เมื่อแบรนด์ต่างๆ เข้ามารุกตลาดดิจิทัลมากขึ้น เพราะต้องการเข้าถึงผู้บริโภคยุคใหม่ที่ใช้ชีวิตอยู่บนโลกออนไลน์เกือบ 1 ใน 4 วัน แต่ด้วยบุคลากรที่ยังไม่พร้อม ประกอบกับผลิตมาไม่พอกับตลาด ทำให้เกิดการแย่งตัว และบางบริษัท หรือดิจิทัลเอเยนซี่ที่ได้ตัวไปก็ไม่ได้ประสิทธิภาพตามที่หวัง
ปั่นเงินเดือนจนเฟ้อ แต่ไม่ได้ดีตามค่าตัว
นพวรรณ จุลกนิษฐ กรรมการผู้จัดการ บริษัท จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) จำกัด บอกว่า จากการสำรวจบริษัทต่างๆ และเอเยนซี่ที่มาลงประกาศรับสมัครตำแหน่งเกี่ยวกับดิจิทัลมาร์เก็ตติ้งบนเว็บไซต์ jobsdb.com ให้เงินเดือนกลุ่มเริ่มต้นทำงานที่ 19,000 – 34,000 บาท ถือเป็นอีกตำแหน่งที่มีการปั่นเงินเดือนออกไปค่อนข้างเฟ้อ เนื่องจากบุคลากรที่เชี่ยวชาญเรื่องนี้มีน้อย ผ่านมหาวิทยาลัยที่เปิดสอนวิชาที่เกี่ยวข้องเพียง 2 แห่ง ประกอบกับบัณฑิตที่จบมาไม่ตรงสายก็ไม่มีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับค่าตัวเรียกไป
“ปัญหาของบุคลกรด้านดิจิทัลมาร์เก็ตติ้งคือ ประสิทธิภาพไม่ดีเท่าค่าตัวที่บริษัทให้ แต่บุคลากรด้านนี้กลับเป็นที่ต้องการของตลาดมาก ทำให้บริษัท และเอเยนซี่ต่างเสนอเงินเดือนให้กับผู้สนใจจำแหน่งนี้มากเป็นพิเศษ แต่สุดท้ายบริษัท และเอเยนซี่ก็ไม่ได้งานตามที่หวังไว้ หรือถ้าได้คนเก่งมาก็เสี่ยงที่จะหลุดออกไปง่ายๆ เพราะมีบริษัท และเอเยนซี่รายอื่นพร้อมเสนอค่าตัวให้มากกว่าที่เดิมอย่างรวดเร็ว ดังนั้นการให้สวัสดิการพิเศษ หรือให้สิทธิประโยชน์ในการทำงาน เช่นไม่มีเวลาเข้างาน หรือมีฟิตเนสในออฟฟิศ ก็ช่วยรั้งบุคลากรกลุ่มนี้ไว้ได้”
แนะภาครัฐเร่งสนับสนุนงานกลุ่มนี้
ขณะเดียวกัน เมื่อไม่สามารถผลิตบุคลากรที่มีประสิทธิภาพออกมาได้ หน่วยงานที่กำกับเรื่องการศึกษาก็ควรเข้ามาให้ความสำคัญในเรื่องนี้ด้วย เพราะเมื่อประเทศไทยจะเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัล และยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 การมีบุคลากรที่เข้าใจเรื่องดิจิทัลมาร์เก็ตติ้งเป็นอีกเรื่องที่จำเป็น ซึ่งหลังจากมีส่วนร่วมในการหารือกับภาครัฐเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว เห็นว่าภาครัฐเริ่มมีการกระตือรือร้น เช่นการผลักดันการศึกษาเกี่ยวกับดิจิทัล เพราะหากพัฒนาได้ไม่ดีพอ บริษัท และเอเยนซี่ต่างๆ จะเริ่มดึงตัวบุคลากรจากต่างประเทศเข้ามามากขึ้น
ประกอบกับ ทีนา วู ผู้จัดการทั่วไป ไอซีดีแอล สถาบันวัดระดับทักษะความสามารถในการใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ ประจำภูมิภาคเอเชีย ชี้ว่า ประสิทธิภาพเกี่ยวกับการใช้งานคอมพิวเตอร์เบื้องต้นของกลุ่มคนทำงานในประเทศไทยสามารถทำได้ 11% ของข้อสอบวัดระดับ ต่ำกว่าสิงคโปร์ และมาเลเซียที่ทำได้ 80% กับ 40% ตามลำดับ แสดงให้เห็นถึงความไม่พร้อมในการนำเทคโนโลยีมาใช้ร่วมกับงาน แม้ประเทศไทยจะใช้งานโซเชียลเน็ตเวิร์กเป็นลำดับต้นๆ ของโลกก็ตาม
ให้ฝึกงานก่อนช่วยลดปัญหาได้
จากปัจจัยลบข้างต้น การแก้ปัญหาที่ดีที่สุดของแผนกทรัพยากรบุคคล หรือเอชอาร์ คือการให้ฝึกงาน หลังมีการสัมภาษณ์ เพื่อพิสูจน์ความสามารถในการทำงานจริง เนื่องจากในโปร์ไฟล์ที่แนบมาพร้อมกับการสมัครงานในปัจจุบันมีการเขียนค่อนข้างดี แต่เมื่อทำงานจริงแล้วกลับไม่เป็นไปตามรายละเอียด ในทางกลับกันผู้สมัครหากต้องการเรียกเงินเดือนในระดับเริ่มต้นทำงานให้สูง ควรมีทักษะเรื่องภาษา, ประวัติการทำกิจกรรม และได้การรับรองความเชี่ยวชาญ หรือใบ Cert. ในเรื่องต่างๆ ซึ่งตัวแปรดังกล่าวจะช่วยเพิ่มแต้มต่อเมื่อสมัครงานเช่นกัน
สรุป
เมื่อคนเริ่มเข้ามาอยู่บนโลกดิจิทัลมากขึ้น ดิจิทัลมาร์เก็ตติ้งจึงจำเป็นมาก เพราะใครๆ ก็อยากติดต่อกับผู้บริโภคเหล่านั้นได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด แต่เมื่อมีการแย่งตัวกันขนาดนี้ เอชอาร์ก็ต้องมีวิจารณญาณในการเบนซ์มาร์คเรื่องเงินเดือน เพื่อไม่ให้เกิดการปั่นจนเกินความเป็นจริง ประกอบกับการให้สวัสดิการทดแทน รวมถึงการให้งานที่ท้าทายก็ช่วยรั้งบุคลากรคุณภาพเอาไว้ได้
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา