EIC มองถึงเศรษฐกิจไทยในปีนี้ดูดีขึ้น โดยมองว่า GDP ของไทยปีนี้จะเติบโต 4.3% ปรับขึ้นจากเดิม 4% สะท้อนความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจไทยในช่วงที่ผ่านมา และยังมีข่าวดีในเรื่องรายได้ครัวเรือนที่ดีขึ้น แต่ก็มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากเรื่องสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน
ภาพรวมของเศรษฐกิจโลกในช่วงที่ผ่านมาถือว่ายังดูดี และยังคงแข็งแกร่ง ซึ่งเศรษฐกิจไทยก็ได้รับผลที่ดีไปด้วย แต่ยังมีความเสี่ยงในเรื่องของข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐและจีน รวมไปถึงเรื่องของราคาน้ำมันอีกด้วย
ภาพรวมเศรษฐกิจโลก
เศรษฐกิจโลกขยายตัวต่อเนื่อง แต่ในไตรมาสที่ผ่านมามีสัญญาณที่ชะลอตัวบ้าง แต่พื้นฐานเศรษฐกิจที่ยังดีอยู่นั้นทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ และรวมไปถึงธนาคารกลางยุโรป สามารถเดินหน้าปรับนโยบายการเงินกลับเข้าสู่สภาวะปกติ
ขณะที่ภาวะการค้าโลกยังขยายตัวได้ดี อัตราว่างงานในช่วงที่ผ่านมายังต่ำ การลงทุนของภาคเอกชนยังฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะประเทศพัฒนาแล้ว โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาและในยุโรป ทำให้เกิดเศรษฐเติบโตได้สูงและเงินเฟ้อเริ่มเร่งตัว ทำให้ทั้งสหรัฐและยุโรปกำลังจะเข้าสู่เศรษฐกิจในช่วงปลายวัฏจักรขาขึ้น
ซึ่งเศรษฐกิจที่แข็งแรงขึ้นทำให้ธนาคารกลางของแต่ละประเทศเริ่มที่จะทยอยลดบทบาทของนโยบายผ่อนคลายทางการเงินให้กลับเข้าสู่นโยบายแบบปกติ
เศรษฐกิจไทย
EIC มองว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะเติบโต 4.3% ปรับเพิ่มจาก 4% โดยมองจากในเรื่องของการส่งออกที่จะเติบโตขึ้นกว่าเดิม และภาคการท่องเที่ยวที่ยังเติบโตแข็งแกร่ง
ส่วนข่าวดีในไตรมาสนี้คือการใช้จ่ายในประเทศที่ฟื้นตัว ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าการเติบโตกระจุกอยู่ที่กลุ่มผู้มีรายได้สูง โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานคร ซึ่ง EIC คาดว่าไตรมาสนี้การกระจุกตัวจะค่อยๆ คลี่คลายลง ตามรายได้ครัวเรือนที่ปรับตัวดีขึ้นจากจำนวนการจ้างงานและรายได้เฉลี่ยของลูกจ้างไทยที่เติบโตได้อย่างต่อเนื่อง
และยังรวมไปถึงรายได้ของเกษตรกรที่ครึ่งหลังที่มีโอกาสฟื้นตัวได้ในช่วงครึ่งปีหลัง แต่ก็ยังมีปัจจัยกดดันสำคัญคือเรื่องของหนี้ในครัวเรือนซึ่งยังเป็นแรงกดดันที่ส่งต่อมาจากไตรมาสที่ผ่านมา ถึงแม้ว่าหนี้ในครัวเรือนจะลดลงเล็กน้อยก็ตาม
ความเสี่ยงที่ต้องจับตามอง
ช่วงที่เหลือของปีนี้ EIC มองอยู่ 3 ประเด็นสำคัญๆ ได้แก่
- อัตราเงินเฟ้ออาจเร่งตัวเร็วเกินคาด เนื่องจากภาวะตลาดแรงานตึงตัวทำให้ค่าจ้างขึ้นเร็ว ประกอบกับราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ธนาคารของหลายๆ ประเทศอาจตัดสินใจต้องขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่าที่ตลาดคาด ทำให้เกิดความผันผวนในตลาดการเงิน และรวมไปถึงการเคลื่อนย้ายเงินทุนในระยะถัดไป
- สถานการณ์การเมืองในทวีปยุโรปและปัญหาในตะวันออกกลาง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการจัดตั้งรัฐบาลในอิตาลีชุดใหม่ และรวมไปถึงประเทศสเปน ความคืบหน้าในการเจรจา Brexit แม้ว่าความเสี่ยงในทวีปยุโรปจะลดลง แต่ความเชื่อมั่นของนักลงทุนอาจโดนบั่นทอนในเรื่องของการเมืองในประเทศเหล่านี้ และยังรวมไปถึงปัญหาในตะวันออกกลางที่ทำให้ส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมัน หรือแม้แต่ปัญหาที่อิหร่านโดนคว่ำบาตรอีกด้วย
- มาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐ รวมไปถึงการตอบโต้จากประเทศต่างๆ ที่เป็นคู่ค้าของสหรัฐ ซึ่งยังไม่มีข้อสรุปชัดเจน ถึงแม้ว่าการที่จะเกิดสงครามการค้าจะมีโอกาสที่ต่ำ แต่ภาคอุตสาหกรรมส่งออกมีโอกาสที่จะได้รับผลกระทบ จึงต้องติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด
คาดว่ากนง. คงดอก 1.5%
EIC มองว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะยังคงดอกเบี้ยไปถึงปลายปีนี้ด้วยดอกเบี้ยคงเดิมที่ 1.5% แม้ว่า กนง. จะมีการปรับตัวเลขทางเศรษฐกิจ แต่ในการสื่อสารของ กนง. ที่ออกมานั้นยังมีความกังวลในเรื่องของประเด็นในเรื่องสงครามการค้าที่ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ อีกทั้งประมาณการเงินเฟ้อยังคงอยู่ใกล้กรอบล่างของเป้าหมาย ซึ่งประมาณการเงินเฟ้อยังคงมีแนวโน้มที่อยู่ในระดับต่ำ จึงน่าจะยังไม่เห็นสัญญาณของการฟื้นตัวของอัตราเงินเฟ้ออย่างยั่งยืน
ปัจจัยหลักที่ กนง. จะขึ้นดอกเบี้ยในครั้งถัดไปคือเรื่องของอัตราเงินเฟ้อและรวมไปถึงเรื่องของเสถียรภาพทางการเงิน ซึ่งการขึ้นดอกเบี้ยของไทยน่าจะเริ่มครึ่งแรกของปี 2019 และจะค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไป
ที่มา – SCB EIC
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา