เอเชียยังน่าสน! มุมมองการลงทุนครึ่งปีหลังจาก Citi พร้อม 4 ประเด็นสำคัญ

มุมมองการลงทุนครึ่งปีหลังจาก Citi ที่ยังชื่นชอบตลาดเกิดใหม่ และเอเชีย รวมไปถึงมุมมองเศรษฐกิจ และ 4 ประเด็นในการลงทุนที่จะทำให้การลงทุนของนักลงทุนมองเห็นภาพในครึ่งปีหลัง

ดอน จรรย์ศุภรินทร์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายบุคคลธนกิจ ธนาคารซิตี้แบงก์ ประเทศไทย

ดอน จรรย์ศุภรินทร์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายบุคคลธนกิจ ธนาคารซิตี้แบงก์ ประเทศไทย กล่าวว่า ในครึ่งปีหลังภาพรวมของเศรษฐกิจและตลาดหุ้นทั่วโลกจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้นจากหลากหลายปัจจัยที่สนับสนุน อาทิ อัตราการเติบโตของกำไรต่อหุ้นทั่วโลก การปฏิรูปภาษีในสหรัฐอเมริกา การประเมินมูลค่าราคาของตลาดเกิดใหม่ หรือ Emerging Markets ที่ยังคงถูกกว่าตลาดอื่นๆ และผลประกอบการที่แข็งแกร่งของตลาดเกิดใหม่

ในด้านของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) อาจมีการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยในระยะเวลาที่เหลือของปี 2018 และยังคาดการณ์ว่าอัตราแลกเปลี่ยนในค่าเงินดอลล่าร์สหรัฐฯจะแข็งค่าขึ้นในระยะสั้น แต่จะอ่อนค่าลงต่อไปในระยะปานกลางถึงระยะยาว เนื่องจากการขาดดุลที่เพิ่มขึ้นและความตึงเครียดทางการค้ากับประเทศจีนและโซนยุโรป

ปีนี้เศรษฐกิจยังดีทั่วโลก

เศรษฐกิจโลกครึ่งปีหลัง 2018 คาดว่าจะมีการขยายตัว 3.4% ซึ่งสูงสุดในรอบ 8 ปี โดยมีปัจจัย เช่น การเพิ่มขึ้นของมาตรการกระตุ้นการเงินของสหรัฐอเมริกา และการเติบโตอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศเกิดใหม่ เป็นต้น อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจมีแนวโน้มที่จะเป็นบวกในทุกภูมิภาคหลัก

สำหรับกลุ่มประเทศพัฒนา GDP เติบโตเฉลี่ย 2.3% ส่วนกลุ่มประเทศเกิดใหม่ GDP เติบโตเฉลี่ย 4.8% ฉะนั้นการเติบโตระดับนี้ยังเป็นบรรยากาศที่ดีในการลงทุน

มุมมองเศรษฐกิจไทย

Citi คาดการณ์เศรษฐกิจไทยจะขยายตัว 4.2% ในปี 2561 และ ปี 2562 โดยมีปัจจัยหลักที่สนับสนุน ได้แก่ การลงทุนและการบริโภคภายในประเทศที่เพิ่มมากขึ้นจากภาคสาธารณะและภาคเอกชน รวมถึงธุรกิจส่งออกของประเทศไทยที่มีการเติบโตสูงกว่าที่คาดการณ์

อย่างไรก็ตาม Citi ยังคงมองถึงปัจจัยเสี่ยงที่อาจมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย อาทิ การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกจากความกังวลทางการค้าและกฎหมายการใช้จ่ายของภาครัฐที่เข้มงวดขึ้น ด้านระดับอัตราเงินเฟ้อในปี 2561 มองว่าโดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ 1.4% และจะปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 1.8% ในปี 2562  ด้านค่าเงินบาทไทยยังคงมีแนวโน้มที่จะแข็งค่าขึ้นในปี 2561นี้

ภาพจาก Shutterstock

กำไรบริษัทก็ดี

กำไรของบริษัททั่วโลกไปปีนี้เติบโตถึง 13% ส่วนบริษัทในดัชนี S&P 500 เติบโตถึง 19.7% ซึ่งถือว่าเติบโตสูงมาก ส่วนภูมิภาคอื่นๆ เช่นยุโรป เติบโตถึง 11% รวมไปถึง Emerging Markets เติบโตถึง 15% อย่างไรก็ดีเราจะเห็นได้ว่ากำไรบริษัทจดทะเบียนทั่วโลกเติบโตพร้อมกัน ซึ่ง Citi ยังคงมีมุมมองที่ดีในการลงทุน

แต่ถ้าหากมองว่าหุ้นแพงไปหรือยัง Citi มีมุมมองที่ว่าถ้าหากมองในปีนี้จะถือว่าไม่ถูก แต่ถ้าหากมองกำไรในปีนี้แล้วเทียบไปข้างหน้าแล้วจะพบว่าราคาอยู่ใกล้เคียงค่าเฉลี่ย ฉะนั้นถ้ามองภาพรวมหุ้นโลกยังถือว่าลงทุนได้

เตือนเรื่องสภาพคล่อง

Citi ยังได้เตือนเรื่องของสภาพคล่องของตลาดหลังจากหมดนโยบายผ่อนคลายทางการเงิน หรือ QE และถ้าคิดผลรวมจากธนาคารกลางแต่ละแห่งที่พิมพ์เงินเข้ามาหรือว่าเลิกนโยบายนี้ จะเห็นว่าปีนี้ไม่มีเม็ดเงินใหม่ๆ เข้ามา ซึ่งนักลงทุนเริ่มเข้าใจในเรื่องนี้ ในอดีตตลาดจะชินกับการปั๊มเม็ดเงินเข้ามาทำให้ราคาสินทรัพย์เพิ่มขึ้น แต่ก็ยังมีความเสี่ยงบ้างถ้าหากธนาคารกลางรีบขึ้นดอกเบี้ยเซอร์ไพรส์นักลงทุน ซึ่งอาจทำให้เกิดความผันผวนในสินทรัพย์ได้

4 เรื่องสำคัญในการลงทุน

Citi ได้เน้นย้ำถึง 4 เรื่องหลักในการลงทุนครึ่งปีหลังดังต่อไปนี้

  1. Managing Volatility เราจะเห็นว่าปีนี้จะเป็นอีกปีที่มีความผันผวนในราคาสินทรัพย์สูงมาก และความผันผวนจะยังมีต่อไป ไม่ว่าจะเกิดจากปัจจัยต่างๆ เช่น การเมือง หรือแม้แต่การขึ้นดอกเบี้ย Citi มองว่าพอร์ตการลงทุนจะต้องปกป้องในเรื่องนี้ด้วย
  2. Benefit from Growth Expansion ผลดีจากการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก ทำให้ Emerging Markets และรวมไปถึงเอเชียได้รับผลประโยชน์ โดยเฉพาะระยะกลางและยาว Citi มองว่าค่าเงินดอลลาร์จะอ่อนค่า
  3. Seek Shelter with Income ดอกเบี้ยกำลังจะปรับตัวขึ้น มุมมองของ Citi แนะนำให้ลงทุนตราสารหนี้ที่ทำให้ผลตอบแทนต่อเนื่อง เช่น ตราสารหนี้ที่อยู่ในเกรดที่น่าลงทุน หรือแม้กระทั่ง High Yield Bond ด้วย
  4. Return of USD weakness เนื่องด้วยนโยบายของรัฐบาลสหรัฐในปัจจุบันจะเน้นให้ดอลลาร์อ่อนค่าระยะยาว นักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้อาจเริ่มมองหาการลงทุนผลิตภัณฑ์ทางการเงินในต่างประเทศ เช่น กองทุนที่มีหน่วยลงทุนเป็นเงินยูโร

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

mm
Content Writer ที่สนใจในเรื่องของตลาดทุนทั้งในและต่างประเทศ กลุ่ม TMT (Technology, Media, Telecom) การควบรวมกิจการ (M&A) นโยบายทางเศรษฐกิจของไทยและต่างประเทศ รวมถึงสิ่งละอันพันละน้อยทางธุรกิจที่น่าสนใจ