เริ่มเห็นทิศทาง Cashless Society อย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น ล่าสุดปตท.เป็นปั๊มน้ำมันรายแรกที่จับมือ KBank พัฒนา PTT e-Wallet ใช้ในสถานี ใช้จ่ายสินค้าบริการน้ำมัน และค้าปลีก เริ่มเปิดใช้ไตรมาส 4
รับพฤติกรรมการเงินยุคดิจิทัล
ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านเริ่มเห็นปั๊มน้ำมันปรับตัวเข้าสู่ยุคสังคมไร้เงินสดกันมาบ้างพอสมควร แต่ส่วนใหญ่เป็นการทดลองตลาด และยังไม่ครอบคลุมทุกสาขา แต่ล่าสุดปตท.ผู้เล่นรายใหญ่ของบริษัทน้ำมันได้ลงมาจับตลาดนี้ เป็นการพัฒนาแพลตฟอร์มให้ PTT e-Wallet ไว้ใช้ในการชำระเงินในปั๊มน้ำมัน
ปตท.เองมองทิศทางสำหรับปั๊มน้ำมัน Cashless มาได้ 5-6 ปีแล้ว แต่ในตอนนั้นเมืองไทยยังไม่พร้อมเท่าไหร่ จนในปีนี้ได้เริ่มพัฒนาการชำระเงินผ่าน QR Payment เริ่มเปิดให้บริการเดือนเมษายนที่สาขาบางนาแต่ใช้เฉพาะในร้านค้าปลีกในปั๊มเท่านั้น
หลังจากเปิดให้บริการได้ 2 เดือนก็พบว่าผู้บริโภคให้การตอบรับดี มีพฤติกรรมตอบรับกับการชำระเงินแบบนี้มากขึ้น โดยมียอดการใช้งานของ QR มีสัดส่วน 20% จากยอดการใช้จ่ายทั้งหมด
ทำให้ปตท.ต่อมาถึงการพัฒนาแอพพลิเคชั่น Wallet ซึ่ง PTT e-Wallet ได้ใช้เวลาพัฒนาร่วม 4-5 เดือน คาดว่าจะเปิดให้บริการเต็มรูปแบบช่วงไตรมาส 4 ในปีนี้ เหตุผลหลักที่ปตท.ต้องพัฒนา Wallet ขึ้นมาเพราะด้วยนโยบายจากทางภาครัฐ อีกทั้งยังสามารถลดความเสี่ยงเรื่องการจัดการเงินภายในสถานีด้วย
จิราพร ขาวสวัสดิ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจน้ำมัน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า
“เรื่องนวัตกรรมการเงินยุคดิจิทัลสะท้อนให้เห็นถูงพฤติกรรมการชำระเงินของผู้บริโภคที่มีแนวโน้มใช้เงินสดลดลง เข้าสู่ยุค Cashless Society ทางปตท.จึงปรับทัพธุรกิจค้าปลีกด้วยการเอาเทคโนโลยี PTT e-Wallet เข้ามา เพื่อรับกับความต้องการของผู้บริโภค”
ดึงมืออาชีพมาช่วยพัฒนาแอพ
แอพพลิเคชั่นนี้ได้พัฒนาร่วมกับ KBank ที่มีความเชี่ยวชาญในการพัฒนาแอพพลิเคชั่น K PLUS ใช้วิธีการประมูลหาผู้สนใจมาร่วมทำแอพนี้ ซึ่ง KBank สามารถชนะการประมูลนี้ได้ ซึ่งทางปตท.จำเป็นต้องหาพาร์ทเนอร์มาช่วยพัฒนาเพราะตัวเองไม่ถนัดด้านนี้โดยตรงถ้าทำเองอาจจะใช้เวลานานต้องขอใบอนุญาตเอยะเลยเลือกที่จะหามืออาชีพในวงการมาพัฒนาให้
ทาง KBank จะเข้ามาช่วยวางโครงสร้างการพัฒนาแอพพลิเคชั่นทั้งการออกแบบประสบการณ์ใช้งานให้ใช้งานง่าย เข้าถึงบริการต่างๆ ได้ครบ และออกแบบโครงสร้าง Wallet เชื่อกับแอพ K PLUS ซึ่งลูกค้า K PLUS สามารถสมัคร PTT e-Wallet ได้ง่าย และสามารถโอนเงินเข้า Wallet ได้ทันที รวมถึงออกแบบ API ให้เชื่อมต่อกับพันธมิตรอื่นๆ เพิ่มเติม เพิ่มโอกาสสร้างสิทธิประโยชน์ใหม่ๆ ในอนาคตอาจจะมีร้านค้าในชุมชนนำสินค้าเข้ามาจำหน่ายใน Wallet ได้ มีสัญญาร่วมกัน 3 ปี แบบเอ็กซ์คลูซีฟ หลังจากหมดสัญญาปตท.อาจจะบริหารเองต่อถ้ามีความพร้อม
สิ่งที่ปตท.จะได้จากการร่วมมือครั้งนี้ก็คือฐานลูกค้าของ K PLUS ที่มีกว่า 8.4 ล้านราย อาจจะเชื่อมต่อกันได้ เพราะทางปตท.เองมีฐานลูกค้าจากบัตร Blue Card 3 ล้านรายอยู่แล้ว
ใช้จ่ายในร้านค้าปลีก
การทำงานของ PTT e-Wallet คือเป็นทางเลือกในการชำระเงินดิจิทัล สามารถจ่ายเงินที่สถานีบริการน้ำมัน และร้านค้าปลีกในปตท. ได้แก่ ร้านคาเฟ่ อเมซอน, เท็กซัส ชิคเก้น, แด๊ดดี้โด, ฮั่วเซ่งฮง ติ่มซำ และร้านสะดวกซื้อจิฟฟี่ รวมถึงศูนย์บริการยานยนต์ฟิตออโต้ สามารถได้ประโยชน์จากการสะสมแต้ม PTT Blue Card เป็นการสร้างลอยัลตี้โปรแกรมอีกทางหนึ่ง ที่สำคัญปตท.ยังได้ดาต้าการใช้งานของลูกค้าด้วย
แอพนี้ยังไม่สามารถใช้ในปั๊มน้ำมันได้ แต่ใช้ในร้านค้าปลีกได้ เพราะติดปัญหาเรื่องกฎหมายที่ห้ามใช้โทรศัพท์มือถือในปั๊มน้ำมัน ต้องรอในอนาคตที่จะมีการเปลี่ยนแปลงกฎหมาย แต่จะมีบัตรที่เชื่อมต่อกับแอพในการใช้กับกับบริการน้ำมัน
ซึ่งปัจจุบันสัดส่วนการชำระเงินในส่วนของปั๊มน้ำมันของลูกค้ามีการใช้เงินสด 75% และบัตรเครดิต 25% ส่วนในร้านค้าปลีกมีการใช้ QR ในสัดส่วน 20%
หบังจากที่เปิดตัว PTT e-Wallet ช่วงไตรมาส 4 นี้ ทางปตท.คาดว่าในช่วงไตรมาสแรกจะมียอดผู้ใช้เพิ่มขึ้นเป็น 30% และจะมียอดการใช้ Cashless รวม 40% ใน 2 ปี เป็นการใช้ QR กับ Wallet
ในแต่ละวันมียอดผู้ใช้บริการปั๊มปตท.เฉลี่ยวันละ 1.2 ล้านคน ส่วนคาเฟ่ อเมซอน 1.2 แสนคน
สรุป
การขยับตัวครัง้นี้ของปตท.ทำให้เห็นว่าสังคมไร้เงินสดเริ่มเข้าไปทุกธุรกิจแล้ว แต่ปั๊มน้ำมันอาจจะมีข้อจำกัดอยู่บ้าง ต้องใช้เวลาในการทำตลาด และต้องใช้เวลาให้ผู้บริโภคเรียนรุ้ด้วย ต้องทำให้ผู้บริโภคเริ้มเปิดรับให้มากขึ้น
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา