หลังจากดีเดย์ เมื่อ 1 ก.ย. 60 ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เริ่มใช้มาตรการการดูแลสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ ซึ่งออกมาจำกัดให้คนที่มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาท มีวงเงินบัตรเครดิตได้ไม่เกิน 1.5 เท่าของรายได้ และมีสินเชื่อส่วนบุคคล (พีโลน) ได้ไม่เกิน 3 สถาบันการเงิน
ผ่านมาเกือบปีแล้ว ผลงานของธปท. ที่ต้องร่วมมือกับธนาคารพาณิชย์เป็นอย่างไร?
มาตรการดูแลสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล
KBank ชี้หนี้เสียบัตรเครดิตลดลงจาก 3-4% เหลือ 1.59%
วีรวัฒน์ ปัณฑวังกูร รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ธนาคารกสิกรไทย บอกว่า หลังจากที่ ธปท. ออกมาตรการฯ มาดูแลเรื่องบัตรเครดิตและพีโลน ส่วนหนึ่งภาคธนาคารก็ได้รับผลกระทบเรื่องค่าธรรมเนียมดอกเบี้ยผ่อนชำระที่ลดลง (จาก 20% เหลือ 18%) แต่ก็มีส่วนที่ดีขึ้นคือ หนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของธนาคารปรับตัวลดลงอย่างเห็นได้ชัด 6 เดือนแรกอยู่ที่ 1.59% ลดลงจากสิ้นปี 2560 ที่อยู่ประมาณ 1.7-1.8%
“หนี้เสียหรือ NPL ของบัตรเครดิตถือว่าลดลงไปเยอะ ถ้าเทียบกับก่อนหน้านี้ที่ตัวเลขปีก่อนๆ ในตลาดอยู่ที่ 3-4% ส่วนหนึ่งเพราะเกณฑ์ของแบงก์ชาติที่ออกมาเมื่อปีที่แล้ว สามารถคุมการก่อหนี้เสียให้ลดลงได้ ซึ่งเป็นไปตามทฤษฏี NPL ว่าจะลดลงจาก 2 ปัจจัย คือ คนที่สมัครบัตรเครดิตเข้ามาใหม่เป็นหนี้เสียน้อยลง และฐานลูกค้า ยอดการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตเพิ่มสูงขึ้น”
ขณะเดียวกันเรายังมีสัดส่วนลูกค้าจ่ายบิลบัตรเครดิตเต็มจำนวน 55% และอีก 45% เป็นผ่อนชำระ เราก็มองว่าลูกค้าเรามีวินัยในการใช้จ่าย
ตลาดบัตรเครดิตแข่งแรง แบงก์เร่งจับไลฟ์สไตล์ขยายฐานลูกค้ากลุ่มบน
ช่วงนี้เราเห็นว่ากำลังซื้อของลูกค้าทั้งกลุ่มกลาง และกลุ่มล่างเริ่มปรับตัวดีขึ้นบ้าง แต่เราก็ยังเน้นขยายฐานลูกค้ากลุ่มบน ที่มีรายได้มั่นคง อย่างลูกค้าบัตรเครดิต Wisdom มียอดใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตอยู่ที่ 89,000 บาท/บัตร/เดือน ฯลฯ แต่ก็เป็นกลุ่มที่มีการแข่งขันสูง ทำให้ทางธนาคารต้องเพิ่มสิ่งใหม่ๆ มาดึงดูดลูกค้า
ส่วนเรื่องการแข่งขันธุรกิจบัตรเครดิตถือว่าสูงมาก เลยเป็นเรื่องความสามารถของแต่ละค่ายที่จะชิงลูกค้าเข้ามาอยู่ใน Platform ของตัวเอง ยิ่งดึงเข้ามาอยู่ใน Platform การให้บริการของธนาคารได้เร็วยิ่งดี แม้ว่าช่วงแรกลูกค้าอาจจะยังไม่สร้างกำไร แต่เมื่อลูกค้าอยู่กับเรานานๆ เราจะยิ่งเรียนรู้และสร้างบริการที่ตรงกับความต้องการลูกค้าได้
“ธนาคารตอนนี้ต้องเข้าให้ถึงไลฟ์สไตล์ของลูกค้า เพื่อเข้าถึงลูกค้าแต่ละกลุ่ม อย่างที่เราเปิดตัวบัตรเครดิต OneSiam KBank ก็เพื่อเข้าถึงลูกค้ากลุ่มใหม่ แต่เราก็ต้องมีสิทธิประโยชน์ที่แตกต่างให้ลูกค้า เช่น มีที่จอดรถที่สยาม ลูกค้าบัตรได้ชั่วโมงจอดรถฟรี หรือส่วนลดอื่นๆ ฯลฯ ซึ่ง OneSiam ก็คือศูนย์การค้าสยามพารากอน สยามดิสคัฟเวอรี่ สยามเซ็นเตอร์ ที่มีฐานลูกค้าทั้งในไทยแต่นักท่องเที่ยวต่างชาติ”
ซึ่งบัตรเครดิตที่ออกมาใหม่ ภายใน 1 ปีทางธนาคารตั้งเป้าหมายมีลูกค้าสมัครบัตร 100,000 บัตร และหวังว่าจะมียอดการใช้จ่ายสูงกว่า ค่าเฉลี่ยปัจจุบันของธนาคารกสิกรไทยที่มีการใช้จ่ายผ่านอยู่ที่ 21,000 บาท/บัตร/เดือน
ที่มา ธปท.
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา