JobThai.com คาดการณ์ภาพรวมสถานการณ์แรงงานในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2561 พบว่าสายงานที่ต้องการมากที่สุดในตลาดยังคงเป็นงานขาย ตามมาด้วยช่างเทคนิค และงานผลิต
งานด้านการผลิตมีความต้องการสูงขึ้น
เว็บไซต์หางาน JobThai.com ได้ประเมินภาพรวมตลาดแรงงานในช่วงครึ่งปีหลังนี้ จากการวิเคราะห์ฐานข้อมูลของเว็บไซต์ตั้งแต่ปี 2016 จนถึงปัจจุบัน พบ 10 สายงานที่คาดว่าต้องการแรงงานมากที่สุดยังคงเป็นงานขาย ตามมาด้วยงานด้านการผลิต ซึ่งสอดคล้องกับผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ประจำเดือนเมษายน 2561 ที่พบว่าความต้องการแรงงานของภาคการผลิต ภาคขนส่ง ภาคการบริการมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
- ขาย จำนวน 17,000 – 21,000 อัตรา
- ช่างเทคนิค จำนวน 9,000 – 11,500 อัตรา
- ผลิต/ควบคุมคุณภาพ จำนวน 8,000 – 9,800 อัตรา
- บริการลูกค้า จำนวน 5,800 – 7,000 อัตรา
- บัญชี/การเงิน จำนวน 5,000 – 6,500 อัตรา
- ธุรการ/จัดซื้อ จำนวน 4,800 – 5,900 อัตรา
- วิศวกรรม จำนวน 4,600 – 5,700 อัตรา
- อาหารและเครื่องดื่ม จำนวน 3,900 – 4,700 อัตรา
- คอมพิวเตอร์/ไอที จำนวน 3,200 – 3,900 อัตรา
- โลจิสติกส์และซัพพลายเชน จำนวน 2,900 – 3,500 อัตรา
แสงเดือน ตั้งธรรมสถิตย์ ผู้ร่วมก่อตั้งและหัวหน้าผู้บริหารด้านปฏิบัติการเว็บไซต์จ๊อบไทยดอทคอม (JobThai.com) กล่าวว่า
“สถานการณ์แรงงานไทยจากผลสำรวจภาวะการทำงานของประชากร ประจำเดือนเมษายน 2561 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่าประเทศไทยมีความต้องการแรงงานในกลุ่มของภาคการผลิต ภาคขนส่ง ตลอดจนภาคการบริการ เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว สอดคล้องไปกับสถานการณ์ปัจจุบันของเศรษฐกิจประเทศไทยที่อยู่ในช่วงกำลังฟื้นตัว”
การลงทุนยังเป็นปัจจัยสร้างการเติบโต
ปัจจัยหลักที่ขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจไทยยังคงเป็นภาคส่งออก ภาคท่องเที่ยว การบริโภคของภาคเอกชน และการลงทุนของภาครัฐในโครงการสำคัญต่างๆ โดยเฉพาะโครงการ EEC ที่คาดว่าจะปิดประมูลเสร็จในไตรมาส 2 ซึ่งจะทำให้ครึ่งปีหลังเริ่มมีนักลงทุนเข้ามามากขึ้น รวมถึงมาตการช่วยเหลือจากภาครัฐในโครงการต่างๆ ก็เริ่มทยอยออกมาอย่างต่อเนื่องเพื่อกระตุ้นการบริโภคของประชาชน
ขณะที่ภาคส่งออกและภาคบริการก็ได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและการที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งจากในประเทศและต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น โดยคาดว่าครึ่งปีหลังยังมีแนวโน้มที่เป็นบวก ซึ่งการขับเคลื่อนด้านเศรษฐกิจทั้งหมดนี้ล้วนส่งผลต่อความต้องการแรงงานไทยในอนาคตเพื่อมารองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา