เอากับเขาด้วย De Beers เตรียมขายเพชรสังเคราะห์จากห้องแล็บครั้งแรก

บริษัทเจ้าของเหมืองเพชรที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่าง De Beers นั้นในอดีตเคยประกาศว่าจะไม่ขายเพชรสังเคราะห์ที่ทำมาจากห้องแล็บโดยเด็ดขาด แต่ล่าสุดนั้นบริษัทได้เปลี่ยนความคิดนี้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ภาพจาก Shutterstock

Bloomberg ได้รายงานว่า De Beers เตรียมขายเพชรสังเคราะห์ในราคา 800 เหรียญสหรัฐ (ประมาณ 25,600 บาท) ต่อกะรัต

De Beers จะจำหน่ายเพชรสังเคราะห์ยี่ห้อที่มีชื่อว่า Lightbox Jewelry โดยคาดว่าจะจำหน่ายในปลายปีนี้ โดยผู้ที่รับผลิตนั้นเป็น Element Six ซึ่งเป็นบริษัทลูกของทางบริษัทเอง ซึ่งเป็นผู้นำทางด้านเพชรสังเคราะห์ที่ใช้ในงานอุตสาหกรรม เช่น ในการขุดเจาะน้ำมัน

กลับลำเพราะว่าตลาดเพชรสังเคราะห์ใหญ่มาก

การกลับลำของ De Beers ครั้งนี้ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญของวงการอัญมณี เนื่องจากตลาดเพชรที่กำลังเติบโตขึ้นเป็นอย่างมาก ปัจจุบันนั้นมูลค่าของตลาดเพชรนั้นสูงถึง 80,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนทางด้านเพชรสังเคราะห์นั้นคาดว่าตลาดจะโตถึง 28,000 ล้านเหรียญในปี 2024 เติบโตเฉลี่ยประมาณ 9% ต่อปี

และยังรวมไปถึงปัจจุบันลูกค้ามีความต้องการที่ซื้อเพชรสังเคราะห์มากขึ้น เพราะว่ามีราคาถูกกว่าเพชรจริงๆ ปัจจุบันแม้แต่บริษัทค้าปลีกอย่าง Walmart ก็ได้นำเพชรสังเคราะห์มาจำหน่ายสำหรับผู้ที่สนใจในอัญมนีอย่างเพชร แต่ราคาถูกกว่า

Steve Coe ผู้จัดการทั่วไปของ De Beers ได้กล่าวว่า เนื่องด้วยความต้องการของลูกค้าที่เพิ่มขึ้น จึงต้องทำให้บริษัทต้องออกผลิตภัณฑ์อย่างเพชรสังเคราะห์ออกมา ด้วยราคาที่ลูกค้าจับต้องได้

สรุป

การปรับตัวของ De Beers ถือว่าตอบโจทย์ลูกค้าที่อยากได้เพชรสังเคราะห์ราคาถูก และปลอดภัยในเรื่องของการถูกขโมย เพราะปกติแล้วบริษัทลูกอย่าง Element Six จะเน้นไปที่การทำเพชรสังเคราะห์สำหรับงานอุตสาหกรรม แต่ไม่ได้เน้นสำหรับเรื่องของแฟชั่นมากนัก

ถึงแม้ว่าทางบริษัทจะเคยกล่าวไว้ว่าจะไม่ขายเพชรสังเคราะห์เมื่อนานมาแล้ว แต่เนื่องจากผู้บริโภคเรียกร้องสิ่งที่ต้องการ จึงทำให้บริษัทก็ต้องปรับตัวตามไปด้วย

ต้องรอดูกันว่าหลังจากการเปิดตัวปลายปีนี้แล้ว ยี่ห้อเพชรสังเคราะห์อย่าง Lightbox Jewelry จะเบียดก้าวจนขึ้นมาเป็นผู้นำของตลาดเพชรสังเคราะห์ได้หรือไม่

ที่มาDe Beers, Bloomberg, Fortune

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

mm
Content Writer ที่สนใจในเรื่องของตลาดทุนทั้งในและต่างประเทศ กลุ่ม TMT (Technology, Media, Telecom) การควบรวมกิจการ (M&A) นโยบายทางเศรษฐกิจของไทยและต่างประเทศ รวมถึงสิ่งละอันพันละน้อยทางธุรกิจที่น่าสนใจ