LINE CONFERENCE 2018 หรืองานแถลงข่าวทางธุรกิจครั้งใหญ่ของ LINE ประจำปี 2018 จัดขึ้นที่ MAIHAMA Amphitheater ประเทศญี่ปุ่น
- ในปีนี้มี 2 ทิศทางหลักที่ต้องจับตามอง อย่างแรกคือแนวคิดเรื่อง Redesign ทุกธุรกิจของ LINE ที่มีอยู่ในมือ ส่วนอย่างที่สองคือ ฟินเทค เรื่องใหญ่ที่ LINE เริ่มพูดถึงอย่างเป็นทางการครั้งแรก
Takeshi Idezawa ซีอีโอของ LINE ขึ้นพูดบนเวทีเป็นคนแรก โดยเริ่มต้นจากการพูดเน้นย้ำถึงแนวทางหลักของ LINE ในปัจจุบันเรื่อง “Closing the distance” คือการทำให้ช่องว่างระหว่างผู้บริโภค แบรนด์ธุรกิจ และสินค้าใกล้ชิดกันมากขึ้น ส่วน LINE ก็ขอเป็นตัวกลางของการเชื่อมประสานทุกอย่างเข้าด้วยกัน
ในปีนี้ LINE จึงนำเสนอแนวคิดหลักในทางธุรกิจนั่นคือ “Redesign” ที่จะเป็นการนำบริการเดิมของ LINE ทั้งหมดมา “คิดใหม่” แล้วออกแบบ (design) วิธีการให้ตอบโจทย์ผู้บริโภคและภาคธุรกิจมากขึ้น พูดง่ายๆ ก็คือแนวคิดหลักของ LINE CONFERENCE ปีนี้ไม่เน้นไปที่การส่งของใหม่ออกมาสู่ตลาด แต่เน้นไปที่การนำของเก่ามานำเสนอในรูปแบบใหม่ๆ นั่นเอง
แนวคิดหลักของ LINE ปีนี้คือ Redesign ทุกธุรกิจที่มีอยู่ในมือ
1. ธุรกิจบันเทิง
ธุรกิจบันเทิงของโลกยิ่งใหญ่มากขึ้นทุกวัน เพราะมีให้บริการตั้งแต่ LINE MUSIC ที่เป็นผู้นำตลาดเพลงในญี่ปุ่น ตอนนี้มี active users สูงถึง 10 ล้านคนต่อเดือน มีเพลงในระบบกว่า 46 ล้านเพลง
- การ Redesign ธุรกิจ LINE MUSIC ในปีนี้ คือการส่งฟีเจอร์ใหม่ที่ให้ทุกคนสามารถแชทคุยกับผ่าน LINE และเล่น Music Video ไปพร้อมๆ กันได้
- LINE บอกว่า การสตรีมมิ่งเพลงในรูปแบบนี้ถือเป็นประสบการณ์ใหม่ในวงการเพลง และในท้ายที่สุดแล้ว อุตสาหกรรมเพลงจะเปลี่ยนจากการขายซีดีมาสู่การสตรีมมิ่งเพลง และนี่เองคือการ Redesign ธุรกิจเพลงของ LINE
นอกจากนั้น LINE ยัง Redesign ธุรกิจบันเทิงในส่วนอื่นๆ เช่น
- LINE TICKET คือการขาย e-Ticket ไปชมคอนเสิร์ตของศิลปินโดยตรง จัดการทุกขั้นตอนผ่านระบบออนไลน์ทั้งหมด ไม่ใช้กระดาษ นี่คือการ Redesign ที่เชื่อมต่อธุรกิจบันเทิงเข้าหากันตามแนวคิด Closing the distance
- LINE LIVE ตัวนี้เพิ่มฟีเจอร์ในส่วนตอบคำถามขึ้นมาชื่อ Trivia เพื่อให้การโต้ตอบกันมากขึ้นบนแพลตฟอร์ม
- LINE MANGA ถือเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่เติบโตสูงมาก เพราะมีผู้ใช้งานกว่า 20 ล้านคนในระบบ แผนต่อไปไม่ใช่อะไรอื่น นอกจากการเพิ่ม original content ให้มากกว่าเดิม เพื่อขยายฐานผู้อ่าน โดย LINE ประเทศญี่ปุ่น ระบุว่า ได้เพิ่มแผนกเขียนมังงะขึ้นมาเป็นของตัวเองแล้ว
- ที่ฮือฮาที่สุดของการ Redesign ธุรกิจบันเทิงคือ เกม เพราะ LINE บอกว่า นับจากนี้ไปการเล่นเกม ต้องเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ จากแต่ก่อนการเล่นเกมกับ LINE ต้องเข้าไปดาวน์โหลดเกมเป็นแอพพลิเคชั่นแยก
แต่นับจากนี้ ทุกคนจะสามารถเล่นเกมบน LINE ได้ โดยไม่ต้องไปดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นแยก เพราะ LINE พร้อมส่ง LINE Quick Game อย่างเป็นทางการในช่วงซัมเมอร์นี้
(สำหรับประเทศไทย จากการสอบถามได้คำตอบว่า มีโอกาสสูงมากที่ LINE ประเทศไทยจะนำเอา LINE Quick Game เข้ามาให้บริการ เพราะปัจจุบัน LINE ในประเทศไทยก็มีเกมที่เล่นในตัวแอพพลิเคชั่นอยู่แล้ว)
2. ธุรกิจโฆษณา
การขายโฆษณาเป็นรายได้ก้อนใหญ่ของ LINE ประเทศญี่ปุ่น โดยคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 40% ของรายได้ทั้งบริษัท แต่ต้องบอกว่า LINE เดินทางผ่านจุดของการทำกำไรผ่านโฆษณาแบบเดิมๆ มาแล้ว ทางออกของ LINE จึงต้อง Redesign ธุรกิจโฆษณาเสียใหม่
การ Redesign ธุรกิจโฆษณาของ LINE จะเน้นไปที่ LINE@ มากขึ้น เพราะเหมาะกับธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กมากกว่า และที่สำคัญธุรกิจ SME ในญี่ปุ่นมีขนาดใหญ่ 90% ของตลาด แนวทางของธุรกิจโฆษณาของ LINE ต่อจากนี้จึงเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องขยายตลาดให้กว้างขึ้น
ส่วน LINE Official Account หรือ LINE OA ที่ใช้กับแบรนด์ใหญ่ จะใช้แผน Redesign ด้วยการไม่คิดค่าแรกเข้า และใช้วิธีการคิดโฆษณาแบบ Pay-as-you-go หรือจ่ายเท่าที่คุณต้องการให้ผู้บริโภคเห็นโฆษณาของคุณ
- พูดง่ายๆ ก็คือ LINE ต้องการทำให้แบรนด์ไม่ต้องทำการตลาดแบบสุ่ม แต่สามารถเลือกเจาะเป้าหมายได้ และยังจ่ายเท่าที่ลูกค้าจะมองเห็นโฆษณาหรือแคมเปญนั้นๆ ด้วย
อย่างไรก็ตาม ทิศทางธุรกิจโฆษณาจะเป็นรูปแบบที่ทำเหมือนกันทั่วโลก เพราะฉะนั้น เราน่าจะได้เห็น LINE ประเทศไทยเข้าไปดึงกลุ่ม SME ให้เข้ามาใช้งาน LINE@ มากขึ้น
3. ธุรกิจคอมเมิร์ซ
LINE SHOPPING เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่เติบโตสูงและมีผู้ติดตามถึง 20 ล้านคนทั่วญี่ปุ่น ส่วนแผน Redesign ของ LINE SHOPPING ในรอบนี้ คือการส่งฟีเจอร์ SHOPPING LENS เพื่อให้สามารถสแกนภาพและรู้ได้ว่าสินค้าชนิดนี้คือสินค้าอะไร จะหาซื้อได้ที่ไหน และราคาเท่าไหร่ เป็นความพยายามในการตอบโจทย์พฤติกรรมลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไปมาก ที่สำคัญมีงานวิจัยที่ระบุว่า นักช้อปปิ้งตัวจริงกว่า 60% ชื่นชอบการดูภาพสินค้าที่เป็นแบบ visual และสามารถหาซื้อได้จริงบนออนไลน์
LINE TRAVEL
ถือเป็นการเปิดตัวที่เชื่อมธุรกิจออนไลน์กับออฟไลน์ได้อย่างลงตัว เพราะ LINE วางแผนธุรกิจส่วนคอมเมิร์ซไว้ให้เป็นแบบ O2O หมายความว่า ออนไลน์และออฟไลน์ต้องเชื่อมต่อถึงกันได้เป็น ecosystem
LINE บอกว่า ก่อนที่ผู้คนจะออกไปเที่ยว มักจะทำการค้นหาสิ่งที่สนใจไว้ก่อน หลังจากนั้นเมื่อจะออกไปเที่ยว จะทำการจองห้องพักและสถานที่ท่องเที่ยว ส่วนในระหว่างการท่องเที่ยวร้านอาหารเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้คนจะค้นหา LINE มองเห็นศักยภาพของตลาดท่องเที่ยวจึงถือโอกาสลงมาทำ
- LINE TRAVEL จะมีฟังก์ชั่นในการค้นหาแพ็คเก็จทัวร์ จองโรงแรม และค้นหาสถานที่ท่องเที่ยว โดยจะค่อยทยอยเปิดบริการใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง ดูได้จากภาพด้านล่าง
LINE TRAVEL เปิดตัวอย่างเป็นทางการในวันงานแถลงข่าวใหญ่ของ LINE ประจำปี 2018 นั่นคือวันที่ 28 มิถุนายนที่ผ่านมา
4. ธุรกิจสื่อ
LINE NEWS (หรือ LINE TODAY ที่เป็นชื่อเรียกในไทย)
ธุรสื่อและข้อมูลข่าวสารเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ LINE ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก อย่างในธุรกิจที่ญี่ปุ่นตอนนี้มีสื่อสำนักข่าวที่เข้ามาเป็นพันธมิตรถึง 2,057 แห่งแล้ว
ที่น่าสนใจคือ แผนการ Redesign ของ LINE NEWS จะใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยค่อนข้างมาก เพราะต่อจากนี้ LINE จะไม่ทำหน้าที่แค่รวบรวมข่าวแบบเดิมๆ อีกต่อไป
LINE บอกว่า การอ่านข่าวผ่าน LINE ต่อจากนี้จะไม่ใช่การอ่านข่าวในระดับ Mass หรือแบบ Diversify ที่เป็นข่าวหลากหลายประเภทอีกต่อไป
LINE เสนอว่า ทุกคนควรจะได้อ่านข่าวที่เป็น Deep Personalization หรือก็คือข่าวที่เหมาะกับเราที่สุด ทั้งในด้านของภูมิภาคของประเทศ เพศ อายุ ฯลฯ ที่มากไปกว่านั้น LINE เชื่อในปรัชญาอย่างหนึ่งว่า ยิ่งคุณได้เสพข้อมูลข่าวสารที่ตรงความต้องการอย่างแท้จริง จะทำให้ชีวิตดีขึ้น
- LINE จะใช้เทคโนโลยีมาวิเคราะห์คำ ประวัติของผู้ใช้งาน และข้อมูลที่จำเป็น เพื่อทำให้ข่าวออกมาตรงกับความต้องการของผู้อ่านมากที่สุด
- LINE ทิ้งท้ายไว้ว่า ถึงที่สุด ยังคงต้องการนักข่าวอยู่ แต่อีกอาชีพหนึ่งที่สำคัญคือ Data Scientist ที่จะมีความสำคัญอย่างมากต่อการ Redesign ธุรกิจตัวนี้
5. เทคโนโลยี AI และการสั่งงานด้วยเสียง
LINE อัพเดทข้อมูลของ Clova ที่เป็นเทคโนโลยี AI ว่า มีความแม่นยำในการรับคำสั่งจากเสียงถึง 95% เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 1% ถือเป็นอัตราที่สูง นอกจากนั้นยังเรียนรู้ข้อมูลได้ดีกว่าเดิมถึง 2 เท่า รวมถึงโต้ตอบได้ไวขึ้น 1.389 วินาที
- Clova ตัวใหม่ที่จะออกสู่ตลาดรอบนี้ แน่นอนว่าเก่งขึ้น แต่มีความพิเศษที่ตัวเล็กลง และเพิ่มชื่อคำว่า mini เข้ามา
- ส่วนที่ทำให้หลายคนในงานตื่นเต้น คือการส่ง Clova มินเนี่ยนออกมาลงสู่ตลาดเป็นครั้งแรก
- นอกจากนั้น LINE ยังส่ง Clova Desk ที่เป็นลำโพงอัจฉริยะมีหน้าจอ ลงมาสู่ตลาดด้วย โดยจะพร้อมวางจำหน่ายในช่วงปลายปีนี้
- Clova Auto ยังได้จับมือกับ TOYOTA เพื่อส่งบริการสั่งงานด้วยเสียงในรถยนต์ เพื่อรองรับรถยนต์ไฟฟ้าและรถยนต์ไร้คนขับในอนาคตที่กำลังจะมาถึง
- LINE บอกว่า Clova Auto จะไปอยู่ในรถยนต์ของ TOYOTA 3 รุ่นในเบื้องต้น ได้แก่ New Crown, Collora Sport และ Prius PHV ในญี่ปุ่น
เรื่องใหญ่ของ LINE หลังจากนี้ คือการลุยฟินเทค & บล็อกเชน
ถ้าถามว่า หัวข้ออะไรใหญ่ที่สุดในงานใหญ่ของ LINE ปีนี้
- คำตอบก็คือ ฟินเทค
ปีนี้ถือเป็นครั้งแรกที่ LINE ออกมาแถลงข่าวอย่างเป็นทางการถึงทิศทางการเคลื่อนไหวสู่โลกฟินเทค LINE บอกเลยว่า สังคมญี่ปุ่นช้าเกินไปสำหรับโลกอนาคตทางการเงิน ปัจจัยสำคัญคือข้อกำหนดกฎหมายที่ค่อนข้างเข้มงวด ในบางพื้นที่ประเทศจีนมีการใช้จ่ายแบบไร้เงินสดถึง 98.3% ในขณะที่ญี่ปุ่นยังตามหลังหลายประเทศอยู่มาก ถ้าไปดูค่าเฉลี่ยการใช้จ่ายแบบไร้เงินสดในญี่ปุ่นจะอยู่ที่ 18.4% เท่านั้น
LINE เสนอว่า บริษัทต้องทำการปฏิวัติการชำระเงิน (Payment Revolution) แน่นอนว่าผ่านทาง LINE Financial (LINE Pay) ที่มีอยู่แล้ว
- โดยในญี่ปุ่น LINE จะมุ่งมั่นอย่างหนักในการส่งแคมเปญกระตุ้นให้ทั้งฝั่งธุรกิจและผู้บริโภคหันมาชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์
ถ้าดูจากภาพด้านล่างจะเห็นความชัดเจนของธุรกิจ LINE ว่าต้องการใช้การสื่อสารที่เป็นธุรกิจพื้นฐานประกอบกันเข้ากับบริการคอนเทนต์ที่มีอยู่ครบมือ และธุรกิจใหม่ที่กำลังปั้น นั่นก็คือ ธุรกิจการเงิน
ต่อเนื่องจากฟินเทค อีกหนึ่งหัวข้อที่สอดรับกันคือ บล็อกเชน (Blockchain)
LINE ประกาศว่าต้องการเป็นบริษัทเทคโนโลยีที่เป็นผู้นำเบอร์ 1 ของโลกในเรื่องบล็อกเชนให้ได้ โดยล่าสุด ปล่อยคอนเซปต์ที่สร้างความสนใจเป็นอย่างมาก นั่นคือ LINE Token Economy ซึ่งแน่นอนว่าจะใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนเป็นพื้นฐาน
อธิบายง่ายๆ คือ ด้วยคอนเซปต์นี้ LINE จะแจก Token ให้กับผู้ใช้งาน จากนั้นผู้ใช้งานจะนำ Token ตัวนี้ไปใช้ซื้อของหรือชำระเงินใดๆ ก็ได้ ในระบบของ LINE (ในญี่ปุ่น มีการพูดไปถึงการซื้อของจากพันธมิตรของ LINE ด้วย เช่น ร้านค้าต่างๆ ใน LINE SHOPPING) และหลังจากนั้น Token ของ LINE ก็จะขยายไปสู่ ecosystem นอกระบบของ LINE อีกด้วย
- ต้องย้ำไว้ว่า LINE Token Economy เป็นเพียงคอนเซปต์เท่านั้น และตอนนี้กำลังพัฒนาระบบนี้อยู่
ระเบิดทิ้งท้าย: LINE ประกาศทำเทรดเงินคริปโตชื่อ BITBOX
ก่อนจะจบงาน ซีอีโอของ LINE ขึ้นมาทิ้งท้ายด้วยเซอร์ไพร์สใหญ่ นั่นคือการเตรียมส่ง บริการเทรดเงินคริปโต ในชื่อ BITBOX ลงสู่ตลาดในเดือนกรกฎาคมนี้
LINE บอกว่าตลาดเทรดเงินคริปโตในระดับโลกกำลังเริ่มต้น การลงแข่งขันในช่วงนี้คือการชิงความได้เปรียบจากพันธมิตรที่มีอยู่ทั่วโลก และที่สำคัญนี่คือแผนการ Go Global ของ LINE ที่สำคัญ เพราะ BITBOX อาจทำให้ LINE ออกไปเติบโตนอก 4 ตลาดหลักในปัจจุบัน อันได้แก่ ญี่ปุ่น, ไทย, ไต้หวัน และอินโดนีเซีย
BITBOX จะเป็นบริการเทรดเงินคริปโตที่ให้บริการทั่วโลก ยกเว้นญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา ด้วยเหตุผลที่ว่า ใน 2 ประเทศนี้มีข้อกำหนดกฎหมายที่เข้มงวดเกินไป นอกจากนั้นบริการตัวนี้จะให้บริการใน 15 ภาษา แต่ไม่มีภาษาญี่ปุ่นและภาษาไทย
- เพื่อไม่ให้สับสน แม้จะไม่มีภาษาไทย แต่ในทางเทคนิคแล้ว สามารถใช้งานในประเทศไทยได้ เพราะเป็นบริการแบบ Global
สรุป LINE CONFERENCE 2018 และก้าวต่อไปของ LINE
แผนการ Redesign ทุกธุรกิจของ LINE ค่อนข้างชัดเจนว่า LINE ยังคงยึดมั่นในธุรกิจที่มีอยู่ได้แก่ บันเทิง, โฆษณา, คอมเมิร์ซ, สื่อ, เทคโนโลยี AI และการสั่งงานด้วยเสียง
ส่วนเรื่องใหม่และเรื่องใหญ่ในปีนี้คือ การประกาศว่าจะก้าวเข้าสู่โลกของฟินเทคอย่างเต็มตัว รวมไปถึงการลุยเทคโนโลยีที่มาแรงอย่างบล็อกเชน และลงเล่นในตลาดคริปโตก็เป็นสิ่งที่น่าจับตามอง
ส่วนก้าวต่อไปของ LINE หลังจากนี้ ซีอีโอของ LINE ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนไว้ว่า คือการลุยในธุรกิจใหม่ นั่นก็คือ ฟินเทค เพราะ LINE ประกาศไว้แล้วว่าจะทำเรื่องนี้ให้ดีที่สุดและต้องการเป็นเบอร์ 1 ของตลาดญี่ปุ่น (รวมถึงบล็อกเชนที่ประกาศไว้ว่าต้องการเป็นเบอร์ 1 ของโลก) ถัดมาคือเรื่องคอมเมิร์ซที่ยังมีศักยภาพในการเติบโตอีกสูงมาก จากนั้นก็คือการพัฒนา AI และการสั่งงานด้วยเสียงผ่านผู้ช่วยอัจฉริยะ เพราะ LINE กำลังกระโดดเข้าไปเล่นในตลาด Voice User Interfaces แบบเต็มตัว
- ทั้งหมดนี้คือเป้าหมายและงานใหญ่ของ LINE จากธุรกิจสื่อสารผ่านแอพพลิเคชั่นแชท มาถึงธุรกิจ Smart Portal ที่แผ่ขยายกิ่งก้านสาขาออกไปอย่างไม่รู้จบในทุกวันนี้
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา