การพัฒนาบุคลากรด้วยทักษะใหม่ๆ เป็นวาระสำคัญที่หลายองค์กรให้ความสำคัญมากขึ้น โดยเฉพาะในยุคของ Digital Disruption ยิ่งต้องปรับตัวอย่างหนัก ครั้งนี้ได้พามาศึกษากลยุทธ์การบริหารคนของ AIS ที่ต้องรับมือกับการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน พร้อมสร้างสถาบัน AIS Academy เป็นแหล่งบ่มเพาะศักยภาพพนักงาน
ต้องทำตั้งแต่ยังแข็งแกร่ง
หลังจากที่ทาง “สมชัย เลิศสุทธิวงศ์” CEOของ AIS ได้ประกาศวิสัยทัศน์ครั้งใหญ่เมื่อกว่า 3 ปีก่อน ในการก้าวสู่การเป็น Digital Life Service Provider ยุทธศาสตร์ของ AIS ก็ไม่ได้หยุดนิ่งแค่การพัฒนาสินค้า บริการ และนวัตกรรม แต่ยังรวมไปถึงการพัฒนาบุคลากรที่ถือว่าเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กร
การพัฒนาบุคลากรได้เข้าไปสู่ทิศทางของ AIS ในการปรับตัวเข้าสู่ยุค Digital Disruption ความสำคัญคือพัฒนา Skill ให้รอบด้าน และมีพฤติกรรมที่อยู่กับโลกยุคดิจิทัล
กานติมา เลอเลิศยุติธรรม หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านทรัพยากรบุคคลบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส คือผู้อยู่เบื้องหลังโปรเจกต์การพัฒนาบุคคลากรในครั้งนี้ เมื่อครั้งได้ร่วมงานกับ AIS เป็นเวลา 3 ปี ซึ่งเข้ามาพร้อมกับโจทย์ใหญ่นี้พอดี
จุดเริ่มต้นของการปรับตัว ทาง AIS ได้มองว่าต้องเริ่มปรับตัวตั้งแต่ตอนที่สถานะของบริษัทยังแข็งแกร่ง ดีกว่าปล่อยให้เกิดความเสี่ยงแล้วค่อยมาปรับ
“Digital Disruption เป็นกลายเป็นคำที่นิยมพูดกันเยอะในช่วงปีนี้ และเป็นรูปธรรมมากขึ้น หลายองค์กรคุยเรื่องนี้
แต่ 70-80%ยังไม่รู้ทิศทางที่ชัดเจน AIS มีการปรับตัวให้อยู่ในบริบทของดิจิทัล ประเทศไทยยังโชคดีที่ไม่ถูกกระแสนี้กระแทกมากในขณะนี้ แต่ต้องปรับตัวให้ทัน ตอนนี้หากดูในต่างประเทศอาทิ จีน หรือสหรัฐอเมริกา พฤติกรรมคนเปลี่ยนไปใช้เทคโนโลยีมาเป็นส่วนประกอบในชีวิตมากขึ้น เช่น สังคมไร้เงินสดของจีน หรือการซื้อสินค้าออนไลน์แทนเดินห้าง คนปรับสภาพกันมากขึ้น”
การพัฒนาคนของ AIS เป็นการพูดถึง Next Gen เป็นคนที่มีพฤติกรรมดิจิทัล คลุกคลีอยู่กับโลกดิจิทัล โดยเมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา ได้มีการเร่งกระบวนการจัดทัพ ทำให้องค์กรเคลื่อนตัวเร็วขึ้นเมื่อก่อนพนักงานจะมีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านใดด้านหนึ่ง แต่ตอนนี้ต้องรู้รอบด้าน ทักษะต้องเปลี่ยน ต้องเพิ่มมากขึ้น
ปรับองค์กร แต่ไม่ได้ลดคน ต้องเพิ่ม Skill
ปัจจุบัน AIS มีพนักงานรวมทั้งหมด 12,000 คน ในการปรับเปลี่ยนองค์กรครั้งนี้อยู่ในบริบทที่ไม่ทิ้งคนดี ไม่มีการปรับลดคน เพราะธุรกิจมีการเติบโตอยู่ตลอดแต่พนักงานจำเป็นต้องมี Skill ใหม่และพร้อมตลอดในการปรับตัวในการทำงานในรูปแบบใหม่
กานติมาเล่าว่าตอนที่ทำการ Restructure ช่วงแรกมีทั้งคนเห็นด้วยและคัดค้าน เราจึงต้องเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา เพราะไม่มีสูตรสำเร็จ ความท้าทายเรื่องคนสำคัญที่สุด ต้องให้พนักงานหลุดจาก Comfort Zone กล้าลอง โดยมีพี่ๆ ที่มีประสบการณ์ ถ่ายทอดประสบการณ์ให้กับรุ่นน้อง
“แต่ก่อนการเรียนรู้ต้องฟังครูบอก มาถึงตอนนี้เป็นเรื่องของการทำอย่างไรให้คนแชร์ไอเดีย ทำให้คนที่ไม่รับการเปลี่ยนแปลงรู้สึกอึดอัด เพราะการพัฒนาคนไม่มีที่สิ้นสุด พรุ่งนี้อาจจะมีระบบใหม่ๆ ขึ้นมาอีก แต่พนักงานต้องมีความรู้รอบด้านมากขึ้น”
HR ต้องเป็น Business Partner ไม่ใช่คนดูแลหลังบ้าน
กานติมาเล่าอีกว่าการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ถือเป็นการ Disrupt ในส่วน HR หรือฝ่ายทรัพยากรบุคคลด้วยเช่นกัน ต้องสู้กับความเชื่อเดิมๆ ว่า HR เป็นผู้พิทักษ์ระเบียบ เป็นผู้ดูแลแบบแม่บ้าน วิธีการแก้ก็คือต้องให้ HR ปรับตัวเองเป็นหน่วยแรก อาทิทำงานแบบ Agile เป็น One Stop มีการปรับสู่คนรุ่นหม่ เพราะในอนาคตลักษณะงานประจำจะถูกแทนที่ด้วยดิจิทัล เช่น หลายอย่างเข้ามาแทนที่ ระบบการจดจำใบหน้าแทนการเช็คอินก็เป็นอีกตัวอย่าง ดังนั้นงานธุรการเกี่ยวกับการทำบัตรก็จะหายไปจากโลก
“ตอนนี้บริบทของ HR ต้องเป็น Business Partnerกับองค์กร ต้องเข้าใจบริบทและทิศทางของธุรกิจ ปัญหาหลักก็คือ HR มักมองตัวเองว่าเป็นงานหลังบ้าน คอยดูแลความเรียบร้อยให้องค์กร แต่จริงๆ คือตัวขับเคลื่อนในการทรานฟอร์ม ที่ดีจริงๆ คือ HR และต้องรับความจริงว่าบ่อยครั้งมักพบว่า HR มีความภักดีกับองค์กรสูงแต่ มักเป็นหน่วยที่เปลี่ยนแปลงช้าเพราะติดกัปดักความคุ้นเคย จึงต้องกระตุ้นทำให้ก้าวข้ามและยอมรับการเปลี่ยนแปลงให้ได้ จึงจะไปรอด”
เปิดแพลตฟอร์ม AIS Digi แหล่งเรียนรู้บนโลกดิจิทัล
AIS ได้พัฒนา Digital Learning Platform ขึ้นมา เพื่อให้พนักงานคุ้นชินกับการใช้ชีวิตบนดิจิทัล การเรียนรู้การอบรมอยู่บนโลกดิจิทัล ใช้ชื่อว่า ‘AIS Digi’ ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มการเรียนรู้ในโลกออนไลน์ที่เปิดโอกาสให้พนักงานทุกระดับชั้นเข้ามาเรียนรู้, ค้นคว้า และทำกิจกรรมที่น่าสนใจหลากหลายรูปแบบ ผ่านแอปพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือ เป็นการทลายข้อจำกัดเรื่องเวลาและสถานที่ลงไป
มีการแบ่งกิจกรรมย่อยออกเป็น 3 หมวด ได้แก่ AIS Learn Di เแหล่งการเรียนรู้นอกเวลางาน ทุกคนสามารถล็อคอินเข้ามาใช้งาน เลือกเรียนสิ่งที่ตัวเองสนใจได้เอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเทคโนโลยี, นวัตกรรมต่างๆ หรือความรู้รอบตัวที่สามารถนำไปประยุกต์ในงานและชีวิตประจำวันได้ ซึ่งในแต่ละบทเรียน จะออกแบบให้มีระบบการประเมินผลที่ช่วยให้ผู้เรียนได้ทบทวนความเข้าใจ เพื่อต่อยอดนำไปสู่การใช้งานจริง
ต่อมา AIS Read Di ทำหน้าที่เป็นห้องสมุดออนไลน์ ให้พนักงานได้ค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติมได้ง่าย และสะดวกยิ่งขึ้น พร้อมด้วยฟังก์ชันเลือกดูหนังสือที่น่าสนใจ และยืมหนังสือจากห้องสมุดขององค์กร สุดท้าย AIS Fun Di รวบรวมกิจกรรมหลากหลายรูปแบบที่สร้างสรรค์ โดยกำหนดให้มีระบบการสะสมแต้ม ภายใต้เงื่อนไขการเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ที่บริษัทกำหนด เพื่อนำมาแลกของรางวัลที่ต้องการได้ ไม่ว่าจะเป็น บัตรที่พักโรงแรม หรือตั๋วเครื่องบิน เป็นต้น
ปั้น AIS Academy แหล่งบ่มเพาะศักยภาพพนักงาน
ที่ผ่านมา AIS ได้คิดโปรเจกต์ AIS Academy เป็นเวลากว่า2 ปี และเพิ่งเปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อไม่นานนี้ โดยได้ออกแบบพื้นที่สร้างสรรค์ด้านนวัตกรรมให้กับพนักงานอย่างเต็มที่ เน้นให้เกิดการใช้ความคิดสร้างสรรค์อย่างอิสระ ใครที่สนใจหรืออยากเป็น StartUp ก็มีเวทีให้ประชันความคิด ออกแบบธุรกิจใหม่ๆ และส่งเสริมให้เกิดการใช้งานจริงในอนาคตได้
รวมทั้ง ยังได้ออกแบบหลักสูตร ACT (AIS Creative Talent) เป็นกิจกรรมสำหรับพนักงานทุกระดับ ให้ได้แสดงออกใช้ความคิดสร้างสรรค์ เปิดรับแรงบันดาลใจจากผู้เชี่ยวชาญในวงการต่างๆ ของประเทศไทย
“เรามีความเชื่อมั่นว่าบุคลากรของ AIS มีความพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเอง นิยามของคนรุ่นใหม่ของเรา ไม่ได้จำกัดเพียงแค่อายุ วุฒิการศึกษา หรือระยะเวลาการทำงาน แต่จะแสดงออกด้วยความคิดและการลงมือทำ ด้วยความหลากหลายของคนที่มีความรู้ มีศักยภาพจุดแข็งแตกต่างกัน มีความหลากหลายทางความคิด คอยช่วยเหลือผลักดันองค์กรให้เดินหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด”
ยกระดับศักยภาพบุคลากรสู่ระดับสากล
นอกจากนี้ AIS โดยสถาบัน AIS Academy ยังได้จับมือกับมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลก เพื่อยกระดับมาตรฐานการบริหารจัดการและพัฒนาศักยภาพของบุคลากรภายในองค์กรให้ทัดเทียมกับนานาชาติระดับสากล โดยล่าสุด ด้วยความร่วมมือกับ SEAC จึงได้รับการตอบรับจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด สหรัฐอเมริกาให้เป็นองค์กรเดียวในภาคธุรกิจโทรคมนาคมของประเทศไทย ร่วมศึกษาและพัฒนาเเนวทางการแก้ไขปัญหาเรื่อง Digital Disruption ว่าจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจโทรคมนาคม และภาคเอกชนของประเทศอย่างไร เพื่อเร่งเสริมศักยภาพและความพร้อมในการรับมือกับ Digital Disruption อย่างเป็นระบบ
ซึ่งก่อนหน้านี้ ได้เคยร่วมกับมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก อาทิ สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเส็ทส์ (MIT)ประเทศสหรัฐอเมริกา, Harvard Business School และ มหาวิทยาลัย Manchester จากสหราชอาณาจักรเพื่อร่วมเปิดโลกทัศน์และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ความรู้ใหม่ๆ กับผู้เชี่ยวชาญที่เข้าร่วมหลักสูตรจากประเทศชั้นนำทั่วโลก
สรุป
Digital Disruption กลายเป็นวาระที่หลายองค์กรพูดถึง ไม่ใช่แค่การปรับตัวเรื่องสินค้าบริการ หรือนวัตกรรมเพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมไปถึงการพัฒนาคนซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กร ซึ่งAIS ในฐานะองค์กรใหญ่ทางด้านโทรคมนาคม
ทำให้เห็นอย่างชัดเจนว่า การบริหารคนอย่างมีเป้าหมายและการปรับตัวรับกับการเปลี่ยนแปลงให้ทันต่อสถานการณ์
จะนำไปสู่การเติบโตขององค์กรที่ยิ่งใหญ่ต่อไปได้ในอนาคต
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา