pay จะไม่สามารถใช้งานได้เช่นกัน (ยึดตัวบัตรจริงเป็นหลัก)
สุดท้าย ผู้ใช้ซัมซุงที่อยากลองใช้ก่อนใคร ไปลงทะเบียนได้ที่ http://www.samsung.com/th/samsungpay โดยจะเริ่มเปิดทดลองใช้ 27 ต.ค.นี้
It’s Not a Phone, It’s a Galaxy: Samsung Pay
สรุป
Samsung Pay เป็นบริการที่น่าสนใจมากที่ซัมซุงพัฒนาออกมา ซึ่งคาดว่าน่าจะได้รับการตอบรับที่ดีจากคนไทย ประมาณผู้ใช้สมาร์ทโฟนซัมซุง รุ่นที่รองรับ (A5, A7, A9, S6 Edge Plus, S7 ทั้งหมด และ Note5) รวมถึงรุ่นอื่นๆ ในอนาคต คาดว่ามีถึงหลักล้านเครื่องในประเทศไทย ปีหน้าทั้งปี ด้วยการทำตลาดของซัมซุง น่าจะเห็นคนใช้งานได้ไม่น้อย
เรื่องความปลอดภัยกลายเป็นเรื่องที่ไม่ต้องกังวล มีมาตรฐานหลายชั้นรับรองอยู่ และการไม่ได้เป็นระบบ Payment Gateway หรือ Mobile Payment เหมือนผู้ให้บริการอื่นๆ ที่กำลังแข่งขันอย่างดุเดือดในตลาด แต่เลือกเป็นตัวกลางในการให้บริการ ยิ่งเพิ่มโอกาสให้ซัมซุง และคู่แข่งที่พอจะเห็นในตลาด คือ Apple Pay ซึ่งรองรับเฉพาะ NFC และน่าจะใช้เวลาอีกนาน ถ้าจะเข้ามาให้บริการในไทย
และต้องยอมรับว่า แค่เห็นก็อยากลองแล้ว อดใจรอกันอีกหน่อย ไม่เกินปีนี้ได้ใช้กัน
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา