“Invention is the mother of necessity” คือหัวใจของ Casio ที่ก่อตั้งปี 2500 ในประเทศญี่ปุ่น และมียอดขายกว่า 96,000 ล้านบาท ยิ่งยุคนี้นวัตกรรมคือสิ่งคัญ การเรียนรู้แนวคิดของบริษัทนี้ก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจ
เริ่มจาก 4 พี่น้องคิดค้นเครื่องคิดเลขดิจิทัล
ชื่อแบรนด์ Casio นั้นมาจากนามสกุลของตระกูล Kashio ที่ตอนนั้นมี 4 พี่น้อง Tadao, Toshio, Kazuo, และ Yukio ซึ่งในปี 2500 พวกเขาไม่ได้ต้องการสร้างผลิตภัณฑ์ที่ตลาดต้องการอยู่แล้ว หากแต่จะสร้างสิ่งที่ไม่เคยมีมาก่อนด้วยการใส่เทคโนโลยีดิจิทัลเข้าไป และทำให้ตลาดในตอนนั้นหันมาใช้งานแทน
ผลิตภัณฑ์แรกของ Casio คือเครื่องคิดเลขดิจิทัลขนาดเล็กเครื่องแรกของโลก รุ่น 14-A ที่องค์กรต่างๆ ซื้อไปใช้งานมากมาย เพราะตอนนั้นไม่มีอุปกรณ์คิดเลขที่สะดวกสบาย ซึ่งเครื่องคิดเลขดิจิทัลก็เป็นแม่เหล็กให้กับ Casio มาตลอด และปี 2515 ก็ผลิตเครื่องคิดเลขสำหรับพกพารุ่น Casio Mini ออกมาให้ผู้บริโภคทั่วไปใช้งาน
และในปี 2517 ทางบริษัทก็ออกผลิตภัณฑ์ตัวใหม่ที่ไม่ใช่เครื่องคิดเลขออกมา นั่นก็คือนาฬิกาข้อมือแบบดิจิทัลรุ่น Casiotron นั่นเอง แม้จะไม่ใช่นาฬิกาดิจิทัลเรือนแรกของโลก แต่มันก็คือนาฬิกาข้อมือเรือนแรกที่ระบุวันที่ในแต่ละเดือนได้แบบอัตโนมัติ แถมกลายเป็นต้นกำเนิดของนาฬิกาตระกูล G-Shock อีกด้วย
ปฏิวัติวงการนาฬิกาด้วย G-Shock
สำหรับ G-Shock นั้นเกิดขึ้นเมื่อปี 2526 ผ่านแนวคิดที่อยากสร้างนาฬิกาที่ทนต่อแรงกระแทก หรือ Shock-Resistance เพราะตอนนั้นนาฬิกาเกือบทุกเรือนนั้นแตกหักได้ง่าย และมีมูลค่าสูง แต่ด้วยการออกแบบ และการทำตลาดก็ทำให้นาฬิกาตระกูลนี้นิยมไปทั่วโลก และหากนับถึงเดือนส.ค. 2560 ก็จำหน่ายไปกว่า 100 ล้านเรือนแล้ว
ถือเป็นความสำเร็จ และกลายเป็นจุดพลิกผันของ Casio ก็ว่าได้ เพราะหลังจากนั้นบริษัทก็ส่งนวัตกรรมดิจิทัลที่โลกไม่เคยมี และเคยมีแต่มีราคาค่อนข้างสูงออกมาอย่างต่อเนื่อง ไล่ตั้งแต่เปียโนไฟฟ้า, โทรทัศน์ขาวดำแบบพกพา, เครื่องคิดเลขทางคณิตศาสตร์ และพจนานุกรมอิเล็กทรอนิกส์
ยิ่งในปี 2538 ทางบริษัทก็เริ่มรุกตลาดกล้องดิจิทัลราคาที่ผู้บริโภคหลายคนเอื้อมถึงได้ในรุ่น QV-10 หรือกล้องดิจิทัลตัวแรกที่มีจอ LCD ติดตั้งไว้ด้านหลังเครื่องเพื่อดูภาพ และกลายเป็นอีกก้าวในการรุกตลาดกล้องดิจิทัลเต็มตัวของ Casio เช่นเดียวกัน
อาณาจักรนวัตกรรมมูลค่า 96,000 ล้านบาท
ส่วนเรื่องยอดขายสุทธิของ Casio นั้นในปี 2560 ปิดที่ 3.20 แสนล้านเยน (ราว 96,000 ล้านบาท) โดยถ้าแบ่งเป็นพื้นที่ ยอดขายในประเทศญี่ปุ่นคิดเป็นสัดส่วน 33.3% ที่เหลือเป็นยอดขายในต่างประเทศ โดยในพื้นที่เอเชีย และอื่นๆ คิดเป็นสัดส่วนมากที่สุด สูงกว่าพื้นที่อเมริกาเหนือ และกลุ่มยุโรป
แต่ถ้าแบ่งเป็นกลุ่มประเภทสินค้า ตัวสินค้าสำหรับผู้บริโภค เช่นนาฬิกา, เครื่องคิดเลข, กล้องดิจิทัล และอื่นๆ จะคิดเป็นสัดส่วน 84.9% รองลงมาเป็นกลุ่มสินค้าสำหรับสำนักงาน เช่นเครื่องคิดเงิน และเครื่องพิมพ์ คิดเป็น 12.4% และอื่นๆ เช่นแม่พิมพ์ต่างๆ อีก 2.7%
ด้านกำไรสุทธิของบริษัทนี้อยู่ราว 18,000 ล้านเยน (ราว 5,500 ล้านบาท) และยิ่ง Casio ยังคงเน้นเรื่องนวัตกรรมนำหน้าการทำตลาด ก็ยิ่งทำให้บริษัทนี้ที่มีสินค้าเกือบครบทุกกลุ่มการใช้งาน สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนในยุคที่นวัตกรรมมีความสำคัญเป็นอย่างมาก และเป็นตัวอย่างที่ดีด้านความคิดให้กับคนที่อยากทำธุรกิจตอนนี้เป็นอย่างยิ่ง
อ้างอิง // Casio, Japan Today
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา