ตอนนี้อีวอลเล็ตแข่งกันหนักจริงๆ
เพราะผู้ได้รับใบอนุญาตเงินอิเล็กทรอนิกส์ หรือ E – Money บัญชี ค มีถึง 14 รายที่ไม่ใช่ธนาคาร
ธนาคารแห่งประเทศไทยให้คำนิยามกลุ่มนี้ว่า เป็นเงินอิเล็กทรอนิกส์เพื่อให้บริการซื้อสินค้า หรือบริการจากผู้ให้บริการหลายราย โดยไม่จำกัดสถานที่และไม่อยู่ภายใต้ระบบการจัดจำหน่ายและการให้บริการเดียวกัน
ผู้เล่นในตลาดนี้ที่รู้จักกันดีก็กลุ่มโอเปอเรเตอร์ เช่น เอ็มเปย์, เพย์สบาย และทรูมันนี่
แต่ยังมีกลุ่มสตาร์ทอัพเข้ามาในสงครามนี้อีก อาทิ แอร์เพย์, ทีทูพี ภายใต้แบรนด์ Deep Pocket, เอ็มโอแอล และแรบบิทไลน์เพย์
การแข่งขันในตอนนี้อยู่ที่การดัมพ์ราคาค่าบริการ และการดึงบริการที่หลากหลายเข้ามา
ถ้าว่ากันที่ดัมพ์ราคาค่าบริการ
บางรายก็ไม่คิดค่าบริการโอน – ถอนเงินจากระบบ เพื่อเปลี่ยนอีมันนี่เป็นเงินจริง หรือเปลี่ยนเงินจริงเป็นอีมันนี่ รวมถึงกลุ่มค่าธรรมเนียมในการชำระบริการต่างๆ ก็ไม่เก็บ หรือถ้าเก็บก็เหมือนไม่ได้เก็บ
เช่น แอร์เพย์ ที่จะนำค่าธรรมเนียมที่เกิดขึ้น เติมเข้าไปในอีวอลเล็ตแทน
ส่วนการหาบริการใหม่เข้ามา
ที่เด่นที่สุดก็คงไม่พ้น ทรูมันนี่
เพราะสามารถนำเงินอิเล็กทรอนิกส์ไปชำระค่าสินค้าในร้านสะดวกซื้อเซเว่นอีเลฟเว่นได้ ถือเป็นการเปิดโลกใหม่ให้กับอีวอลเล็ต ที่ปกติจะเห็นแค่ใช้จ่ายบิล หรือเติมเงินเกมออนไลน์
แต่ตอนนี้ไม่ได้มีแค่ผู้เล่นท้องถิ่นที่เข้ามาทำตลาดในไทย
ไม่กี่สัปดาห์ก่อน อาลีเพย์ ประกาศทำตลาดในประเทศไทยชัดเจน แต่เจาะกลุ่มผู้ใช้ที่เป็นนักท่องเที่ยวจีนเป็นหลัก ซึ่งคงไม่กระทบกับผู้เล่นอีวอลเล็ตในประเทศไทย แต่ก็ต้องจับตามองการร่วมมือกับ แอสเซนด์ ทรูมันนี่ หากการเจรจาร่วมหุ้นกันสำเร็จ
หลังจากนี้ก็มี วีแชทเพย์ ซึ่งน่าจะตอบโจทย์นักท่องเที่ยวจีนเช่นกันเข้ามาอีก ซึ่งจะเปิดตัววันที่ 29 ก.ย. นี้
และอีกตัวที่น่าสนใจ ซัมซุงเพย์ ที่จะเปิดตัวในไทยครั้งแรก 29 ก.ย. เช่นกัน คาดว่าจะตอบโจทย์ผู้ใช้งานซัมซุงในประเทศไทยเป็นหลัก เมื่อดูจากบริการในเกาหลีแล้ว ต้องบอกว่าไม่ธรรมดา
ที่แน่ๆ ถึงพวกเขาจะใหม่ แต่มีฐานลูกค้าในมืออยู่แล้วเป็นผู้ใช้มือถือซัมซุงที่มีอยู่เป็นล้านราย เชื่อว่าโมเดลให้บริการไม่ธรรมดาแน่นอน
ดังนั้นการเข้ามาทำตลาดก็คงไม่ใช่เรื่องยาก ยิ่งเมื่อดูการใช้งานกว่า 1 ปีที่ผ่านมาในเกาหลีใต้ หลายคนอาจจะอยากให้ถึงวันเปิดบริการเร็วๆ ซึ่งรายละเอียดจะเป็นอย่างไร อดใจรออีกนิด Brand Inside จะเอามาเล่าให้ฟังแน่นอน
ในทางกลับกัน
ผู้เล่นที่อยากเข้ามาทำตลาดอีวอลเล็ต และไม่มีฐานลูกค้าในมือ เป็นเรื่องที่แทบจะเป็นไปไม่ได้
เนื่องจากเมื่อไม่มีฐานผู้ใช้ การอัดแคมเปญหนักๆ ก็เหมือนการเผาเงิน และสุดท้ายก็จะสู้ความยั่งยืนของรายเดิมไม่ได้
แต่กลุ่มรายเดิมก็จะเจอปัญหาเหมือนกัน ผ่านการที่รัฐบาลเข้า Disrupt
ถามว่า Disrupt อย่างไร ก็ พร้อมเพย์ ไง
เฟสแรกที่จะเริ่มตั้งแต่ 31 ต.ค. ในบริการโอนเงินผ่านหมายเลขโทรศัพท์มือถือ หรือเลขประจำตัวบัตรประชาชนก่อน
ซึ่งผู้ให้บริการอีวอลเล็ตยังมองว่าสิวๆ เพราะบริการตัวเองไม่ได้เน้นโอนเงินอยู่แล้ว
จนรัฐบาล และธนาคารต่างจัดแคมเปญแจกทอง แจกเงินเพื่อกระตุ้นให้ประชาชนสมัครใช้งาน
แต่ที่หนักน่าจะเป็นเฟสสองที่สามารถใช้พร้อมเพย์เพื่อชำระบิลต่างๆ ได้
ตอนนี้ยังไม่รู้ว่ามาเมื่อไหร่ แต่รัฐบอกว่าเร็วๆ นี้แน่
ถามว่าหนักเพราะอะไร
ก็ปัจจุบันรายได้หลักของอีวอลเล็ตคือค่าธรรมเนียมที่เกิดขึ้นจากการชำระบริการต่างๆ แต่เมื่อรัฐเข้ามา และให้ชำระโดยไม่เก็บค่าธรรมเนียม ใครจะไม่ไปสมัครบ้างล่ะ
คราวนี้ก็เป็นการบ้านของผู้เล่นแต่ละรายแล้วว่าจะสู้กับเรื่องนี้อย่างไร
ใครไม่ทำการบ้านก็แพ้อยู่แล้ว ยิ่งใครมีฐานลูกค้าไม่ชัดเจนยิ่งไปกันใหญ่
เกมนี้คงรู้ผลอีกไม่นานว่าจะเหลือใครบ้าง
เพราะขนาดโอเปอเรเตอร์ที่ว่าแข็งๆ
บางรายตอนนี้ยังแทบไม่มีความเคลื่อนไหวในตลาดเลย
อ้างอิงรูปภาพ // เฟสบุ๊กแอร์เพย์, ทรูมันนี่ และธนาคารไทยพาณิชย์
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา