สรุป 4 ประเด็น นักลงทุนกังวลเกี่ยวกับอนาคต Tesla ว่ามีโอกาสต้องหาเงินทุนเพิ่มสูงมาก

แม้ว่าปัจจุบัน Tesla จะมีราคาหุ้นพุ่งมาตั้งแต่ช่วง IPO ในปี 2010 แล้วถึง 1.5 เท่า แต่ว่า Tesla ยังคงดำเนินธุรกิจแบบขาดทุนมาตลอด รวมถึง Model 3 ที่ยังเจอปัญหาในสายการผลิตอยู่เรื่อยๆ และแม้บริษัทยืนยันว่าไม่ต้องเพิ่มทุน แต่นักลงทุนกลับไม่คิดเช่นนั้น

ภาพจาก Shutterstock

ทีมงาน Brand Inside จะนำประเด็นที่ Business Insider ได้สรุปมา พร้อมให้ความเห็นเพิ่มเติมที่เกี่ยวข้องกับ Tesla ดังนี้

ข้อแรก Tesla เผาเงินสดอย่างบ้าคลั่ง

ในรายงานไตรมาสแรกของปีนี้ Tesla รายงานถึงการเผาเงินสดถึง 1.1 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งแม้ว่าจะน้อยกว่าในไตรมาสก่อนหน้าที่ 1.4 พันล้านดอลลาร์ แต่ Bloomberg ลองคำนวณเป็นต่อนาทีแล้วเท่ากับว่า Tesla เผาเงินสดถึง 7,430 ดอลลาร์ต่อนาทีเลยทีเดียว!

นักวิเคราะห์คาดว่า Tesla น่าจะเหลือเงินสดในมือเพียง 2.7 พันล้านดอลลาร์ในวันสิ้นไตรมาสเท่านั้น ดังนั้นถ้าเกิด Tesla ยังเผาเงินสดต่อไปอย่างบ้าคลั่งแบบที่ทำมาอยู่ประจำโดยไม่รีบแก้ปัญหาการผลิตให้เสร็จโดยเร็ว การหาเงินทุนเพิ่มของบริษัทคงจะเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

ข้อสอง Tesla บอกไม่ต้องเพิ่มทุน แต่นักลงทุนไม่คิดเช่นนั้น

Tesla บอกไว้ในรายงานเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมาว่า ทางบริษัทไม่ต้องเพิ่มทุนหรือสร้างหนี้เพิ่มขึ้นในปีนี้จากวงเงินปกติ และ Elon Musk ก็ย้ำอีกว่า Tesla จะมีกำไรและมี cash flow เป็นบวกในไตรมาส 3-4 ปีนี้ และไม่ต้องเพิ่มทุน

แต่ว่า Goldman Sachs โดยนักวิเคราะห์ David Tamberrino เคยกล่าวกับลูกค้าว่า Tesla จะต้องการเงิน 1 หมื่นล้านดอลลาร์ภายใน 18 เดือนนี้เพื่อให้บริษัทยังคงอยู่รอดต่อไปได้ ซึ่งเขาเชื่อว่าเงินเหล่านี้ Tesla อาจจะต้องหามาจากหลายทาง ไม่ว่าจะเป็นการออกหุ้นกู้, หุ้นกู้แปลงสภาพ หรือเพิ่มทุน

ส่วน Colin Langan นักวิเคราะห์จาก UBS ทำนายว่า Tesla น่าจะต้องการเงินทุนเพิ่มในไตรมาส 4 ปีนี้

Tesla ถือเป็นบริษัทที่มีหนี้สูง และนับว่าสูงมากเมื่อเทียบกับบริษัทในดัชนี S&P500 โดยปัจจุบัน อัตราส่วนหนี้สินต่อ EBITDA ของ Tesla อยู่ที่ราว 39 เท่า หรือถ้าคิดอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของทุนอยู่ที่ 5.12 เท่า

ราคาหุ้นกู้ของ Tesla ร่วงลงกว่า 9% ในปีนี้ อยู่ที่ 87.18 เซ็นต์ต่อดอลลาร์ในต้นเดือนเมษายนหลังจากที่บริษัท Moody’s ปรับลดความน่าเชื่อถือของ Tesla ลง จาก B3 เหลือ Caa1 โดยปัจจุบันดอกเบี้ยหุ้นกู้ Tesla ที่มีกำหนดครบอายุในปี 2025 อยู่ที่ 7.61% สูงจากอัตราเดิม 5.4% ในระยะเวลาอันสั้นหลังจากที่ออกหุ้นกู้มาเท่านั้น ซึ่งหมายความว่าถ้า Tesla ต้องการเงินทุนจากตลาดตราสารหนี้ ค่าใช้จ่ายจะสูงกว่าที่เคยเป็นในอดีตมาก

ข้อสาม นักวิเคราะห์บอกงานประกาศผลประกอบการที่ผ่านมา “แปลกที่สุด”

ผู้บริหารของ Tesla รวมถึงซีอีโอ Elon Musk ได้ตอบคำถามในงานประกาศผลประกอบการ โดยตอนนั้นมีนักวิเคราะห์ไปร่วมฟังด้วยเป็นจำนวนมากเนื่องจากเขาต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเงินของ Tesla จากปากผู้บริหารโดยตรง

Adam Jonas นักวิเคราะห์จาก Morgan Stanley ให้ความเห็นว่าการประชุมครั้งนี้ไม่ปกติเลยตลอดอายุงาน 20 ปีของเขา ซึ่งแม้ว่า Musk จะตอบคำถาม Jonas เกี่ยวกับโอกาสในการเพิ่มทุน แต่เขากลับมีความอดทนในการตอบคำถามอื่นที่ไม่ดีเอาเสียเลย บางครั้งก็พูดว่า “น่าเบื่อ คำถามโง่ ๆ ไม่เจ๋งเลย คำถามต่อไปเลย” แน่นอนว่าคำถามของนักวิเคราะห์หลายคนก็ไม่ได้รับคำตอบจากผู้บริหาร ในครั้งนั้นทำให้หุ้นของ Tesla ร่วงลงถึง 7% ทันที

Rebecca Lindland นักวิเคราะห์จาก Kelley Blue Book บอกว่า ผิดหวังกับการประชุมครั้งนี้ และ Elon Musk ควรจะโตได้แล้ว เลิกสนใจอะไรที่มันดูเปล่งประกายและกลับมาสู่หนทางที่ควรจะเป็นบ้าง ตอบคำถามนักวิเคราะห์รวมถึงนักวิเคราะห์อาวุโสด้วย ไม่ใช่ตอบแต่พวกแฟนบอยหรือนักวิเคราะห์รายย่อยทั่วไป

ข้อสี่ ผู้บริหารอาจจะเหนื่อยหน่ายกับปัญหาการผลิต

Elon Musk ซีอีโอ Tesla ยังคงยืนยันว่า Model 3 จะต้องผลิตได้ 5 พันคันต่อสัปดาห์ ซึ่งเขาคาดว่าจะทำให้ได้ในเดือนกรกฏาคมนี้ แต่จากที่ Bloomberg ทำนายล่าสุดพบว่ายังห่างจากเป้าหมายอีกยาวไกลมาก คือยังทำได้ไม่ถึงครึ่งเลยด้วยซ้ำ

นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องผู้บริหารระดับสูงของ Tesla ลาออกอีก 9 คนในปีนี้ และหากนับว่า Tesla ยังมีข่าวไม่ดีอยู่เป็นประจำ ประเด็นที่ผู้บริหารระดับสูงทยอยลาออกกันคงไม่ใช่เรื่องดีแน่ ๆ

ประเด็นยังไม่จบแค่ที่ผู้บริหารลาออกเท่านั้น เพราะว่าอดีตพนักงานก็ยังคงออกมาแฉเรื่องราวของ Tesla อยู่เรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นโรงงานที่ไม่ได้มาตรฐานความปลอดภัย แถมยังปกปิดข้อมูลการบาดเจ็บของคนงาน หรือว่าโรงงานพ่นสีของ Tesla ก็เคยไฟไหม้หลายครั้งแต่ปิดข่าว ทั้งยังมีข่าวเรื่องการเหยียดต่าง ๆ ในสถานที่ทำงาน ซึ่งแม้ว่า Tesla จะปฏิเสธข่าวทั้งหมด แต่กว่าจะชัดเจนได้ว่าปัญหาเกิดขึ้นจริงหรือไม่คงจะต้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปตรวจสอบโรงงานของ Tesla เท่านั้น

แม้ว่า Model 3 จะเริ่มส่งมอบให้ลูกค้าบ้างแล้ว แต่ด้วยปัญหาสายการผลิตทำให้ Tesla ยังไม่สามารถส่งมอบรุ่นราคาถูกสุด 35,000 ดอลลาร์ได้ โดย Elon Musk ตอบว่าถ้าส่งมอบรุ่นนั้นอาจทำให้ Tesla เจ๊งได้เลย

สรุป

ปัญหารุมเข้าของ Tesla ยังคงดำเนินต่อไป หากจะหาเงินทุนเพิ่มอีกก็คงไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะค่าใช้จ่ายคงจะสูงขึ้นจากอันดับเครดิตหุ้นกู้ที่ลดลงจากการจัดอันดับของ Moody’s

หนทางเดียวที่จะทำให้ Tesla พ้นจากวิกฤตนี้คือซีอีโอ Elon Musk และผู้บริหารทั้งหมดต้องตั้งใจแก้ปัญหาการผลิตให้ Model 3 สามารถผลิตตามเป้าให้ได้เร็วสุดโดยที่โรงงาน Tesla จะต้องรักษามาตรฐานความปลอดภัยต่างๆ ให้ได้ด้วย

Tesla ใกล้ต้องรายงานยอดส่งมอบรถยนต์ประจำเดือนพฤษภาคม และนักลงทุนน่าจะจับตามองเพื่อดูว่ายอดการผลิต Model 3 คืบหน้าหรือไม่ อย่างไร

ที่มา – Business Insider, Nasdaq

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

คอลัมนิสต์ Brand Inside ผู้สนใจเรื่องของบริษัทเทคโนโลยี, ตลาดเงินตลาดทุน รวมถึงด้านธนาคาร และการปรับตัวด้านเทคโนโลยีมาใช้ของบริษัทต่าง ๆ