ไทยเป็นอีกประเทศที่มีการเติบโตของ E-Sport เป็นอย่างมาก สังเกตจากทีมแข่งขันที่ผุดขึ้นมาใหม่นับ 10 ทีม แต่รายการแข่งขันกลับมีไม่เพียงพอ และยังไม่มีรายการใหญ่ๆ ทำให้การเดินหน้าของธุรกิจเกี่ยวกับ E-Sport นั้นยากขึ้น
ต้องมีรายการใหญ่เพื่อกระตุ้นการลงทุนใน E-Sport
การแข่งขัน E-Sport รายการใหญ่ๆ จึงกลายเป็นอีกตัวแปรสำคัญในการเดินหน้าอุตสาหกรรม E-Sport ในไทย เพราะนอกจากจะช่วยดึงทีมต่างประเทศเข้ามาแข่งขัน พร้อมมอบประสบการณ์ใหม่ๆ ให้กับทีมแข่ง และผู้ชมชาวไทยแล้ว ยังช่วยกระตุ้นการลงทุนในอุตสาหกรรมนี้ด้วย
ออสการ์ เฟง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของการแข่งขัน E-Sport รายการ GESC เล่าให้ฟังว่า ผู้เล่นเกมในไทยมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ยังไม่มีรายการแข่งขันระดับ World Class จัดขึ้นที่นี่ ยิ่งปัจจุบันไทยเริ่มมีนักกีฬา E-Sport ไปแข่งในรายการต่างประเทศมากขึ้น ก็น่าจะถึงเวลาแล้วที่จะแสดงให้เห็นการเติบโตของอุตสาหกรรมนี้สักที
“หลายคนอาจยังไม่รู้ว่าไทยมีประวัติยาวนานเรื่อง E-Sport มีนักกีฬาไปทำเงินในต่างประเทศได้จำนวนมาก ถือเป็นผู้นำในภูมิภาคเอเชียก็ว่าได้ ดังนั้นมันถึงเวลาที่ต้องมีรายการแข่งขันใหญ่ๆ ชิงเงินรางวัลเกือบ 10 ล้านบาทจัดขึ้นที่นี่ได้แล้ว เพื่อแสดงศักยภาพ และโอกาสทางธุรกิจของ E-Sport ในประเทศนี้”
ทุ่มเงินรางวัลเกือบ 10 ล้านบาท-ดึงทีมใหญ่เข้าแข่ง
ทำให้บริษัทตัดสินใจจัดการแข่งขันรายการ GESC Thailand Dota 2 Pro Circuit Minor ที่ชิงเงินรางวัลรวมกว่า 9,350,000 ล้านบาท และมีทีม E-Sport ในระดับโลกเข้าร่วมแข่งขัน 9 ทีม กับทีมไทยอีกหนึ่งทีม โดยที่ดึงทีมระดับโลกเข้าร่วมแข่งได้ เพราะรายการนี้มีคะแนนสะสมเพื่อไปแข่งรายการ The International ที่ใหญ่ที่สุด
“ถือเป็นการจัดรายการใหญ่ครั้งที่ 2 ของเรา เพราะในเดือนมี.ค. ก็เพิ่งจัดแข่งที่กรุงจาการ์ตาไป และมีผู้ชมในสนามแข่งขันจริงกว่า 5,000 คนที่ซื้อบัตรเข้ามา และมีคนดูผ่าน Live Streaming อีก 5 ล้านคนทั่วโลก ซึ่งเราก็คิดว่ารายการในกรุงเทพที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 9-10 พ.ค. ในศูนย์การประชุมไบเทค ก็น่าจะได้ผลตอบรับดีเช่นกัน”
สำหรับราคาบัตรที่ขายในการแข่งขันที่กรุงเทพนั้นราคาเริ่มต้น 1,000 บาท สามารถเข้าชมได้ 2 วัน นอกจากนี้ยังมีบัตรแบบ Early Bird ราคา 650 บาท เข้าชมงานได้ 2 วันที่จำหน่ายหมดไปกว่า 1,000 ใบแล้ว แสดงให้เห็นถึงความต้องการรับชม E-Sport ในประเทศไทยที่เริ่มทัดเทียมต่างประเทศมากขึ้น
E-Sport คือช่องทางใหม่ในการทำตลาดกับ Millennial
“อย่างไรก็ตามการจัดการแข่งขันนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าไม่มีสปอนเซอร์ในกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวกับไอที และคอมพิวเตอร์ เพราะธุรกิจเหล่านี้เป็นปัจจัยสำคัญในการจัดแข่งขัน แต่จริงๆ แล้วก็ยังมีโอกาสที่อุตสาหกรรมอื่นๆ จะเข้ามาสนับสนุน เพื่อเข้าถึงกลุ่มลูกค้า Millennial ผ่าน E-Sport ได้”
ปัจจุบันเริ่มมีอุตสาหกรรมอื่นเข้ามาสนับสนุน E-Sport รายการใหญ่ๆ มากขึ้น เช่น Mercedes-Benz ที่สนับสนุนรายการแข่งขัน ESL หลังตัวธุรกิจพยายามปรับภาพลักษณ์ให้ดูเด็กขึ้น และการสนับสนุน E-Sport ก็เป็นอีกช่องทางที่กลุ่ม Millennial จะได้เห็นผลิตภัณฑ์อย่างชัดเจน
แต่กว่าจะถึงจุดนั้นในประเทศไทย การได้ภาครัฐเข้ามาสนับสนุนมากกว่าแค่ E-Sport ได้การรับรอบเป็นกีฬา เพราะหากมี Ecosystem ที่ครบ โดยเฉพาะ Academy ฝึกสอนนักกีฬา และโค้ช ก็น่าจะทำให้ E-Sport ในประเทศไทยสามารถไปได้ไกลกว่านี้ และแข่งกับอินโดนีเซีย กับฟิลิปปินส์ได้อย่างสูสี
สรุป
การแข่งขัน E-Sport นั้นเป็นรายการที่เข้าถึงกลุ่ม Millennial เพศชายได้ดีที่สุดอีกตัวหนึ่งในยุคนี้ ดังนั้นแบรนด์ต่างๆ ก็ไม่ควรมองข้าม และการจัดการแข่งขันรายการใหญ่ๆ ก็น่าจะช่วยให้แบรนด์สินค้าเริ่มเข้าใจ E-Sport มากขึ้นว่ามันไม่ใช่แข่งการเล่นเกม แต่คืออีกการแข่งขันหนึ่งที่แบรนด์สามารถเข้าไปทำตลาดได้
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา