สาวออฟฟิศในปักกิ่ง Li Weiling อาจมีเงินเดือนไม่เยอะมากนัก แต่เธอใช้ชีวิตอย่างหรูหราราวกับสุลต่าน ไม่ว่าจะเป็นการเรียกคนขับรถมารับในช่วงการจราจรคับคั่ง สั่งอาหารเดลิเวรี่มาเสิร์ฟถึงหน้าบ้าน และซื้อตั๋วหนังราคาถูก
นี่คือไชนีสดรีม แต่สิ่งนี้เกิดขึ้นได้กับ Weiling ไม่ได้เป็นเพราะเธอมีเงินเดือนมากมาย แต่เป็นเพราะสตาร์ตอัพจีนที่ให้บริการ on-demand service รายใหญ่ทั้งหลาย ทุ่มเงินมหาศาล (ที่ได้มาจากบรรดานักลงทุนอีกที) ให้ส่วนลดสารพัดเพื่อดึงให้ลูกค้าแบบ Weiling มาอยู่บนแพลตฟอร์มตัวเองให้นานที่สุด
น่าเสียดายว่าสภาวะนี้คงอยู่ได้อีกไม่นานแล้ว
สตาร์ตอัพทุ่มเงินเพื่อช่วงชิงลูกค้า แต่ลูกค้าก็ไม่จงรักภักดีต่อแบรนด์ใดๆ
บรรดาสตาร์ตอัพในจีน ส่วนใหญ่ได้รับเงินลงทุนจากกลุ่ม “BAT” หรือ Baidu, Alibaba, Tencent บิ๊กทรียักษ์ใหญ่ของวงการอินเทอร์เน็ตจีน สตาร์ตอัพเหล่านี้ให้ส่วนลดกับบริการทุกสิ่งทุกอย่างที่พวกเราคิดออก เพื่อช่วงชิงลูกค้าให้มากที่สุด
อย่างไรก็ตาม เริ่มมีสัญญาณว่าสงครามราคาครั้งนี้ใกล้สิ้นสุดลง บรรดาคู่แข่งที่เคยต่อสู้กันอย่างเอาเป็นเอาตายเริ่มหันมาจูบปากกัน ตัวอย่างที่ชัดเจนคือบริการเรียกรถ Didi Chuxing ซื้อกิจการของ Uber ในจีน ควบรวมเหลือบริษัทรายใหญ่เพียงรายเดียว
William Bao Bian ผู้ร่วมลงทุนแห่งบริษัท SOSV กล่าวไว้ว่า “การลดราคาเหล่านี้สอนให้ลูกค้าชาวจีน ไม่ต้องมีความจงรักภักดีใดๆ ต่อแบรนด์ กลายเป็นว่าลูกค้าจะไปอยู่กับบริการที่ให้ราคาดีที่สุดแทน ความจงรักภักดีต่อแบรนด์ไม่มีความหมายใดๆ เลยในประเทศจีน”
สตาร์ตอัพรุ่นใหม่ๆ เรียกตัวเองว่าเป็น O2O (online-to-offline) หรือการเชื่อมโยงโลกออนไลน์เข้าสู่บริการในโลกจริง และทุ่มเงินมหาศาลเพื่อเพิ่มยอดผู้ใช้ให้มากที่สุดเอาไว้ก่อน แต่การลดราคาอย่างหนักหน่วงกำลังทำให้อุตสาหกรรมภายในประเทศปั่นป่วนไปด้วย
สาเหตุจากเงินลงทุนเริ่มลดลง สตาร์ตอัพต้องควบรวมกันเอง
โมเดลการลดราคาหนักๆ กำลังเผชิญความท้าทายสองประการ อย่างแรกคือ การควบรวมของธุรกิจในจีน และเม็ดเงินลงทุนที่กำลังหดหายไปจากเดิม
ที่ผ่านมา เม็ดเงินลงทุนไหลเข้าจีนอย่างบ้าคลั่ง แต่ในจังหวะที่ฟองสบู่เริ่มแตก แวดวงสตาร์ตอัพจีนผ่านจุดสูงสุดมาแล้ว เม็ดเงินลงทุนในครึ่งแรกของปี 2016 น่าจะหายไปราว 25% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2015
Kai-fu Lee แห่ง VC Sinovation Ventures ให้ความเห็นว่า ตลาดจีนมีแนวโน้มที่จะมีขาขึ้นและขาลงอย่างรวดเร็ว เมื่อกระแสความนิยมลดลง ทุกอย่างก็ลดลงฮวบฮาบตามไป
เมื่อเม็ดเงินเริ่มหดหาย แต่กำไรยังไม่มี สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือการควบรวมกันของผู้เล่นในตลาด นอกจากกรณีของ Didi-Uber ที่เป็นข่าวใหญ่ไปแล้ว ก็ยังมีกรณีอื่นๆ เช่น การควบรวมของ Meituan-Dianping เว็บซื้อสินค้าและอาหารแบบกลุ่ม, Ganhi-58.com เว็บประกาศโฆษณา, Ctrip-Qunar เว็บจองโรงแรมและตั๋วเครื่องบิน
ทุ่มราคาเพื่อยึดครองตลาด แต่ยังครองตลาดไม่ได้ เงินก็เริ่มหมด
Richard Lim แห่ง GSR Vententure สรุปเรื่องนี้ว่าสิ่งที่บรรดาสตาร์ตอัพจีนเหล่านี้ต้องการ ไม่ใช่การให้บริการที่ดีต่อผู้บริโภคหรอก แต่ต้องการยึดครองตลาดแต่เพียงผู้เดียวแล้วผูกขาดมันซะ เพื่อกอบโกยกำไรจากช่วงนั้นแทน
ความกดดันเหล่านี้ส่งผลให้การลดราคาเยอะๆ แบบเดิมไม่เกิดขึ้นอีกต่อไป ตัวอย่างเช่น ผู้ใช้ UCar แอพเรียกรถอีกยี่ห้อในจีน ระบุว่าแต่ก่อนลูกค้าจะได้เครดิตคืน 100 หยวนจากเงินค่ารถ 100 หยวนที่จ่ายออกไป แต่ตอนนี้เครดิตคืนมาเพียง 20 หยวนเท่านั้น
Edaixi ธุรกิจประเภทบริการซักรีดออนไลน์ เริ่มหยุดการลดราคาแล้วเช่นกัน ทางผู้ก่อตั้งมองว่า บริการซักรีดสามารถอยู่รอดได้โดยไม่ต้องใช้เงินอุดหนุนหนักขนาดนั้น เพราะมีความต้องการของลูกค้ามากอยู่แล้ว
คำถามคือลูกค้าของธุรกิจแต่ละแขนง จะมีเสียงตอบรับอย่างไรต่อการลดราคาที่น้อยลง นี่คือสิ่งที่บรรดาสตาร์ตอัพ O2O ในจีนต้องหาคำตอบกันต่อไป ในเวลาที่เหลืออีกไม่เยอะนัก
ข้อมูลจาก Bloomberg
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา