แม้จะเริ่มตลาดไทยเมื่อปี 2549 ช้ากว่ายักษ์ใหญ่รายอื่นๆ แต่ Kerry Express ก็เติบโตได้เร็วมาก ผ่านจุดส่งสินค้า 2,500 จุด และยานพาหนะ 11,000 คัน ว่าแต่กลยุทธ์อะไรทำให้ขนส่งจากฮ่องกงขยายธุรกิจได้เร็วขนาดนี้ล่ะ
เข้ามาตอน E-Commerce บูมพอดิบพอดี
เป็นเวลา 12 ปีแล้วที่ Kerry Express เข้ามาทำตลาดในประเทศไทย โดยเริ่มจากธุรกิจตัวแทนรับส่งสินค้า Last-Mile ให้กับ Logistic ยักษ์ใหญ่ของต่างประเทศเป็นหลัก ก่อนที่จะผันตัวเข้ามารับงานส่งสินค้าให้กับผู้บริโภคโดยตรง รวมถึงรับงานจาก E-Commerce ยักษ์ใหญ่ในประเทศไทยที่กำลังเริ่มทำตลาดในช่วงเวลานั้น
อเล็กซ์ อึ้ง กรรมการผู้จัดการ บริษัท เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด เล่าให้ฟังว่า บริษัทแม่จากฮ่องกงเห็นโอกาสธุรกิจเกี่ยวกับการขนส่งสินค้าที่นี่ ทำให้ตัดสินใจลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ต่างๆ เพื่อรองรับการเติบโตของ E-Commerce ในอนาคต
“ช่วงแรกเราได้เป็นพาร์ทเนอร์กับ E-Commerce ยักษ์ใหญ่หลายราย เช่น Lazada และทำผลงานการขนส่งออกมาค่อนข้างดี ทำให้ผู้บริโภครู้จักเรามากขึ้น และหลังจากนั้นเราก็เข้ามารุกตลาด C2C เต็มตัว ทำให้ยอดส่งสินค้าเรามาจาก B2C กับ C2C พอๆ กัน ส่วนธุรกิจรับบริการส่งสินค้าจาก Logistic ยักษ์ใหญ่ในไทยนั้นมีสัดส่วนน้อยมาก”
ติดสปีดโตไปด้วยกันในรูปแบบพาร์ทเนอร์
สำหรับยอดส่งในพัสดุในประเทศไทยนั้น Kerry Express มีส่วนแบ่งในการขนส่ง 80% คิดเป็นจำนวน 7.5 แสนชิ้น/วัน และเป็นอันดับ 1 ของตลาดนี้ โดยทิ้งคู่แข่งเช่น SCG Express, TP Logistic และ Ninja Van ค่อนข้างขาด รวมถึงจุดรับส่งสินค้า และยานพาหนะในบริษัทที่มีกว่า 2,500 จุด และ 11,000 คันตามลำดับ
“ต้องบอกก่อนว่าเราเดินหน้าธุรกิจแบบพาร์ทเนอร์ ไล่ตั้งแต่รถมอเตอร์ไซค์ขนส่งในกรุงเทพ รวมถึงรถขนส่งอื่นๆ เราก็เช่าเอาทั้งหมด รวมถึงจุดส่งสินค้าก็เน้นวิธีการขยายแบบพาร์ทเนอร์ ทั้งร่วมกับเอสเอ็มอีที่สนใจ และ Retail รายใหญ่ ซึ่งตอนนี้เราก็มีทั้งร้าน FamilyMart และ OfficeMate ที่เข้าร่วมเป็นจุดรับสินค้ากับเรา”
อย่างไรก็ตามยักษ์ใหญ่ขนส่งในประเทศไทยรายนี้ก็มีจุดรับส่งที่บริหารด้วยตัวเองเช่นกัน เพื่อเสริมสร้างงานบริการ และเชื่อมต่อการทำธุรกิจแบบ Online to Offline (O2O) ได้สมบูรณ์แบบมากขึ้น จนปัจจุบันมียอดขนส่งพัสดุกว่า 7.5 แสนชิ้น/วัน คิดเป็น 80% ของตลาด (ไม่รวมการส่งพัสดุของไปรษณีย์ไทย)
ลงทุน 1,800 ล้านบาทขยายคน-หน้าร้าน-สายส่ง
ส่วนปีนี้ Kerry Express มีแผนลงทุน 1,800 ล้านบาทในประเทศไทยเพื่อเพิ่มพนักงาน, หน้าร้านรับส่งสินค้า และเช่ารถสายส่งเพิ่มเติม นอกจากนี้ยังขยาย Mega Hub หรือคลังสินค้าขนาดใหญ่ย่านบางนาให้มีพื้นที่ 36,000 ตร.ม. เพื่อรองรับการเติบโตในอนาคต
“เราต้องลงทุนอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับการเติบโตในอนาคต โดยปีนี้ Kerry Express ตั้งเป้าส่งพัสดุถึง 1 ล้านชิ้น/วัน และน่าจะมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะคาดการณ์ว่า E-Commerce ในไทยจะเพิ่มขึ้นเกือบ 3 ดิจิทใน 5 ปีจากนี้ แต่ถึงลงทุนขนาดไหน เราก็ยังไม่มีแผนทำตลาด Direct Delivery หรือส่งภายในระยะเวลาไม่กี่ชั่วโมงในเวลานี้แน่ๆ”
ทั้งนี้บริษัทยังมีแผนทำตลาด Cross Boarder หรือการรับส่งสินค้าจากต่างประเทศให้กับลูกค้าในไทย เพราะปัจจุบันมีบริษัทจากจีนหลายรายเริ่มทำตลาดนี้ และเป็นอีกโอกาสสำคัญในการสร้างธุรกิจให้เติบโตยิ่งขึ้น แต่เชื่อว่าในระยะสั้นยังเป็นสัดส่วนการส่งพัสดุ และรายได้ที่ยังน้อยอยู่
สรุป
ถ้ามองกันจริงๆ Kerry Express ไม่ใช่บริษัทขนส่ง แต่คือแพลตฟอร์มกลางสำหรับการเชื่อมต่อพัสดุจากผู้ส่งถึงผู้รับมากกว่า เพราะตัวบริษัทนี้แทบไม่ได้มีคนส่งสินค้าเป็นของตัวเอง มีแต่การเช่าใช้ และพาร์ทเนอร์กับจุดรับส่งต่างๆ เท่านั้น และเชื่อว่าถ้ายักษ์ใหญ่อย่างไปรษณีย์ไทยยังไม่ขยับตัว ในระยะยาวก็อาจโดนขนส่งรายนี้แซงได้
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา