ในขณะที่หนังภาคต่ออย่าง Avengers: Infinity War ของจักรวาล Marvel ดังเป็นพลุแตก จ่อขึ้นแท่นหนังทำเงินหลัก 2 พันล้านดอลลาร์เป็นเรื่องที่ 4 ของโลก คำถามคือทำไมหนังภาคต่ออย่าง Han Solo ของจักรวาล Star Wars ถึงได้กลายเป็นหนังทำเงินยอดแย่ไปเสียได้
เราไปดู 5 เหตุผลว่าทำไม Solo: A Star Wars Story ถึงไม่ปังในด้านรายได้
หนังภาคต่อในจักรวาล Star Wars ที่เล่าเรื่องในอดีตของ Han Solo มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า Solo: A Star Wars Story ล้มเหลวในด้านรายได้
หลังจากเปิดตัวได้ 4 วัน ทำรายได้ไปเพียง 103 ล้านดอลลาร์ พอจบ 2 สัปดาห์รายได้ทั้งหมดอยู่ที่ 148.9 ล้านดอลลาร์เท่านั้น ทำรายได้ตกต่ำกว่าสัปดาห์แรกถึง 65% เรียกได้ว่าเป็นหนังในจักรวาล Star Wars ที่ล้มเหลวในด้านรายได้อย่างเป็นทางการ ล่าสุด ทำรายได้ทั่วโลกไปเพียง 264 ล้านดอลลาร์เท่านั้น นอกจากนั้นยังถือเป็นหนังภาคต่อของ Star Wars เรื่องแรกหลังจากที่ถูก Disney ซื้อมา และทำรายได้ตกต่ำถึงเพียงนี้
ในด้านงบประมาณหนังเรื่อง Han Solo ลงทุนในการผลิตอยู่ที่ประมาณ 250 ล้านดอลลาร์ ซึ่งถือว่าเป็นต้นทุนการผลิตที่สูง เพราะถ้าเทียบแล้วจะพอๆ กับ Avengers: Age of Ultron ที่เข้าฉายในปี 2015 ใช้ต้นทุนในการผลิตอยู่ที่ 250 ล้านดอลลาร์ แต่ทำรายได้ทั่วโลกไปถึง 1,400 ล้านดอลลาร์แล้วในปัจจุบัน (รายได้ต่างกันลิบลับ)
- ลองมาตอบคำถามที่ว่า ทำไมหนัง Han Solo ถึงไม่สามารถทำรายได้เป็นกอบเป็นกำ ลองมาดูเหตุผลกันทีละข้อ
เหตุผลที่ 1: ยัดเยียดให้ดูถี่เกินไป
ถ้าย้อนกลับไปดูหนังภาคต่อของจักรวาล Star Wars ในส่วนของไตรภาคเดิมก็ออกฉายทุกๆ 3 ปี (1997, 1980 และ 1983) หรือถ้าไปดูภาค Return of the Jedi กับ The Phantom Menace ที่อยู่ในไตรภาคต้นก็ฉายห่างกันถึง 16 ปี
ในขณะที่ Han Solo เข้าโรงฉายถัดจาก The Last Jedi เพียง 5 เดือนเท่านั้น จึงไม่แปลกที่ผู้ชมจะรู้สึกว่าได้ท่องอวกาศบ่อยและถี่เกินไป นี่คือหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้หนังเรื่องนี้ไม่ปังอย่างที่คิด
เหตุผลที่ 2: บางเรื่องที่เป็นตำนานไม่ต้องเสียเวลาเล่าหมดก็ได้
ในเรื่อง Han Solo เป็นการเล่าเรื่องย้อนไปในอดีต โดยมีการเล่าถึงตัวละครอย่าง Lando และเส้นทาง Kessel Run ที่เรียกได้ว่าเป็นเรื่องราวในตำนาน แต่จะดีกว่าไหม ถ้าหนังนำเสนอการเผชิญหน้ากับปัญหาต่างๆ ของ Han กับ Chewbacca เพราะนี่คือสิ่งที่ผู้ชมในวงกว้างอยากรู้มากกว่า
USA Today เสนอว่า หนังเรื่อง Indiana Jones and the Last Crusade ก็ใช้เวลาเพียง 12 นาทีเท่านั้นในการเล่าเรื่องในวัยเด็กของตัวละครเอก หลังจากนั้นหนังก็พาผู้ชมเข้าสู่การผจญภัยในเส้นเรื่องหลัก
เหตุผลที่ 3: พากลับไปอดีต ไม่น่าสนใจเท่ากับจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคต
หนัง Han Solo เป็นการเล่าเรื่องในอดีต พาผู้ชมย้อนกลับไปในอดีต แตกต่างจาก 2 เรื่องที่ฉายก่อนหน้าอย่าง The Force Awakens และ The Last Jedi ที่ทำให้ผู้ชมต้องติดตามเรื่องราวในอนาคตต่อไปว่าจะเกิดอะไรขึ้น
จริงๆ แล้วหนังภาคต่อที่แยกออกมามีเพียง Rogue One ที่ทำรายได้ได้อย่างน่าพอใจ เพราะโกยรายได้ทั่วโลกไปถึงหลัก 1 พันล้านดอลลาร์ ส่วนอีกเรื่องที่เป็นภาคแยกออกมาอย่าง Obi-Wan Kenobi and Boba Fett ที่จะฉายในปี 2020 ก็เป็นไปได้ว่าอาจไม่ได้ทำรายได้ถล่มทลายเช่นเดียวกับหนัง Han Solo
เหตุผลที่ 4: เลือกเดือนฉายผิด จริงๆ ควรจะเป็นช่วงคริสต์มาส
จริงอยู่ที่เดือนพฤษภาคมเป็นเดือนแห่ง Star Wars แต่อย่าลืมว่าในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันนี้ มีหนังฮีโร่ออกฉายใกล้ กันถึง 2 เรื่องคือ Deadpool 2 และ Avengers: Infinity War ในขณะที่ก่อนหน้านี้ หนังแฟรนไชส์ของ Star Wars ที่ประสบความสำเร็จในด้านรายได้ต่างออกฉายในโรงภาพยนตร์ในเดือนธันวาคมทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น Force Awakens, Rogue One และ Last Jedi
ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่ไม่ดีเท่าไหร่ในการเข้าฉายของ Han Solo เพราะถ้าย้อนไปดูความสำเร็จในอดีต หนังที่ทำเงินอันดับ 1 ตลอดกาลของโลกในปัจจุบันอย่าง Avatar ก็ยังเลือกฉายในโรงภาพยนตร์ช่วงเทศกาลคริสต์มาสเลย
เหตุผลที่ 5: ผู้ผลิตกังวลกับการวางบทให้ตัวละคร
หนังภาคต่อในจักรวาล Star Wars อย่าง The Last Jedi เป็นเสมือนจุดเปลี่ยนสำคัญของแฟนคลับจำนวนไม่น้อยก็ได้ก้าวข้าม Luke Skywalker ไปสู่ตัวละครใหม่ๆ หรือแฟนคลับอีกพวกที่ถึงกับแบนตัวละครอย่าง Han Solo ดูได้จากแฮชแท็ก #BoycottSolo บนโซเชียลมีเดีย
USA Today มองว่า แม้จะเกิดการแบ่งพรรคแบ่งพวกของแฟนคลับ แต่สิ่งสำคัญที่ผู้ผลิต Star Wars ต้องคำนึงในการสร้างภาพยนตร์คือการมุ่งมั่นหาไอเดียในการเล่าเรื่องใหม่ๆ ให้กับหนัง ไม่ควรไปสนใจว่าจะมีคนรักหรือเกลียดตัวละครใดตัวหนึ่งเป็นพิเศษ ต้องอย่าให้ความเห็นของผู้ชมมากระทบต่อการวางบทให้ตัวละครมาจนเกินไปนัก
- อย่างไรก็ตาม แม้หนังเรื่องนี้จะไม่สามารถโกยรายได้เป็นกอบเป็นกำ แต่ในแง่การวิจารณ์ก็ถือว่าได้รับคะแนนอยู่ในเกณฑ์ดี
ข้อมูล – USA Today, Vanity Fair
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา