การไม่ป่วยเป็นลาภอันประเสริฐ แต่ถ้าป่วยล่ะ บางคนก็มีบัตรทอง มีประกันสังคมก็เพียงพอแล้ว แค่ต้องรอนานนนหน่อย (บางทีก็ข้ามปี) หรือจะหนีไปโรงพยาบาลเอกชนค่ารักษาพยาบาลก็แพงหูฉี่ ดังนั้นทางเลือกของคนที่วางแผนป้องกัน คือ ซื้อประกันสุขภาพไว้ซะเลย
คนไทยซื้อประกันสุขภาพเพิ่มขึ้น หนึ่งคนมีสัญญาเพิ่มเติมเกือบ 3 อย่าง
วิรงค์ พัฒนกำจร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานบริหารตัวแทน บมจ.อลิอันซ์ อยุธยา ประกันชีวิต (AZAY) บอกว่า ช่วงนี้คนสนใจประกันสุขภาพเพิ่มขึ้น แต่ก่อนคนจะคิดว่าซื้อประกันเพื่อเก็บเงิน ทำให้มีคนซื้อประกันสุขภาพเป็นสัญญาเพิ่มเติมไม่ถึง 2 แบบ ทว่าตอนนี้เพิ่มขึ้นเป็นกรมธรรม์ประกันชีวิตหนึ่งคนมีสัญญาเพิ่มเติมเกือบ 3 อย่างแล้ว
ซึ่งช่องทางที่ขายประกันสุขภาพได้ดีคือช่องทางตัวแทน เนื่องจากสามารถอธิบายให้ลูกค้าเข้าใจได้ง่ายกว่าช่องทางอื่น เห็นได้จากตัวเลขสัดส่วนเบี้ยประกันสุขภาพในช่องทางตัวแทน 5 ปี ที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
ประกันสุขภาพมีกี่แบบกันแน่ ?
ประกันสุขภาพที่จริงแล้วเป็นตัวแสริมในกรมธรรม์ประกันชีวิตตัวหลัก ดังนั้นถ้าเราจะซื้อสัญญาเพิ่มเติมหลักๆ ได้แก่ 1. ค่ารักษาพยาบาล (H&S) ซึ่งเป็นตัวที่กำหนดว่า วงเงินในการเข้ารักษาพยาบาลของเราอยู่ที่เท่าไร โดยจะแบ่งเป็น 2 ส่วนใหญ่คือ ค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยนอก (OPD) ใช้สำหรับการไปหาหมอที่คลีนิก ฯลฯ ส่วน ค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยใน (IPD) คือเราจะเบิกค่ารักษาได้เมื่อเราเปลี่ยนชุด นอนในโรงพยาบาลเกิน 6 ชม.
2. สัญญาเพิ่มเติมค่าชดเชยรายวันการเข้ารักษาในโรงพยาบาล (H&B) โดยค่าชดเชยรายได้ต่อวันขึ้นอยู่กับวงเงินประกันชีวิตที่มีอยู่ นอกจากนี้ 3. สัญญาเพิ่มเติมอุบัติเหตุ ที่จะมีค่ารักษาพยาบาลให้ในกรณีเกิดอุบัติเหตุแล้วสามารถเข้ารักษาตัวได้โดยไม่ต้องสำรองจ่ายเงิน 4.สัญญาเพิ่มเติมโรคร้ายแรง (CI) คือผู้เอาประกัน (ลูกค้า) สามารถเคลมได้เมื่อตรวจพบว่าเป็นโรคร้ายแรงตามเงื่อนไขกรมธรรม์ที่ซื้อ
วิรงค์ บอกว่า ปัจจุบันทั้งบริษัทมีเบี้ยประกันเฉลี่ย 30,000 บาท ต่อ กรมธรรม์ ซึ่งประมาณ 40% เป็นเบี้ยประกันสุขภาพ และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต
แล้วลูกค้าต้องซื้อประกันอย่างไร ?
ลูกค้าควรดูว่า สวัสดิการที่ตัวเองมีอยู่แล้วเป็นอย่างไรบ้าง เช่น บางคนเป็นข้าราชการ หรือมีประกันกลุ่มของบริษัทอยู่แล้ว มีวงเงินรักษาตัวเท่าไร แล้วมาดูว่าตัวลูกค้าต้องการเพิ่มความคุ้มครองอะไรบ้าง เช่น ค่าห้องพักผู้ป่วยต่อวัน ค่าหัตถกรรม ค่าผ่าตัด ฯลฯ
หรือลูกค้าอาจจะดูเบี้ยประกันแบบเหมาจ่ายก็ได้ คือ ความคุ้มครองค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาลจะตั้งเป็นวงเงิน ลูกค้าสามารถเบิกได้ทั้งหมดในวงเงินที่ซื้อประกันไว้ แต่ก็ต้องยอมรับว่าเบี้ยประกันจะแพงกว่าแบบประกันสุขภาพที่วงเงินแยกจ่าย
แต่ที่แน่ๆ ลูกค้าต้องเลือกซื้อประกัน โดยเบี้ยประกันที่สามารถจ่ายได้ เพื่อป้องกันปัญหาการขาดชำระเบี้ยประกันภัยในภายหลัง
ผลงานของ AZAY และแผนงานครึ่งปีหลัง
วิรงค์ เล่าว่า ช่องทางตัวแทนยังป็นช่องทางที่ทำให้บริษัทเติบโต โดย ครึ่งปีหลังนี้ตั้งเป้าหมายจะมีเบี้ยประกันภัยรับปีแรก (เบี้ยจากลูกค้าใหม่) เพิ่มมา 2,000 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นส่วนประกอบให้เบี้ยรับรวม (เบี้ยประกันปีแรกและเบี้ยประกันภัยปีต่อไป) จากทุกช่องทางอยู่ที่ 34,000 ล้านบาท
“เป้าหมายของบริษัทคือ เลือกความคุ้มครองให้ตรงกับตัวลูกค้า และตัวแทนต้องดูแลลูกค้าให้ครบด้านทั้งออมทรัพย์ ประกันความเสี่ยง คุ้มครองดูแลความมั่นคงในชีวิต และประกันสุขภาพ”
โดยล่าสุด เราได้เปิดตัว“ประกันสุขภาพ เฟิร์สคลาส @บีดีเอ็มเอส” ที่เป็นทั้งผลิตภัณฑ์คุ้มครองชีวิตและสุขภาพและมีจุดเด่นที่จะเป็นที่ปรึกษาด้านสุขภาพให้ลูกค้า
สรุป
บมจ. อลิอันซ์ อยุธยาประกันชีวิต (AZAY) มองเทรนประกันสุขภาพโตต่อเนื่อง เพราะคนไทยเริ่มใส่ใจเรื่องค่ารักษาพยาบาลที่สูงขึ้น ส่วนเป้าหมายครึ่งปีหลังคาดว่าเบี้ยรับรวมของบริษัทจะอยู่ที่ 34,000 ล้านบาท
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา