หลังการควบกิจการครั้งใหญ่ระหว่างบริษัทโทรคมนาคม AT&T กับบริษัทสื่อ Time Warner เสร็จสิ้นเพียงไม่กี่วัน ทางบริษัท Time Warner ก็เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น Warner Media ทันที
เหตุผลของการเปลี่ยนชื่อ เพื่อป้องกันความสับสนระหว่างบริษัทสื่อ Time Warner กับบริษัทเคเบิลทีวี Time Warner Cable ที่ขายกิจการไปเมื่อปี 2016 (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น Spectrum แล้ว)
ส่วนอีกเหตุผลหนึ่งคือชื่อบริษัท Time Warner เกิดจากการควบกิจการระหว่างบริษัทสื่อสิ่งพิมพ์ Time Inc. (เจ้าของนิตยสาร Time) และบริษัทภาพยนตร์ Warner Communications (เจ้าของสตูดิโอ Warner Bros. และค่ายเพลง Warner Music) ในปี 1990 แต่ทาง Time Warner เพิ่งขายกิจการนิตยสาร Time ออกไปให้กับกลุ่ม Meredith ในปี 2017 ทำให้คำว่า “Time” ในชื่อบริษัทไม่มีความหมายอีกต่อไป
เส้นทางชีวิตของ Warner Bros. จากค่ายหนังสู่ Warner Media
ธุรกิจของเครือ Warner เริ่มจากสตูดิโอ Warner Bros. ที่ก่อตั้งโดยพี่น้องตระกูล Warner ผู้อพยพมาจากโปแลนด์สู่สหรัฐอเมริกา จำนวน 4 คนในปี 1923 หรือ 95 ปีก่อน ธุรกิจแรกเริ่มคือการทำโรงภาพยนตร์ และเริ่มขยับขยายมาเป็นสร้างหนังเองในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1
ตัวธุรกิจภาพยนตร์รุ่งเรืองมากในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง มีการขยายไปทำภาพยนตร์แอนิเมชัน (อย่าง Looney Tunes) และขยายมายังธุรกิจทีวีในช่วงหลังสงคราม จนกระทั่งในปี 1966 กลุ่มพี่น้อง Warner ขายธุรกิจให้กับสตูดิโอ Seven Arts Productions ควบรวมเป็นบริษัทใหม่ Warner Bros.-Seven Arts. จากนั้นบริษัทใหม่ขายให้กับ Kinney National Company กลุ่มบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านที่จอดรถและทำความสะอาดในปี 1969
บริษัทแม่ Kinney ตัดสินใจแยกธุรกิจกลับเป็น 2 ส่วนอีกครั้งในปี 1972 โดยธุรกิจบันเทิงแยกตัวออกมาโดยใช้ชื่อว่า Warner Communications ซึ่งเป็นเจ้าของสตูดิโอ Warner Bros., หนังสือการ์ตูน DC Comics และธุรกิจทีวีด้วย
ปี 1990 กลุ่ม Warner ประกาศควบกิจการกับ Time Inc. บริษัทสื่อสิ่งพิมพ์ยักษ์ใหญ่ เจ้าของนิตยสารจำนวนมาก เช่น Time, Sports Illustrated, Travel+Leisure, Fortune, People, InStyle, Life, Entertainment Weekly รวมถึงช่องทีวี HBO กลายเป็นบริษัทสื่อยักษ์ใหญ่ของโลกชื่อ Time Warner ที่มีกิจการสื่อทุกประเภททั้งสิ่งพิมพ์ ทีวี ภาพยนตร์
ช่วงทศวรรษ 90s บริษัท Time Warner ขยายตัวในทุกทาง โดยเฉพาะสื่อทีวีที่เป็นสื่อผู้ทรงอิทธิพลในยุคนั้น การซื้อกิจการครั้งสำคัญคือซื้อบริษัท Turner Broadcasting System (TBS) ของราชาสื่อทีวี Ted Turner เจ้าของช่อง CNN และ Cartoon Network ในปี 1996
ในทศวรรษ 2000s Time Warner ถูกซื้อกิจการโดย AOL บริษัทอินเทอร์เน็ตยักษ์ใหญ่ในยุคสมัยนั้น ด้วยมูลค่าสูงเป็นประวัติการณ์ถึง 1.64 แสนล้านดอลลาร์ (คิดเป็นมูลค่าในปัจจุบันประมาณ 7.6 ล้านล้านบาท) และยังคงเป็นสถิติสูงสุดของการซื้อกิจการบริษัทมาจนถึงปัจจุบัน บริษัทใหม่ใช้ชื่อว่า AOL Time Warner
อย่างไรก็ตาม การควบกิจการครั้งนี้ถือว่าล้มเหลว เพราะธุรกิจให้บริการอินเทอร์เน็ตของ AOL ไปได้ไม่สวยอย่างที่คิดไว้ในระยะเวลาถัดมา มูลค่าหุ้นของ AOL ลดลงอย่างฮวบฮาบ ทำให้ AOL ถูกขายออกมาเป็นบริษัทอิสระในปี 2009 (ปัจจุบันเป็นบริษัทลูกของ Verizon) และเปลี่ยนชื่อบริษัทกลับเป็น Time Warner เหมือนเดิม
เมื่อธุรกิจสิ่งพิมพ์เริ่มถึงทางตัน Time Warner จึงตัดสินใจแยก Time Inc. ออกมาเป็นบริษัทอิสระในปี 2014 และเข้าขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ แต่การปรับตัวสู่โลกออนไลน์กลับไม่ประสบความสำเร็จมากนัก และสุดท้ายขายกิจการให้กับบริษัทสื่อสิ่งพิมพ์คู่แข่ง Meredith Corporation ในปี 2017
สุดท้าย Time Warner เหลือธุรกิจหลักอยู่ 3 ด้านคือ สตูดิโอภาพยนตร์ Warner Bros., ช่องทีวี HBO และช่องทีวีในเครือ TBS จนกระทั่งขายกิจการให้กับ AT&T ในปี 2016 และปิดดีลสำเร็จในปี 2018
ข้อมูลบางส่วนจาก Fast Company
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา