ประเทศไทยถูกจับตามองจากรัฐบาลสหรัฐมาเป็นเวลาสักพักเนื่องจากเข้าเกณฑ์ประเทศที่ได้ดุลการค้าจากสหรัฐ ถึงแม้ว่าล่าสุดจะไม่ติดในรายชื่อประเทศที่ต้องจับตามองในเรื่องของการควบคุมและแทรกแซงค่าเงิน เพื่อที่จะได้เปรียบการค้าจากสหรัฐ โดยผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกมาสร้างความมั่นใจว่าไทยไม่ได้ควบคุมค่าเงิน
วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ยืนยันว่าประเทศไทยไม่ได้มีการแทรกแซงค่าเงินเพื่อที่จะให้ได้เปรียบในการส่งออกของไทย โดยก่อนหน้านี้มีความกังวลว่าไทยอาจเป็นประเทศแรกๆ ในอาเซียนที่โดนทางการสหรัฐนำไปอยู่ในรายชื่อประเทศที่แทรกแซงค่าเงิน
โดยปัจจัยที่จะทำให้ประเทศนั้นๆ มีโอกาสติดอยู่ในบัญชีเฝ้าระวังเรื่องของการแทรกแซงค่าเงินนั้น ประกอบไปด้วย
- ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลมากกว่า 3%
- การค้าของประเทศนั้นเกินดุลสหรัฐหรือไม่
- มีการซื้อเงินหรือพันธบัตรของสหรัฐ มูลค่าเกินจำนวน 2% ของ GDP ประเทศในปีนั้นหรือไม่
ไทยมีโอกาสติดอยู่ในรายชื่อประเทศที่ต้องจับตามองเพราะ ติดเงื่อนไข 2 ใน 3 ข้อ แต่ก็ไม่ได้ติดรายชื่อที่ต้องจับตามองในเรื่องนี้
ผู้ว่าแบงค์ชาติอธิบายเรื่องบัญชีเกินดุล
ผู้ว่าแบงค์ชาติได้อธิบายถึงสาเหตุที่ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลของประเทศไทย ว่าเกิดจากราคาน้ำมันที่ลดลง การท่องเที่ยวไทยได้รับความนิยม และรวมไปถึงเรื่องของ การลงทุนภายในประเทศที่อ่อนแอ
ปัจจัยข้างต้นทำให้ทุนสำรองของไทยเพิ่มขึ้นมาถึง 20% และทำให้เกิดเรื่องของเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นมา ซึ่งสร้างความปวดหัวให้กับผู้ที่ทำธุรกิจส่งออกไม่น้อย
ขณะนี้การลงทุนภายในประเทศกำลังฟื้นตัวขึ้น โดยมองว่าดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลนั้นจะลดลง 8-9% ภายในปีนี้
ไทยไม่ควบคุมค่าเงินเพื่อที่จะส่งออกได้เปรียบ
ส่วนประเด็นการแทรกแซงค่าเงินนั้น ผู้ว่าแบงค์ชาติกล่าวว่าจะทำก็ต่อเมื่อค่าเงินบาทมีความผันผวนมากเท่านั้น เช่นกรณีที่เม็ดเงินจากต่างประเทศไหลเข้ามามากเกินไป และยังได้เสริมว่าธนาคารแห่งประเทศไทยไม่มีนโยบายที่จะแทรกแซงและควบคุมทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าเพื่อที่จะได้เปรียบในทางการค้า
สำหรับเรื่องของค่าเงินบาทนั้น ผู้ว่าแบงค์ชาติได้กล่าวว่าอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐกับไทยในตอนนี้เริ่มแคบลง ทำให้เม็ดเงินจากต่างชาติที่ไหลเข้ามาในไทยน่าจะน้อยลง ทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าได้
ที่มา – Nikkei Asian Review
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา