[บทความโดย มาโนช พฤฒิสถาพร – บทความเป็นความคิดเห็น
เป็นความหงุดหงิดปนความไม่เข้าใจของคนเมืองกรุงและหน่วยงานรัฐที่ BTS ยังไม่เข้าร่วมและยังไม่มีแนวโน้มจะเข้าร่วมบัตรแมงมุม ระบบบัตรที่จะทำให้คนกรุงเทพสามารถโดยสารระบบขนส่งทุกอย่างได้โดยบัตรเดียว สะดวกสบายเหมือนเมืองชั้นนำ
เหตุผลที่คนพูดกันเยอะคือทำแล้ว BTS ได้เงินจากผู้โดยสารต่อหัวน้อยลง เพราะเมื่อใช้บัตรเดียวแล้ว ราคารวมที่ผู้โดยสารต้องจ่ายจะถูกลง
อีกเหตุผลที่น่าจะสำคัญกว่าคือ ถ้าไปรวมกับคนอื่น ความฝันที่จะปั้น Rabbit LINE Pay ให้เป็น wallet และ payment solution ที่คนใช้มากสุดก็จะไม่เกิด
เราเห็น BTS มุ่งมั่นเพิ่มจำนวนร้านค้าที่รับบัตร Rabbit โหมทำโปรโมชั่นเพื่อจูงใจให้คนใช้ และไปรวมกับ mpay wallet และ payment ของ AIS เพื่อให้เป็นผู้นำให้ได้ ขณะเดียวกันก็ยกเลิกการเติมเงินใส่บัตร Rabbit ด้วยบัตรเครดิต สำหรับการเติมเงินทั่วไป เพื่อไม่ให้ BTS แบกรับค่าธรรมเนียมบัตรเครดิต เวลาผู้ใช้เติมเงินด้วยบัตรเครดิตแล้วไปซื้อสินค้ากับร้านค้าพันธมิตร ซึ่ง BTS เก็บค่าธรรมเนียมจากร้านค้าในอัตราที่ตำ่มาก
ทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้บัตร Rabbit เป็นตัวเลือกแรกของทั้งร้านค้าและผู้ใช้
ถ้า BTS ยอมให้บัตรแมงมุมจ่ายค่า BTS ได้ ก็จะทำให้คนใช้บัตร Rabbit น้อยลงอย่างมาก
E-wallet และ payment นั้นเป็นสมรภูมิทางธุรกิจที่ดุเดือดที่สุดในยุคนี้ ยักษ์ใหญ่หลายวงการให้ความสำคัญมาก ทั้งธนาคาร, กลุ่ม True, SEA หรือ Garena ที่มี Airpay, Central ที่มี Cenpay, และ BTS
นั่นเป็นเพราะโอกาสการทำเงินมหาศาลถ้าเป็นผู้ชนะในเกมนี้ ทั้งรายได้จากค่าธรรมเนียมที่เก็บจากร้านค้า ที่ตอนนี้อาจยังไม่เก็บ รายได้จากการเป็นแพลตฟอร์มโฆษณาเป็นแหล่งรวมโปรโมชั่นจากร้านค้า และข้อมูลการใช้งานว่าลูกค้าคนนี้มีพฤติกรรมการใช้เงินอย่างไร ซึ่งเอาไปต่อยอดได้มหาศาล ไม่ว่าจะเป็นเอาไปทำปล่อยกู้ เอาไปเป็นข้อมูลวิเคราะห์การตลาดและผู้บริโภคขายให้ร้านค้า
ถ้า BTS คิดเช่นนี้จริง ต่อให้ภาครัฐกดดันขนาดไหนก็คงยากที่จะทำให้ BTS เป็นส่วนหนึ่งของบัตรแมงมุม เพราะ BTS ไม่ได้อะไร มีแต่เสีย
BTS เป็นธุรกิจผูกขาดและเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ที่มีหน้าที่ทำกำไรสูงสุด ต่อให้ BTS ทำแย่แค่ไหน คนกรุงเทพอย่างพวกเราก็ไม่มีทางเลือก ต้องทนใช้อยู่ดี ด้วยเหตุนี้ BTS จึงไม่มีแรงจูงใจในการพัฒนาให้ผู้ใช้แฮปปี้ขึ้น BTS เปิดมาจะ 20 ปีแล้ว แต่วิธีซื้อบัตรก็แทบไม่ต่างจากวันแรก ต้องต่อแถวสองครั้ง เป็นการเสียเวลามาก ลิฟต์สำหรับคนพิการก็ยังสร้างไม่ครบ เรียกได้ว่าจำนวนคนตำหนิบนโซเชียลมีเดียเรื่องรถเสียเรื่องแลกเหรียญนั้นสวนทางกับจำนวนผู้โดยสาร รายได้ และกำไรของ BTS ที่เพิ่มเรื่อยๆทุกปี
เรื่องนี้คงเป็นอีกหนึ่งบทเรียนของรัฐบาลเวลาทำงานกับบริษัทเอกชนที่จะต้องมองระยะยาวคิดให้ครบถ้วนมากที่สุดว่า รัฐต้องการให้เอกชนทำอะไรบ้าง ก่อนเปิดประมูล
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา