ถือเป็นครั้งที่ 3 แล้วที่ PayPal จัดโครงการบ่มเพาะสตาร์ทัพสายฟินเทค แต่ในปีนี้ PayPal เดินทางมาที่ประเทศไทยเพื่อชักชวนให้สตาร์ทอัพคนไทยสมัครเข้าโครงการเป็นครั้งแรก ไปดูกันว่ามีอะไรน่าสนใจบ้าง
ครั้งที่ 3 ของโครงการบ่มเพาะสตาร์ทอัพของ Paypal
โครงการบ่มเพราะสตาร์ทอัพสายฟินเทคของ PayPal เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2016 ก่อนหน้านี้ สตาร์ทอัพจากทั่วโลกที่เข้าร่วมโครงการประสบความสำเร็จอย่างสูง เพราะทุกรายสามารถระดมทุนมาได้สำเร็จ 100% ยกตัวอย่างเช่น ในปีที่ 2 ของโครงการ มี 3 ธุรกิจสตาร์ทอัพที่ได้เข้ามาในโครงการบ่มเพาะคือ Jumper.ai, Chynge และ Policypal ต่างก็ประสบความสำเร็จทั้งหมด
ในปี 2018 PayPal เดินทางมาประเทศไทยเพื่อชักชวนสตาร์ทอัพสายฟินเทคในไทยโดยเฉพาะ ส่วนหนึ่งเพราะ PayPal เล็งเห็นว่า ไทยเป็นหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีสตาร์ทอัพมากด้วยศักยภาพ เพียงแต่ยังขาด ecosystem และการบ่มเพาะที่ดี ในครั้งนี้ PayPal จึงต้องลงมาชักชวนด้วยตนเอง
PayPal บอกว่าการสมัครเข้าโครงการบ่มเพาะสตาร์ทอัพฟินเทคจะได้รับการสนับสนุนในด้านค่าใช้จ่ายของโครงการ และการใช้งานพื้นที่ อุปกรณ์ และเทคโนโลยีต่างๆ ของออฟฟิศ PayPal ในสิงคโปร์ แต่สำหรับค่าใช้จ่ายในการเดินทาง และค่าใช้จ่ายในการใช้ชีวิตที่สิงคโปร์ แต่ละทีมจะต้องดูแลในส่วนนี้ด้วยตนเอง
- โครงการบ่มเพาะสตาร์ทอัพฟินเทคของ PayPal จะใช้เวลา 9 เดือน (อย่างครั้งนี้เริ่มต้นในเดือนกรกฎาคมปี 2018 โครงการจะสิ้นสุดในมีนาคมปี 2019)
- PayPal จะคัดเพียง 3 สตาร์ทอัพสายฟินเทคจากทั่วโลกเท่านั้นที่จะได้เข้าร่วมโครงการ แต่โดยหลักๆ จะเน้นไปที่สตาร์ทอัพในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
- สตาร์ทอัพที่เข้าร่วมโครงการบ่มเพาะจะได้ทำงานร่วมกับทีมงานของ PayPal สิงคโปร์ รวมถึงพาร์ทเนอร์อื่นๆ
- เมนเทอร์ในโครงการเป็นผู้เชี่ยวชาญในสายฟินเทคอันดับต้นๆ ของโลก รวมถึงมีผู้บริหารระดับสูงของ PayPal จะเข้ามาร่วมด้วย
- หากธุรกิจประสบความสำเร็จในแง่การนำไปใช้งาน PayPal จะให้ทดลองนำไปใช้จริงกับลูกค้าที่มีอยู่ทั่วโลกกว่า 200 ล้านราย
อ่านแค่คุณสมบัติของโครงการบ่มเพาะอาจจะไม่พอ Brand Inside มีโอกาสได้พูดคุยกับผู้ร่วมจัดโครงการ 2 คนคือ Jerry Tso หัวหน้าฝ่ายพัฒนาของ PayPal สิงคโปร์ และ Chandra Tjan ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทลงทุน Alpha JWC ที่เพิ่งเข้ามาเป็นพันธมิตรกับ PayPal เพื่อร่วมส่งเสริมโครงการบ่มเพาะในครั้งนี้
“สตาร์ทอัพไทยมีศักยภาพ อย่ากลัวที่จะเสี่ยง จงทำให้มันเป็นจริง”
Jerry เริ่มต้นจากการเล่าให้ฟังว่า “เราเห็นสตาร์ทอัพในหลายที่มีศักยภาพ อย่างในไทยหลายรายมีทักษะที่สูงมาก แต่สิ่งที่น่ากังวลคือ พวกเขาเหล่านี้เข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุน“
“ในโครงการของเรา เราเป็นมากกว่าผู้บ่มเพาะและจัดหาแหล่งเงินทุนให้ เพราะสิ่งสำคัญของสตาร์ทอัพคือการทำธุรกิจอย่างไรให้ยั่งยืน ผมคิดว่ามีอยู่ 2 ประการคือ หนึ่ง–อยู่ที่วิธีคิดของผู้ประกอบการรายนั้นๆ ว่ามองธุรกิจของตัวเองอย่างไร ซึ่งผมคิดว่าสัมพันธ์กับข้อสอง–นั่นคือทำอย่างไรให้ธุรกิจของคุณมีคุณค่า มีประโยชน์ต่อสังคม แค่นั้นคุณก็จะอยู่ได้”
“แม้ว่าการเดินหน้าธุรกิจในสายฟินเทคจะเป็นอะไรที่ยังท้าทาย (โดยเฉพาะในปัจจุบัน) ทั้งข้อกำหนด-กฎหมายจากทางภาครัฐในแต่ละประเทศ แต่ผมอยากบอกว่า ในการทำงานร่วมกับ PayPal เราพร้อมสนับสนุนทุกเรื่อง และที่สำคัญอยากบอกกับสตาร์ทอัพไทยว่า คุณมีศักยภาพ อย่ากลัวที่จะเสี่ยง จงทำให้มันเป็นจริง“
โครงการของ PayPal ในแต่ละปี จะคัดทีมเข้ารอบในโครงการเพียงแค่ 3 ทีมเท่านั้น เพราะ PayPal บอกว่าขอเน้นคุณภาพ ไม่ต้องการปริมาณ ในปีนี้ลองลุ้นดูว่าจะมีสตาร์ทอัพไทยสายฟินเทคเข้าร่วมบ้างหรือไม่
“สตาร์ทอัพไทยต้องคิดให้ไกลกว่าที่เป็นอยู่
Chandra เป็นผู้ร่วมก่อตั้ง Alpha JWC บริษัทลงทุนจากอินโดนีเซีย แต่มีเครือข่ายลงทุนอยู่ทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เขาคือคนที่บอกว่า “Fintech is the next big thing”
“ผมทำธุรกิจล้มละลายในปี 2010 แต่หลังจากกลับมาตั้งตัวพร้อมทั้งก่อตั้งบริษัทลงทุนในปี 2016 ผมก็เน้นลงทุนในธุรกิจเทคโนโลยี เช่น Tokopedia และ Traveloka แต่ในตอนนี้ผมพูดได้เลยว่า ฟินเทคคือเรื่องใหญ่ที่กำลังจะมาถึง และเราต้องให้ความสนใจโดยเร็วในปัจจุบัน”
“ในปีนี้ Alpha JWC เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการบ่มเพาะสตาร์ทอัพของ PayPal เราพร้อมที่จะสนับสนุนสตาร์ทอัพสายฟินเทค ทั้งในด้านการลงทุนและการสร้างเครือข่ายที่กว้างขวางในระดับภูมิภาค”
“เท่าที่ผมได้สังเกตสตาร์ทอัพในไทย ผมมองว่าสตาร์ทัพไทยต้องคิดให้ไกลกว่าที่เป็นอยู่ อย่าติดกรอบเรื่องพื้นที่แบบเดิมๆ ทำธุรกิจต้องไปไกลมากกว่าประเทศที่ตัวเองสังกัด เราต้องคิดถึงเพื่อนบ้าน ภูมิภาค และในระดับโลก ผมอยากทำงานกับสตาร์ทอัพที่มีความหลงใหลในการทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่”
- อย่างไรก็ตาม โครงการบ่มเพาะสตาร์ทอัพของ PayPal ในครั้งนี้จะเปิดรับสตาร์ทอัพฟินเทคจากทั่วโลกจนถึงวันที่ 30 เมษายนนี้เท่านั้น
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา