ทุกคนคงเข้าใจกันดีว่าช่วงนี้เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวเท่าไหร่นัก แต่ธุรกิจเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะกลุ่มที่อยู่อาศัย ยังทรงตัวอยู่ เพราะถือเป็น 1 ในปัจจัย 4 ของการดำรงชีวิต และถึงเคยมีที่พักอาศัยอยู่แล้ว ก็ยังต้องการอยู่ในที่ที่ดีขึ้น แต่การพึ่งพาแค่ธุรกิจรูปแบบดั้งเดิมในยุคที่ดิจิทัลอยู่ในทุกอย่าง อาจไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้อง
สร้างนวัตกรรมการบริการดีกว่าเน้นขาย
วิทวัส รุ่งเรืองผล รองศาสตราจารย์คณธพาณิชยศาสตร์ และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เชื่อว่า ปกติในธุรกิจรับสร้างบ้านจะเน้นสร้างรายได้จากการขายวัสดุ และค่าออกแบบ แต่ในยุคที่ดิจิทัลเข้ามามีบทบาทกับผู้บริโภครายได้ทั้งสองทางแทบจะหายไป เพราะผู้บริโภคสามารถเช็คราคาวัสดุต่างๆ ผ่านอินเทอร์เน็ตได้โดยง่าย ประกอบกับการออกแบบก็สามารถนำรูปบนเว็บไซต์มาให้สถาปนิกทำได้ทันที ดังนั้นถ้าบริษัทรับสร้างบ้านยังไม่เปลี่ยนตัวเอง โอกาสที่จะถูกคู่แข่งที่ปรับตัวแล้ว ใช้นวัตกรรมใหม่เข้ามาช่วยขายแซงไปไกล
“เท่าที่อ่านเทรนด์ดู เรื่องดิจิทัลที่เข้ามามีอิทธิพลกับธุรกิจรับสร้างบ้านมากที่สุดคือเครื่องพิมพ์ 3 มิติ หรือการนำห้องสำเร็จรูปมาใช้งานมากขึ้น เพราะทั้งสองเรื่องช่วยประหยัดต้นทุน ผ่านการใช้แรงงานน้อย และมีมาตรฐานจากโรงงานชัดเจน เช่นชุดห้องน้ำสำเร็จรูปที่ตอนนี้มีใช้งานในคอนโดมีเนียมแล้ว ส่วนเรื่องเครื่องพิมพ์ 3 มิตินั้น คงต้องรอซักพักกว่าจะพิมพ์เป็นบ้านออกมาหลังหนึ่งได้ แต่ที่เห็นแน่นอนคือมันจะสร้างเป็นวัสดุต่างๆ ออกมาได้ก่อน เช่นซิงค์ล้างจาน หรืออิฐที่ใช้ก่อกำแพง”
ขณะเดียวกันเมื่อขายวัสดุเป็นสำเร็จรูปแล้ว การสร้างรายได้ก็จะมาจากงานบริการ คล้ายกับการขายรถยนต์ ที่ปกติขายรถคันหนึ่งจะมีกำไรน้อย แต่รายได้จำนวนมากจะมาจากงานบริการ เรียกง่ายๆ ว่า “ธุรกิจรับประกอบบ้าน” แต่เพื่อให้ธุรกิจนี้มีโอกาสเติบโตขึ้นไปอีก ไม่ได้เป็นแค่ 1 ใน ปัจจัย 4 จำเป็นต้องสร้างสตอรี่ให้กับบริษัท เพื่อทำให้ผู้ซื้อเกิดความรู้สึกเชื่อใจ และมั่นใจว่าหากจ้างเราเป็นผู้ประกอบบ้าน จะมีความแตกต่างจากบริษัทอื่น
วิศวกร – สถาปนิก ต้องกลายเป็นครีเอเตอร์
ไผท ผดุงถิ่น กรรมการผู้จัดการ และผู้ก่อตั้ง บริษัท บิลค์ เอเชีย จำกัด เสริมว่า เมื่อโลกยุคดิจิทัลสามารถสรรค์สร้างทั้งวัสดุ และแบบโครงสร้างได้ในระยะเวลาสั้นๆ ดังนั้นหน้าที่ของวิศวกร และสถาปนิกของบริษัทรับสร้างบ้านต้องเปลี่ยนไป จากเดิมที่พวกเขาเป็นคนแก้ไขแบบต่างๆ ให้กับลูกค้าให้เป็นรูปเป็นร่าง หรือ Editor ให้เป็นผู้รวบรวมวัสดุสำเร็จรูปเหล่านั้นให้เป็นบ้านแก่ลูกค้า หรือ Creator และยิ่งยุคนี้คือยุค Big Data ดังนั้นคนที่นำข้อมูลเหล่านั้นมาประมวลผลได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุดคือผู้ชนะ
“ตอนนี้ใครขุดดาต้าได้รวย เพราะเหมือนกับพลอย และน้ำมัน ดังนั้นวิศวกร กับสถาปนิกที่อยู่ในธุรกิจรับสร้างบ้าน ต้องนำเรื่องนี้ไปประกอบในการสร้างธุรกิจด้วย แต่ไม่ใช่ธุรกิจรับสร้างบ้านจะเจาะแต่ผู้บริโภคทั่วไปที่อยากมีบ้าน ต้องไปมองกลุ่มคนมีเงินด้วย เพราะกลุ่มนี้มีกำลังซื้อสูง และไม่ต้องการบ้านที่เหมือนๆ ใคร ซึ่งมีเพียงบริษัทรับสร้างบ้านที่จะเจาะความต้องการของผู้บริโภคกลุ่มนี้ได้ และถ้าจะดีต้องใช้โซเชียลมีเดียเข้ามาช่วย เช่นระหว่างสร้างบ้านให้คนเหล่านี้มีการอัพโหลดรูปภาพไปในโซเชียลมีเดียเพื่อสร้างสตอรี่”
นายกส.สร้างบ้านย้ำตลาดยังไหว
พิชิต อรุณพัลลภ นายกสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน กล่าวว่า ตอนนี้ทุกบริษัทรับสร้างบ้านไม่สามารถหลีกเลี่ยงปัจจัยเรื่องดิจิทัล ดังนั้นการนำดิจิทัลมาประยุกต์ใช้กับธุรกิจจึงเป็นเรื่องจำเป็น เช่นบริษัทจำหน่ายสีทาบ้านเกือบทุกรายก็นำเรื่องดิจิทัลมาทำให้ผู้บริโภคสามารถสร้างสรรค์สีทาบ้านได้ด้วยตัวเอง และถ้าผู้ประกอบการทุกรายหันมาใช้นวัตกรรมนำธุรกิจ โอกาสรอดของธุรกิจนี้ยังมีสูง แม้เทรนด์ผู้บริโภคจะเริ่มอยากไปอยู่ที่พักอาศัยแนวสูงมากขึ้น เพราะบ้านคือหนึ่งในสิ่งที่ผู้บริโภคทุกคนต้องการมากที่สุด
สรุป
การยังยึดติดกับความสำเร็จ และแนวทางธุรกิจเดิมๆ ในยุคดิจิทัล โอกาสที่จะถูกโลกดิจิทัลกลืนกินก็มีสูง แม้ธุรกิจเหล่านั้นจะเป็นสิ่งที่จับต้องได้ชัดเจนก็ตาม ดังนั้นธุรกิจรับสร้างบ้านควรเดินหน้านำเรื่องดิจิทัลต่างๆ ไม่ใช่แค่ซอฟต์แวร์เพื่อการออกแบบ แต่หมายถึงนวัตกรรมใหม่ที่สามารถยกระดับธุรกิจให้เท่าทันผู้บริโภค
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา