เจาะลึกตลาดเครื่องสำอาง และความงามในไทย ยุคที่ผู้บริโภคต้องการสวยเร่งด่วน

กันตาร์ฯ เผยผลวิจัยตลาดเครื่องสำอาง และความงามในไทยยังมีช่องว่างโตได้อีกมาก จากจุดปัจจุบันที่มีการเข้าถึง 48% ในขณะที่เกาหลีมีสัดส่วน 85% โดยที่ออนไลน์เข้ามาสร้างแรงกระเพื้อมให้โตสูงขึ้น

ภาพจาก Shutterstock

กันตาร์ เวิร์ลดพาแนล เปิดผลวิจัยตลาดเครื่องสำอางและความงามในไทย พบว่าตลาดยังมีศักยภาพในการเติบโต จากสถิติภาพรวมของตลาด มีมูลค่าสูงถึง  57,000  ล้านบาท เติบโต 3.8% ในปีที่ผ่านมา เมื่อเจาะดูแต่ละกลุ่ม พบว่ากลุ่มดูแลผิวหน้า หรือ Face Care  เป็นสัดส่วนสูงสุด ถึง 40% รองลงมากลุ่มแฮร์แคร์ 33% กลุ่มเมคอัพ 16%  และกลุ่มบอดี้แคร์  11%

แต่ถ้าดูในแง่ของการเติบโต กลุ่มเมคอัพ โตสูงสุดที่ 16% รองลงมาคือกลุ่มดูแลผิวหน้า โต 4.5% บอดี้แคร์ โต 3.5% และแฮร์แคร์ โต 0.8%

เมคอัพสรรพคุณต้องครอบจักรวาล

สิ่งที่น่าสังเกตสำหรับตลาดเมคอัพ  พบว่าสินค้าหลักที่ผลักดันต่อการเติบโตของกลุ่มเมคอัพ  คือ  สินค้าประเภทที่ต้องใช้เป็นประจำ คือ ดินสอเขียนคิ้ว  รองพื้น  และลิปสติก เป็นการเติบโตของยอดขายจากผู้ซื้อปัจจุบัน เป็นสถิติ 74%  ตลอดจน การขยายตัวของผู้ซื้อรายใหม่อีก 4%  โดยเป็นกลุ่มคนที่อยู่ในเขตตัวเมืองเป็นส่วนใหญ่

โดยการเติบโตนี้ส่วนใหญ่เกิดจากปัจจัยของการซื้อที่ตอบสนองด้านอารมณ์ล้วนๆ ซื้อเพราะเพิ่มความมั่นใจให้ตัวเอง ซึ่งสินค้ากลุ่มเมคอัพเองก็ยังมีช่องว่างให้เติบโตไปได้อีกมาก เมื่อเปรียบเทียบกับตลาดความงามอย่างประเทศเกาหลี  ที่สามารถเจาะตลาดเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ถึง 85% ในขณะที่ประเทศไทยอยู่ที่ 48% เท่านั้น

การใช้กลยุทธ์ทำสินค้าให้วาไรตี้ครอบคลุมความต้องการของผู้บริโภค เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ตลาดโตขึ้น และรับกับความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลง ต้องการสินค้าที่หลากหลาย สินค้าที่ตอบโจทย์ความต้องการมากขึ้น เช่น สินค้าล้างเครื่องสำอาง (Make Up Remover) และประเภทมาร์คหน้า  (Mask) ก็เป็นสินค้าที่มีความนิยมมากขึ้น เพราะคนไทยมีพฤติกรรมด้านความงามที่เปลี่ยนไป ให้ความสำคัญกับการดูแลผิวหน้ามากขึ้นด้วยการเพิ่มขั้นตอนในการดูแล

Millennials ผู้ซื้อเครื่องสำอางหลัก

เมื่อเจาะลึกถึงถึงกลุ่มเป้าหมายที่มีผลต่อการเติบโตของตลาดรวมของผลิตภัณฑ์ความงามแล้ว  จะสามารถแบ่งออกเป็น  4 กลุ่มหลัก คือ กลุ่ม Gen Z, กลุ่ม Millennials, กลุ่ม  Gen X  และกลุ่ม Baby Boomer จะเห็นว่ากลุ่ม Millennials หรือกลุ่มคนที่มีอายุ  23 – 39 ปี  ซึ่งอยู่ในวัยเริ่มทำงานจะเป็นกลุ่มหลักที่ยึดครองสัดส่วนถึง 43% ทั้งในแง่ของมูลค่า และ ปริมาณ โดยที่กลุ่มเป้าหมายวัยรุ่นจะเป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญของตลาด

เมื่อดูในแง่ของกำลังซื้อและแบรนด์ที่เลือกใช้ระหว่างผลิตภัณฑ์ที่เป็น Mass Brand และพรีเมี่ยมแบรนด์อย่างเช่น  มีสทีน (Mistene), การ์นีเย่ (Garnier), พอนด์ (Ponds), นีเวีย (Nivea), โอเลย์  (Olay) และระดับพรีเมี่ยมอย่าง ลอรีอัล,   Artistry, Smooth E, Oriental Princess ผู้บริโภคจะมีกำลังซื้อโดยเฉลี่ยสำหรับสินค้า Mass Brand เป็นจำนวน  176 บาทในปริมาณ 100 ml และเฉลี่ย 536 บาทในปริมาณ 100 ml สำหรับพรีเมี่ยมแบรนด์

จับตา Micro Influencer มาแรงแซงดารา เน็ตไอดอล

กลยุทธ์สำคัญที่เจาะให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ จะต้องเป็นกลยุทธ์ที่รวมทั้งดิจิทัล สังคม และธุรกิจเข้าด้วยกัน เช่น การนำกลยุทธ์ Micro Influencer มาใช้อย่างถูกต้อง เพราะทำให้เข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคได้มากขึ้น รวมถึงต้องเข้าใจความต้องการของผู้บริโภคว่ามีความต้องการผลิตภัณฑ์ความงามที่เป็นการป้องกัน หรือประเภท Anti-Aging  มากกว่าต้องการการแก้ไข

เพราะผู้บริโภคปัจจุบัน มีความต้องการผลิตภัณฑ์ประเภทสวยเร่งด่วน และต้องการความสะดวกสบาย เป็นสูตรสำเร็จแบบ ออล-อิน-วัน  เน้นผลิตภัณฑ์ที่เป็นธรรมชาติ  ไม่ก่อให้เกิดการแพ้   ที่สำคัญที่สุด คือต้องเป็นสินค้าที่มีเรื่องราว มีความเป็นมา และอยู่ในยุคสมัย

สรุป

ตลาดเครื่องสำอาง และความงามยังเป็นธุรกิจดาวรุ่ง มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องทุกปี แต่สิ่งที่เห็นได้ชัดคือความต้องการผู้บริโภคที่สูงขึ้น แบรนด์จึ้งต้องมีการปรับตัว ใส่นวัตกรรมใหม่ๆ และมีการทำตลาดที่เข้าถึงให้มากที่สุด

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา