เมื่อธุรกิจอาหารไม่ใช่แค่ทำเล่นๆ ในปีนี้ “สิงห์” ได้รุกตลาดนี้อย่างเต็มตัว เปิดบริษัทใหม่ “ฟู้ด แฟคเตอร์” โดยได้ทายาทอย่าง “ต๊อด ปิติ” มาบริหาร บอกเลยว่าทิศทางจะต้องมีตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำแบบครบวงจร
ไม่ได้มาเล่นๆ แต่สร้างอาณาจักรอาหาร
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาได้เห็นการปรับตัวของ “สิงห์ คอร์เปเรชั่น” อย่างรุนแรง มีการแตกไลน์ธุรกิจใหม่ๆ รับกับพฤติกรรมผู้บริโภค หนึ่งในนั้นคือธุรกิจอาหาร จุดเปลี่ยนที่สำคัญคือสิงห์ได้เข้าซื้อกิจการ HESCO เมื่อปี 2555 เป็นโรงงานผลิตขนมขึ้นรูป และอาหารแช่แข็ง ทำให้ทิศทางของสิงห์เริ่มมีสินค้าในกลุ่มอาหารมากขึ้น รวมถึงกลุ่มรีเทลที่เป็นร้านอาหารด้วย
แต่ปีนี้ทิศทางดูจะชัดเจนที่สุด มีการเปิดบริษัทใหม่ “ฟู้ด แฟคเตอร์” เพื่อรวมธุรกิจอาหารไว้ในบริษัทเดียว และลุยธุรกิจอาหารอย่างเต็มตัว โดยได้ทายาทคนเล็ก “ต๊อด ปิติ ภิรมย์ภักดี” ผู้มี Passion ในการทำอาหารอย่างเต็มเปี่ยมมาบริหารโปรเจ็คต์นี้
ต๊อดมองว่าธุรกิจอาหารจะเป็นจิ๊กซอว์ตัวสำคัญของสิงห์ในอนาคต เพราะเป็นธุรกิจที่มีการเติบโตอยู่ตลอด ไม่หยุดนิ่ง สำคัญคือต้องพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ออกมาสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง เพราการแข่งขันสูงเช่นกัน
“ธุรกิจอาหารของสิงห์มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้นเมื่อตอนต้นปี แต่ก่อนธุรกิจอาหารเป็นการแยกกระจัดกระจายไปแต่ละธุรกิจ ตอนนี้มีฟู้ด แฟคเตอร์เป็นบริษัทใหญ่ในการบริหารธุรกิจอาหาร รวมทุกขามาอยู่ในบริษัทเดียว ตอนนี้ธุรกิจอาหารไม่หยุดนิ่งเหมือนเก่า บริษัทใหญ่ๆ ก็มีแตกไลน์ธุรกิจอาหารมากขึ้น บริษัทเครื่องดื่มก็แตกไปธุรกิจอาหาร ส่วนธุรกิจอาหารก็แตกธุรกิจอาหารย่อยๆ ไปอีก ทุกคนพยายามเข้าถึงลูกค้ามากขึ้น ทำให้สิงห์ต้องปรับตัวรับกับตลาด”
เป้าหมายในการจัดตั้งฟู้ด แฟคเคอร์นั้น เพื่อตอบรับธุกกิจอาหารในเครือของสิงห์เอง และเพื่อรองรับกับลูกค้าภายนอก เป็นการขยายธุรกิจให้ใหญ่ขึ้น เป้าหมายคือต้องมีหน่วยธุรกิจรองรับตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ ซึ่งตอนนี้ได้มีครบแล้ว แต่ต๊อดต้องการพาร์ทเนอร์เพิ่มเติมอีก เพื่อเสริมธุรกิจให้แข็งแรง
ในพอร์ตของฟู้ด แฟคเตอร์จะแบ่งเป็น 3 ส่วนใหญ่ๆ ด้วยกัน
- ต้นน้ำ ส่วนของวัตถุดิบ มี “สิงห์ปาร์ค” ที่จังหวัดเชียงรายในการปลูกผักทั้งแบบออแกนิก และแบบนอน-ออแกนิก
- กลางน้ำ ส่วนของการแปรรูปอาหาร มี HESCO เป็นโรงงานแปรรูปอาหาร ผลิตอาหารแช่แข็ง และซอสตั้งต้น มีแผนทำ Food Valley ที่จังหวัดอ่างทองเป็นระดับนิคมอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นใน 2-3 ปี
- ปลายน้ำ ส่วนของรีเทลร้านอาหาร มีทั้งหมด 4 แบรนด์ รวมทั้งหมด 32 สาขา ได้แก่ Farm Design, Est.33, Star Chefs และ Kitaohji หลังจากที่มีการตั้งฟู้ดแฟคเตอร์ ก็มีการปรับเปลี่ยนหลายๆ อย่าง ปรับสูตร Farm Design จากเดิมที่ขายระดับแมส เลยฟื้นฟูทำให้เป็นโฮมเมดมากขึ้นมีความสดใหม่เป็นหัวใจสำคัญของเบเกอรี่
โตไปพร้อมพาร์ทเนอร์ ไม่กินรวบธุรกิจ
ถึงแม้ว่าตอนนี้ฟู้ด แฟคเตอร์จะมีหน่วยธุรกิจครบทั้งต้นน้ำถึงปลายน้ำ แต่ยังไม่พอ เพราในช่วงแรกสามารถตอบโจทย์ธุรกิจในเครือสิงห์ก่อน 80% แล้วอีก 20% เป็นลูกค้านอก เสต็ปต่อไปจะเริ่มหาลูกค้าใหม่ๆ ใช้ช่องทางของบุญรอดในการจัดจำหน่าย
“สิ่งที่ต้องทำเพิ่มตอนนี้คือ เติมพาร์ทเนอร์ในทุกอย่าง เพราะถ้าจะทำเป็น One Full Solution จะต้องมีครบทุกอย่าง ตอนนี้ตอบโจทย์แค่ของบุญรอดเท่านั้น แต่ต่อไปต้องออกไปหาลูกค้าข้างนอก เชื่อว่าการทำงานร่วมกันกับพาร์ทเนอร์จะทำให้แข็งแกร่ง และใช้ช่องทางของบุญรอดในการจัดจำหน่ายน่าจะเป็นสูตรสำเร็จที่ดีที่สุด”
ต๊อดบอกว่าตอนนี้มีคุยกับพาร์ทเนอร์ 5-6 เจ้า เป็นสินค้าที่เป็นที่รู้จัก รวมถึงพาร์ทเนอร์ที่ผลิตซอสสำหรับซอสต๊อดด้วย และพาร์ทเนอร์ในส่วนของวัตถุดิบหมูเห็ดเป็ดไก่ และซอสผงอยู่ เพื่อตอบโจทย์ธุรกิจที่หลากหลาย และให้วัตถุประสงค์แตกต่างกันไป
“สิ่งสำคัญคือ ต้องพัฒนาอยู่ตลอดไม่ว่าจะอาหาร หรือขนม เพราะคู่แข่งเยอะมาก มีเข้ามาในตลาดตลอด ถึงแม้เราจะเป็นบริษัทใหญ่ มีเครือข่ายในตลาดแต่ก็หยุดนิ่งไม่ได้ อยากให้มองวงจรในการทำอาหารต้องมีพาร์ทเนอร์ตั้งแต่หมูเห็ดเป็ดไก่ มีฟาร์มปลูกผัก ระดับแปรรูปในโรงงาน ในอนาคตมองถึงระดับนิคมอุตสาหกรรมที่ดึงพาร์ทเนอร์เข้ามาด้วย”
แผนอีกอย่างหนึ่งของฟู้ด แฟคเตอร์ก็คือ ตั้ง Food Innovation ศูนย์นวัตกรรมทางอาหารตั้งอยู่ที่ปทุมธานี ที่ไม่ได้ทำแค่ในเครือสิงห์อย่างเดียว แต่ช่วยพัฒนาสูตรอาหารให้ลูกค้าปรุงแต่งอาหาร คอยคิดค้นสูตรส่งให้โรงงาน แล้วไปปรับที่หน้างานให้ได้รสชาติที่ลูกค้าต้องการมากที่สุด
ลุยเรื่องดิสทริบิวเตอร์
สำหรับในช่วงครึ่งปีหลังนี้ฟู้ดแฟคเตอร์จะลงทุนหนักในเรื่อง “ดิสทริบิวเตอร์” เพื่ออาศัยเครือข่ายในการเจาะตลาดเอเชียให้มากขึ้น จากเดิมที่ใช้เครือข่ายของคนขายเบียร์ แต่ก็ไม่มากพอ ต้องไปให้มากกว่านั้น
“ถึงเราจะมีสินค้าดีแค่ไหน แต่ไม่มีช่องทางการขายก็เท่านั้น ที่ผ่านมาเรารู้จักตลาดเอเชียจากคนขายเบียร์ ซึ่งเขารู้จักแค่อาหารไทยเฉยๆ ไม่ได้รู้จักตลาดเอเชียทั้งหมด เราไม่ได้มองแค่ร้านอาหารไทยที่ขายเบียร์สิงห์ แต่เรามองตลาดเอเชียที่ไม่มีเบียร์สิงห์ขาย ต้องเข้าไปอยู่ตรงนั้นให้ได้
ตอนนี้เริ่มมีการคุยกับพาร์ทเนอร์ 4-5 เจ้า ใน 5-6 ประเทศ ซึ่งดีลเลอร์ใหม่จะดูเรื่องอาหาร และขนมกระจายเข้าตามร้านค้า ดิสทริบิวเตอร์ใหม่จะช่วยในการกระจายธุรกิจสู่เอเชีย และอาศัยเน็ตเวิร์กของเขากระจายไปประเทศอื่นๆ เพิ่มเติมด้วย เป็นการขยายแขนขาต่อไปเรื่อยๆ”
ซอสต๊อดเป็นเหมือนคราฟท์เบียร์
อย่างที่ทราบกันว่าต๊อดเองได้ลุยธุรกิจส่วนตัวด้านอาหารเช่นกัน เมื่อปีก่อนไปเปิดตัว “ซอสต๊อด” เป็นซอสพริกเอนกประสงค์ และในปีนี้ได้ทยอยเปิดสินค้าใหม่ออกมาเสริมพอร์ตอย่างต่อเนื่องทั้งน้ำจิ้มซีฟู้ด ซอสมะเขือเทศเผ็ด น้ำจิ้มลูกชิ้น ซอสกระเพรา ซอสผัดไท และน้ำสต็อกผัก
ต๊อดได้มั่นใจกับธุรกิจซอสมาก มองว่าเป็นธุรกิจที่มีการเติบโตสูง แถมยังพูดติดตลกอีกว่า “ผมจะขายบ้านมาลงทุนทำซอส” โดยได้มองว่าซอสต๊อดเป็นเหมือน “คราฟท์เบียร์” ที่ค่อยๆ เติบโต แต่ก็ต้องหาพาร์ทเนอร์รายใหญ่ในการผลิตต่อไปด้วย
“ซอสต๊อดเหมือนคราฟเบียร์ เป็นสตาร์ทอัพที่มีคาแรคเตอร์ ตัวสินค้ามีเอกลักษณ์ เป็นอนาคตของตลาด ตั้งแต่ทำซอสต๊อดมาได้มีโอกาสไปงานแฟร์ด้านอาหารมา 3 งาน เห็นช่องทางว่ามีแนวโน้มที่ดีมาก มั่นใจในธุรกิจนี้มาก ที่ผ่านมามีปัญหาที่แก้ไม่ตก เพราะแต่ก่อนใช้วิธีฝากเอเยนต์ขายเลยมีข้อจำกัดการขายอยู่ พอมีฟู้ด แฟตเตอร์ทำให้บริหารจัดการได้ไม่สะดุดแล้ว”
แผนต่อไปของซอสต๊อดคือ กำลังมองบริษัทใหญ่ๆ ที่จะไปร่วมทุน หรือเป็นพาร์ทเนอร์ในการผลิตซอส เพราะปัจจุบันได้จ้าง HESCO ผลิตอยู่ แต่ HESCO เองไม่ได้เป็นโรงงานผลิตซอสแบบ 100% มีกำลังการผลิตแค่ 30% เท่านั้น ต๊อดมองว่าถ้ามีพาร์ทเนอร์ที่เป็น Expert ด้านซอส ผลิตซอส 100% ต้นทุนมันต่างกัน เลยคิดว่าจะหาพาร์ทเนอร์เพิ่มเติม
ส่วนช่องทางจัดจำหน่ายตอนนี้มี 3 ระบบ 1. ระบบออนไลน์ผ่านเฟซบุ๊ก และ LINE@ สัดส่วน 80% ตัวแทนจำหน่าย 20% และโมเดิร์นเทรดเพิ่งเข้า Villa Market ไป และกำลังเข้าบิ๊กซีในอีก 2-3 เดือนข้างหน้า ซึ่งหลังจากเข้าบิ๊กซีแล้ว จะช่วยเพิ่มสัดส่วนช่องโมเดิร์นเทรดเป็น 50% ส่วนตัวแทนจำหน่ายจะเหลือ 10% ออนไลน์เหลือ 40%
ตอนแรกต๊อดได้มีแค่ 2 ระบบคือออนไลน์ และตัวแทนจำหน่าย เพราะต๊อดเติบโตมากับระบบเอเยนต์ เลยเชื่อใจในระบบเหล่านี้ และไม่สนใจเข้าโมเดิร์นเทรด แต่เมื่อเป็นธุรกิจอาหารช่องทางโมเดิร์นเทรดสำคัญมาก ทำให้ต๊อดเปลี่ยนใจนำซอสต๊อดเข้าโมเดิร์นเทรด
“ตอนแรกที่ไม่เข้าโมเดิร์นเทรดเพราะมีประสบการณ์ไม่ดีจากการขายเบียร์เท่าไหร่ แต่มองว่าธุรกิจอาหารน่าจะเหมาะกับโมเดิร์นเทรดมากกว่า มีโปรแกรมที่ช่วยสินค้าพวกนี้พอสมควร ต่างกับเบียร์ที่ไม่ค่อยสนับสนุน ต่อไปสินค้าจะเข้าโมเดิร์นเทรดทุกตัว”
ตอนนี้ฟู้ด แฟคเตอร์มีรายได้เริ่มต้นที่ 3,500 ล้านบาท ต๊อดบอกว่าถือเป็นระดับกลางๆ มองว่าอีก 3-5 ปี จะเอาบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ เพราะการแข่งขันสูงต้องเข้าตลาดเพื่อระดมทุน “อาหารแช่แข็งกำไรแค่ 2-3% พวกซอสยังดีหน่อยมีกำไร 10% เป็นกำไรที่เหนื่อย ต้นทุนสูง ไม่มีทางไหนที่ดีกว่าการลงทุนในตลาด”
ต๊อดได้ทิ้งท้ายว่า “ความท้าทายที่สุดตอนนี้คือ การมาทีหลังทำให้มีจุดยากหลายอย่าง จำเป็นต้องใช้เวลา ธุรกิจอาหารไม่แฟนซี ต้องทำให้สม่ำเสมอ และต้องทำให้มีมาตรฐานตามสิงห์”
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา