ท่ามกลางกระแส Startup ขาขึ้นอย่างที่ทุกคนเห็น มี Startup หน้าใหม่เกิดขึ้น ประเมินคร่าวๆ แล้วคาดว่ามีเป็นหลักพันราย ทำให้ Brand Inside ติดต่อนัดสัมภาษณ์ ธนพงษ์ ณ ระนอง ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ ส่วนงานบริษัทร่วมทุน บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ InVent ในฐานะที่เป็นหนึ่งใน VC รายใหญ่ของไทยที่มีการดำเนินการมาเข้าสู่ปีที่ 5 และยังดำรงตำแหน่งเป็นนายกสมาคมไทยผู้ประกอบธุรกิจเงินร่วมลงทุน เพื่อพูดคุยเกี่ยวกับสถานการณ์ของ Startup ไทยในปัจจุบัน และทิศทางในอนาคต
อย่างที่หลายคนรู้ว่า InVent เน้นลงทุนในระดับ Series A และ B เป็นหลัก ปัจจุบันมี Startup 2 ราย ที่ InVent สามารถ Exit ได้แล้ว คือ Computerlogy และอีกหนึ่งรายที่เพิ่ง Exit ไป แต่ยังไม่ขอเปิดเผยชื่อ จากทั้งหมด 9 รายที่ลงทุนไปในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา และกำลังอยู่ระหว่างการเจรจากับ Startup อีก 2 ราย เพื่อเข้าลงทุน แค่เกริ่นเริ่มต้นก็เข้มข้นแล้ว ดังนั้นมุมมองต่อ Startup ในฐานะของนักลงทุนต่อไปนี้จึงน่าสนใจอย่างยิ่ง
ไม่มี Exit ไม่มี Success Case กระทบเชื่อมั่นนักลงทุน
สำหรับคลื่นลูกแรกที่ประสบความสำเร็จ เช่น Ookbee, Wongnai และaCommerce และ คลื่นลูกที่ 2 เช่น Omise ที่สามารถขึ้นไปถึงระดับ Series B กันแล้ว ซึ่งStartupที่กล่าวมามีจุดที่เหมือนกันคือ สามารถครอง Market share ในประเทศ และออกไปทำตลาดต่างประเทศได้ ทำให้มูลค่าของบริษัทสูงขึ้น เป็นที่สนใจของนักลงทุน
แต่อย่างไรก็ตาม ยังถือไม่ได้ว่าประเทศไทยมี Success Case ที่ชัดเจนเกิดขึ้น คือยังไม่มี Startup ที่สามารถ Exit ใหญ่ๆหลายๆ เท่า ได้ ซึ่งในระยะยาวจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน เพราะการลงทุนใน Startup ต้องการผลตอบแทน โดยเฉพาะกลุ่ม Angel Investor ที่ให้เงินก้อนแรกแก่ Startup และหวังผลตอบแทนจากการ Exit เงินส่วนนี้อาจจะลดลง หรือหายไปในอนาคต ถ้ายังไม่มี Exit Case ที่ประสบความสำเร็จให้เห็นในระยะเวลาอันใกล้
จบคลื่น Startup ลูกแรก ยังไร้ Startup คลื่นลูกใหม่
คุณธนพงษ์ บอกว่า เรื่องของ Startup คลื่นลูกใหม่เป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วงมาก ตอนนี้นอกจากกลุ่มคลื่นลูกแรกและลูกที่ 2 อย่างที่กล่าวไปแล้ว ในคลื่นลูกที่ 3 หรือ 4 ยังฝุ่นคลุกอยู่ มองไม่เห็น Startup ที่มีความโดดเด่นอย่างชัดเจน ซึ่งเวลานี้ Startup ยังเป็นกระแสขาขึ้นในประเทศไทย ภาพรวมจึงยังดีอยู่ แต่ในระยะยาวไม่เป็นผลดีเลย เราต้องเร่งหา ดาวรุ่งดวงใหม่ๆมาทดแทนรุ่นพี่ๆ และควรเร่งให้รุ่นพี่ๆได้ Exit และกลับมาช่วยน้องๆทำ Startup ตัวใหม่ ซึ่งทางออกของเรื่องนี้คือ ต้องสนับสนุน Startup ใหม่ให้เติบโตขึ้นอย่างมีคุณภาพ ซึ่งในปัจจุบันมีโครงการ Incubator และ Accelerator ที่มีคุณภาพอยู่หลายโครงการ จะต้องช่วยกันปรับปรุงและเตรียมความพร้อมอย่างจริงจังให้แก่ Startup ทั้งด้านการดำเนินธุรกิจและการระดมทุน
แนะ VC ที่จะลงทุน Startup ต้องเข้าใจว่า VC รอบถัดไปต้องการอะไร
สำหรับ InVent การลงทุนใน Startup เป็นการลงทุนระยะยาว ให้เวลาประมาณ 5 ปีต้อง Exit ให้ได้ และจากนโยบายที่เน้นลงทุนในระดับ Series A ขึ้นไป Startup ต้องสามารถระดมทุนใน Series B ให้ได้เป็นอย่างน้อย ดังนั้นการตัดสินใจลงทุนในแต่ละครั้งจึงมีความสำคัญมาก ต้องดู Founders ให้ออกว่า มีความสามารถจริง ตัวธุรกิจมีมูลค่าและมีโอกาสเติบโตสูงพอที่จะไปถึง Series B หรือ C ได้
ดังนั้น ส่วนสำคัญคือ VC ต้องเข้าใจการลงทุนของ VC ด้วยกัน ซึ่งที่ผ่านมานักลงทุนในประเทศไทยยังขาดส่วนนี้
“VC ในรอบ Seed round ต้องคุยกับ VC ในรอบ Series A ว่าต้องการ Startup ด้านไหน ต้องมีการวัด Metrics ที่สำคัญว่า Startup จะต้องทำอะไรให้สำเร็จบ้าง มูลค่าประมาณเท่าไร มีความเป็นไปได้หรือไม่ ซึ่งเป็นการส่งไม้ต่อด้านการลงทุน เพราะถ้า VC ที่ลงเงิน Seed round ไปแล้วอยากได้ผลตอบแทน ก็ต้องส่งต่อ Startup ไปให้ถึง VC รอบ Series A และ VC ในรอบSeries A ก็ต้องคุยกับ VC ของ Series B ต่อไป ว่าพร้อมจะรับไม้ต่อหรือไม่ เป็นทั้งการเรียนรู้ และสร้างโอกาสการลงทุนไปพร้อมกัน”
นอกจากนี้สิ่งสำคัญอีกประการคือ VC ในรอบ Seed ต้องทำการบ้าน ต้องลงไปช่วย Startup จริงๆ ไม่ใช่แค่การให้เงินทุนเริ่มต้น แต่ต้องช่วยดูเรื่องการทำบัญชีและการบริหารจัดการภายในบริษัทให้เรียบร้อย สิ่งเหล่านี้ช่วยป้องกัน Fail Story และความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต หลายครั้งที่มีปัญหาภายในเป็นดินพอกหางหมูตั้งแต่เริ่มต้นบริษัท และทำให้ Startup ถึงขั้นล้มเหลว หรือ VC ระดับ Series A หรือ B อาจจะปฏิเสธร่วมลงทุนด้วยเลย
InVent เน้นลงทุนไทย ดูผลตอบแทน+Synergy พร้อมเปิดโอกาส ตปท.
InVent เน้นลงทุนกับ Startup ไทย หรืออย่างน้อยก็มี Co-Founder เป็นคนไทย เพราะ InVent มีความเชี่ยวชาญในตลาดไทย และต้องการสนับสนุน Startup ไทยเป็นหลัก แต่ในขณะเดียวกันก็หาโอกาสในการลงทุนในต่างประเทศ ถ้ามี Startup ต่างประเทศที่ดีมีศักยภาพ ก็พร้อมพิจารณาเช่นกัน
สำหรับแนวทางการลงทุน InVent ตั้งเป้าลงทุนใน Startup ปีละ 4 ราย แต่ที่ผ่านมายังไม่เป็นไปตามเป้า เพราะในตลาดยังมี Startup ที่เข้าตามหลักเกณฑ์ของ InVent ไม่มากนัก เนื่องจาก InVent เป็น Corporate VC ดังนั้นนอกจากการลงทุนต้องมีผลตอบแทนที่ดีแล้ว ยังต้องสามารถสร้าง Synergy กับธุรกิจในเครือของอินทัชได้ด้วย ซึ่งทุกการลงทุน InVent จะพิจารณาการลงทุนอย่างรอบคอบ โดยเน้นที่คุณภาพมากกว่าปริมาณ
หลังจาก InVent เลือกลงทุนกับ Startup ใดแล้ว ถ้ามีโอกาสการสร้าง Synergy ได้สูง จนถึงขั้นซื้อกิจการ จะเป็นหน้าที่ของฝ่าย Business Development ในอินทัช ที่จะพิจารณาแยกออกไป
คาแรคเตอร์ของ Startup แบบไหนที่ VC อยากเจอ
สำหรับ InVent จะดู Startup ที่เข้ามาอย่างละเอียด และใช้เวลาดูพอสมควรก่อนตัดสินใจ นอกจากเรื่องเคมีที่ต้องตรงกันแล้ว ยังต้องคำนึงถึงองค์ประกอบเหล่านี้
- ต้องมี Business Model ที่ชัดเจน มีผู้ใช้งานในระดับหนึ่ง และสามารถสร้างรายได้ได้แล้ว
- ต้องมีลูกค้าใช้งานเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง
- ต้องมี Barrier to Entry ที่แข็งแรง ป้องกันคู่แข่งหน้าใหม่เข้าสู่ตลาด
- สำคัญมากคือ Founders ที่ต้องการสร้างธุรกิจใหม่ให้เกิดขึ้นจริง ไม่ใช่แค่ทำเพื่อรอขาย และ ต้อง Focus อยู่กับธุรกิจที่ทำอยู่
และแนะนำหากได้รับนัดจาก VC รายไหนก็ตามแล้ว อยากให้มาคุยเพราะจะได้ประโยชน์แน่นอน โดยต้องเตรียมตัวให้พร้อมอย่างน้อยมีข้อมูลดังนี้
- ข้อมูลเกี่ยวกับบริษัท/ตลาด และผลการดำเนินงาน ต้องแม่น และพร้อมให้ข้อมูลเต็มที่
- ถ้าผ่านคำแนะนำจาก Mentor มาแล้วจะดีมาก คุณธนพงษ์ให้ความเห็นว่าระยะหลัง Startup ทำการ Pitching เก่งขึ้นมาก น่าจะมาจากการผ่าน Coaching/Mentoring ที่ดีมาแล้ว
- เงินทุนที่ต้องการ และแผนการใช้เงินที่ชัดเจน
- (ถ้ามี) ประมาณมูลค่าของบริษัท (แบบ realistic) พร้อมเหตุผล
ผลักดันรัฐบาลปรับแก้หลักเกณฑ์ ย้ำถ้า Startup เจ๋งจริง อยู่ที่ไหน VC ก็ไปหา
คุณธนพงษ์ บอกว่า ในนามนายกสมาคมไทยผู้ประกอบธุรกิจเงินร่วมลงทุน (TVCA) ที่ผ่านมาสมาคมพยายามสร้างความเข้าใจเรื่องการลงทุนและกำลังทำเรื่องข้อมูลการลงทุน พร้อมกับผลักดันให้รัฐบาลมีการแก้ไขหลักเกณฑ์ต่างๆ เพื่อให้การลงทุนคล่องตัวมากขึ้น แม้จะยังไม่เป็นรูปร่างชัดเจน แต่ก็มีความก้าวหน้าขึ้นเรื่อยๆ เช่น หลักเกณฑ์การเข้า IPO ในตลาดหุ้นที่เหมาะสม คือการใช้เกณฑ์มูลค่าบริษัท (Market Cap) เพื่อเป็นเครื่องมือในการคัดกรอง Startup ที่จะเข้าตลาดหุ้น แทนการใช้เกณฑ์กำไรสุทธิ
ส่วนหนึ่งที่มีการผลักดันกันมากก่อนหน้านี้คือ หลักเกณฑ์ที่สนับสนุนให้ VC จากต่างประเทศเข้ามาลงทุนในไทยได้สะดวกขึ้น เพื่อดึงดูดใจ Startup ไทยให้ไม่จำเป็นต้องไปเปิดบริษัทต่างประเทศเพื่อให้ได้เงินลงทุน ซึ่งเชื่อว่าจะดึงดูดเม็ดเงินจากนักลงทุนต่างชาติเข้ามาในประเทศได้มากขึ้น แต่ก็ต้องรอดูว่าจะสามารถดำเนินการได้มากน้อยแค่ไหน แต่อย่างไรก็ตาม คุณธนพงษ์ก็เห็นว่า ถ้า Startup สามารถสร้างความโดดเด่นและมีศักยภาพอย่างแท้จริง ไม่ว่าจะตั้งบริษัทที่ไหน VC ก็พร้อมจะเดินเข้าไปหาเพื่อร่วมลงทุนด้วยแน่นอน
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา