มองภาพรวมตลาดแรงงานไทยปี 61 ท้าทายทั้งผู้ประกอบการ และผู้สมัครงาน

การสรรหาทรัพยากรบุคคลในการเข้าทำงานมีความท้าทายเพิ่มขึ้นทุกปี เนื่องจากเทคโนโลยีที่เข้ามา ผู้ประกอบการต้องการพนักงานที่มีสกิลมากขึ้น ตัวผู้สมัครเองก็ต้องเพิ่มทักษะให้ตัวเอง ทำให้ตลาดแรงงานในไทยมีทั้งโอกาส และความท้าทาย

ภาพจาก Pixabay

ธุรกิจเกิดใหม่มาแรง

จ๊อบส์ ดีบี ประเทศไทย แพลตฟอร์มหางานรายใหญ่ในไทยได้ทำการสำรวจถึงภาพรวมการสรรหาบุคลากรในไทย ทำใน 7 ประเทศ ได้แก่ ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฮ่องกง เวียดนาม และประเทศไทย ครอบคลุมทั้งฝั่งผู้หางาน และฝั่งผู้ประกอบการใน 20 กลุ่มธุรกิจ

เผยความท้าทายในการสรรหาบุคลากรยังเข้มข้น ผู้หางานต้องเร่งเสริมทักษะที่หลากหลายมากขึ้น รับกระแสธุรกิจใหม่แจ้งเกิด

โดยแนวโน้มผลสำรวจสำหรับประเทศไทยยังเป็นบวกในฝั่งนายจ้าง ยังคงมองหาพนักงานคุณภาพที่มีทักษะสูงพร้อมขับเคลื่อนองค์กรด้วยเทคโนโลยี สอดคล้องกับแนวโน้มการเติบโตของตลาดงานในระดับภูมิภาค ส่วนด้านผู้หางานยังคงมีความกังวลต่อสถานการณ์จ้างงานอันเป็นผลจากการขาดทักษะในการทำงานที่หลากหลาย โดยที่ภาษาและเทคโนโลยียังเป็นปัจจัยท้าทายผู้หางาน

จุลเดช มัชฉิมานนท์ ผู้จัดการฝ่ายดูแลลูกค้าองค์กร บริษัท จัดหางาน จ็อบส์ ดีบี (ประเทศไทย จำกัด) ได้ให้มุมมองจากผลสำรวจภาพรวมตลาดงานจากตัวแทนผู้ประกอบการพบว่า

“50% ของผู้ประกอบการ คิดว่าจะมีแนวโน้มการจ้างงานมากขึ้นจากการขยายธุรกิจ และ 25% จะจ้างเฉพาะตำแหน่งงานที่จำเป็นเท่านั้น ช่วงเวลาที่มีความต้องการการจ้างงานมากที่สุดคือเดือนมกราคมซึ่งเป็นช่วงหลังจากรับโบนัสปลายปี และเดือนมิถุนายน โดยเป็นช่วงที่คนเรียนจบและเริ่มหางาน ประกอบกับลูกจ้างที่ได้รับโบนัสในช่วงไตรมาสแรกของปี

จากผลสำรวจในส่วนของผู้ประกอบการ พบว่า 5 อันดับธุรกิจที่เติบโตสูงสุดได้แก่

  1. ธุรกิจโฆษณา การตลาดและประชาสัมพันธ์
  2. ธุรกิจวิศวกรรมไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์และวิศวกรรมเครื่องกล
  3. ธุรกิจกิจไอที
  4. ธุรกิจอุปกรณ์ไฟฟ้า/อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์
  5. ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม

ในขณะที่ 5 กลุ่มธุรกิจที่มีการเติบโตของการลงโฆษณาประกาศหางานมากที่สุด

  1. ธุรกิจค้าส่ง ค้าปลีก
  2. ธุรกิจการผลิต
  3. ธุรกิจเทรดดิ้ง
  4. ธุรกิจไอที
  5. บริการด้านการเงิน

นอกจากนั้นแล้วธุรกิจทั้ง 5 กลุ่มนี้ยังมีอัตราความต้องการบุคคลากรเพิ่มมากที่สุดด้วยเช่นกัน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0

5 ตำแหน่งงานเฉพาะด้านที่มีความต้องการสูงสุดได้แก่

  1. พนักงานขายและพัฒนาธุรกิจ
  2. วิศวกร
  3. ธุรการและงานบุคคล
  4. เจ้าหน้าที่ไอที
  5. พนักงานการตลาดและประชาสัมพันธ์

ผู้หางานยังไม่มั่นใจในการสมัครงาน

ทางด้านของผู้สมัคงานนั้น วรวุฒิ วาริการ ผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท จัดหางาน จ็อบส์ ดีบี (ประเทศไทย จำกัด) เปิดเผยว่า

ผู้หางาน 53% ไม่มั่นใจว่าจะหางานได้ง่ายในปีนี้ เพราะมีความท้าทายหลายปัจจัย เนื่องจากผู้หางานต้องพัฒนาทักษะที่หลากหลาย ทั้งด้านการแข่งขันตามสายงานที่เข้มข้นขึ้น และด้านภาษา การปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรมองค์กรที่มีความแตกต่าง รวมถึงต้องเรียนรู้ด้านไอทีและโลกดิจิทัล ถึงแม้ตลาดงานจะมีตำแหน่งงานแต่การแข่งขันก็สูงขึ้นตามไปด้วย

โดยจากผลสำรวจผู้หางานมีมุมมองว่าธุรกิจปิโตรเลียมและธุรกิจยานยนต์มีการเติบโตรวมถึงมีอัตราผลตอบแทนสูง แต่ผลสำรวจพบว่าธุรกิจขายส่งและธุรกิจการผลิต ซึ่งเป็นธุรกิจพื้นฐานที่ขับเคลื่อนและพัฒนาประเทศชาติอย่างแท้จริงนั้นมีอัตราการเติบโตของการลงประกาศงานในจำนวนที่สูง รวมถึงปัจจัยเรื่องค่าตอบแทนและสิทธิประโยชน์ของพนักงานระดับบริหารที่น่าดึงดูดใจสร้างแรงจูงใจให้ผู้หางานปรับพฤติกรรมในการหางาน ด้วยการหางานอย่างจริงจังมากขึ้น

คำแนะนำสำหรับผู้ประกอบการและผู้สมัครงาน

องค์กรควรเสริมสร้างกลยุทธ์การสรรหาและรักษาพนักงานที่มีความสามารถ โดยผู้หางานต้องเตรียมตัวให้พร้อมกับการคัดเลือกที่มีความเข้มข้นมากขึ้น

ควรเตรียมความพร้อมทั้งในการสร้างและทดแทนผู้หางานที่มีความสามารถสูง ส่วนผู้สมัครงานต้องมีการพัฒนาศักยภาพและทักษะของตนเองให้มีความพร้อมอยู่ตลอดเวลา

พัฒนาการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพจะช่วยในการดึงดูดผู้หางาน ผ่านช่องทางสื่อสารออนไลน์ ในขณะที่ผู้หางานต้องเปิดรับข้อมูลการจ้างงานจากช่องทางที่หลากหลายมากขึ้น

สรุป

ตลาดแรงงานไทยในปัจจุบันมีความท้าทายรอบด้านทั้งตัวผู้ประกอบการ และตัวผู้สมัคร จำเป็นต้องมีการปรับตัวเพื่อให้ทันต่อความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เพราะทุกวันนี้เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทอย่างมาก อาจจะแย่งงานในอนาคตได้

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา