ศึกษากลยุทธ์ Startup ผู้ชนะ 3 รายที่เตรียมบุกตลาดโลกกับบริษัทประกัน Allianz

หลายโครงการ Accelerator ในประเทศไทยอาจเน้นแค่บ่มเพาะ และช่วย Startup ทำตลาดในไทยเป็นหลัก แต่ตอนนี้ยักษ์ใหญ่ในธุรกิจประกัน Allianz ได้คิดใหม่ พร้อมสร้างทางลัดให้ Startup ไทยไปบุกตลาดโลกได้ง่ายขึ้น

 

Accelerator ยังไปได้ แต่ต้องจูงใจด้วยตลาดโลก

อย่างที่กล่าวไปข้างต้น Accelerator ในประเทศไทยนั้นมีหลายโครงการให้ Startup ได้เข้าไปร่วม และเติบโตอย่างรวดเร็วหากมีผลิตภัณฑ์ที่โดนใจ แต่จริงๆ แล้วการเติบโตในธุรกิจ Startup นั้นก็ไม่จำเป็นต้องเข้าโครงการดังกล่าวนัก เพราะมีนักลงทุนรายย่อยที่พร้อมเดิมพันไปกับธุรกิจดังกล่าว หรือบางเจ้าอาจเลือกระดมทุนด้วย ICO ก็ได้

ดังนั้นการจะจูงใจให้ Startup เข้ามาร่วมแข่งขันภายในโครงการ Accelerator จึงไม่ใช่แค่ให้เงินรางวัลสูงๆ หรือเชิญ Mentor มาช่วยสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ แต่ต้องช่วยเปิดโอกาสทางธุรกิจให้กับ Startup เหล่านั้นได้มากกว่าคู่แข่งโครงการอื่น ซึ่งการสร้างทางลัดให้ไปบุกตลาดโลกก็คือหนึ่งในทางเลือกที่ดี

ไบรอัน สมิธ กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.อลิอันซ์ อยุธยา ประกันชีวิต เล่าให้ฟังว่า โครงการ Allianz Ayudhya Activator ตั้งขึ้นเพื่อตอบรับลูกค้าในยุคดิจิทัล ที่ต้องการผลิตภัณฑ์หรือบริการที่ไม่ซับซ้อน ใช้งานได้ง่าย และจะเข้าถึงเมื่อไหร่ก็ได้แค่มีอินเทอร์เน็ต ผ่านการดึง Startup ที่น่าสนใจเข้ามาช่วยพัฒนา แต่จะดึง Startup เหล่านั้นเข้ามา การทำธุรกิจแบบพาร์ทเนอร์ก็จำเป็น

“เราพร้อมที่จะสนับสนุน Startup ที่น่าสนใจด้วยการเติบโตไปด้วยกันแบบพาร์ทเนอร์ธุรกิจ พร้อมกับสร้างแรงจูงใจด้วยแนวคิด Think Global From Day One เพื่อให้ Startup เหล่านั้นเห็นอนาคตทางธุรกิจว่าสามารถเติบโตในระดับโลกได้ตั้งแต่วันนี้ เพราะด้วยเครือข่ายธุรกิจ Allianz ที่มีอยู่ทั่วโลก ทำให้ Startup ให้ความสนใจอย่างมาก”

และหากมองดูกลุ่ม Startup ที่ Allianz Ayudhya เลือกต่อยอดธุรกิจด้วยนั้น ก็น่าสนใจเช่นกัน เพราะจะเห็นได้ว่ากลุ่มผู้ชนะทั้งหมด มาจากกลุ่ม HealthTech มากกว่าที่จะเป็นด้าน FinTech ที่เราคาดว่าน่าจะเกี่ยวข้องโดยตรงกับธุรกิจประกัน ซึ่งไบรอัน เล่าถึงเหตุผลว่า

การดูแลรักษาสุขภาพ เป็นหนึ่งในความต้องการที่สำคัญของคนไทย เนื่องจากประชาชนทั่วไปมีความคุ้มครองสุขภาพอยู่ในระดับต่ำมาก รวมทั้งสถานการณ์สังคมสูงวัยและค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลที่สูงขึ้น ในฐานะบริษัทประกัน เราเลยอยากที่จะมีบทบาทเชิงรุก เพื่อช่วยส่งเสริมการกินดีอยู่ดีและการมีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของคนไทย การได้ร่วมงานกับStartup เก่งๆ จึงถือเป็นโอกาสของ Allianz Ayudhya เช่นกัน ที่จะนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการด้านสุขภาพแบบครบวงจรให้กับทั้งลูกค้าของเราและคนไทยทั่วไป”

Doctor A to Z กับการจับคู่การรักษา Online

โครงการ Allianz Ayudhya Activator ได้จบไปแล้ว และได้ผู้ชนะ 3 ราย โดยรายแรกคือ Doctor A to Z ผู้ให้บริการจับคู่การรักษาโรค Online เพื่อยกระดับ Medical Tourism ไปอีกขั้น แม้ปัจจุบันตัวแทนท่องเที่ยวในรูปแบบดังกล่าวจะมีอยู่มากมายในไทย แต่จะดีกว่าหรือไม่ถ้าผู้ป่วยสามารถตัดสินใจเลือกการรักษาได้เอง

อนุชา พาน้อย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Doctor A to Z เล่าให้ฟังว่า ตัวธุรกิจนั้นเป็นแพลตฟอร์มรวบรวมแพทย์ และโรงพยาบาลเอาไว้ ปัจจุบันมีแพทย์ 30 คน กับอีก 10 โรงพยาบาล โดยเบื้องต้นตั้งเป้าไว้ 65 โรงพยาบาลในไทย ซึ่งในอนาคตจะมีการร่วมกับโรงพยาบาลต่างประเทศ เพื่ออำนวยความสะดวกได้มากกว่าเดิม

“ผู้ป่วยจะได้แพ็คเกจราคาค่ารักษา เช่นการผ่าตัดที่ถูกกว่าปกติ 50-70% โดยใช้เวลาค้นหาเพียง 10-15 นาทีเท่านั้น ยิ่งเรามีเครือข่ายเป็นแพทย์ในต่างประเทศอยู่แล้ว ก็ทำให้การขยายตลาดนั้นเร็วขึ้น และเราไม่ได้ทำลายตัวแทน Medical Tourism เดิมๆ เพราะเขาก็ขายผ่านเราได้เช่นกัน”

Vitaboost Wellnest ที่ออกแบบวิตามินเฉพาะบุคคล

และทีมที่ 2 ที่ชนะการแข่งขันโครงการนี้คือ Vitaboost Wellness ที่ให้บริการวิตามินเฉพาะบุคคล เพียงแค่ผู้สนใจส่งค่าเลือด หรือเลือกตอบคำถามทางการแพทย์ บริษัทก็จะปรุงวิตามินให้เหมาะสมกับคนคนนั้นที่สุด ผ่านการวิเคราะห์ด้วย AI เนื่องจากวิตามินในตลาดปัจจุบันนั้นไม่ได้เหมาะสมกับทุกคน โดยมี สุวิชชา เนติวิวัฒน์ เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้ก่อตั้ง

“ถ้าไม่สะดวกเราก็มีเครือข่ายพยาบาลไปเจาะเลือดที่บ้านให้ได้ถึง 40 จังหวัด ซึ่งการส่งผลเลือดไปที่ห้องแลปก็ใช้ระยะเวลา 5-7 วันถึงจะรู้ผล จากนั้นเราก็จะใช้เวลาเพียง 3 วันในการปรุงวิตามิน สรุปแล้ว 10 วันวิตามินก็จะส่งถึงบ้าน เมื่อเป็นอย่างนี้เราก็จะแก้ไขปัญหาเรื่องคนไทย หรือคนอื่นๆ บนโลกที่ขาดวิตามินได้ทันที”

สำหรับค่าบริการของ Vitaboost Wellnest เริ่มต้นที่ระดับ Premium ราคา 2,200 บาท/เดือน ได้วิตามิน 10 ตัว และ Platinum ราคา 5,000 บาท/เดือน ได้วิตามิน 16 ตัว โดยเงินทุนที่ได้มาจะนำไปทำผลิตภัณฑ์ใหม่เช่น Skincare เฉพาะบุคคล นอกจากนี้การทำงานร่วมกับบริษัทประกันยังทำให้บริษัทขยายตลาดไปต่างประเทศได้เร็วขึ้น

SHARMBLE ผู้เข้ามาแก้ปัญหาผู้ป่วยเรื้อรัง

ส่วนทีมสุดท้ายที่ชนะในการแข่งขันนี้คือ SHARMBLE ที่มี กฤติน ทิพย์แสง เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้ก่อตั้ง โดยตัวธุรกิจจะเข้ามาช่วยดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ผ่าน Telemedicine ที่ให้ผู้ป่วยสามารถปรึกษาแพทย์ได้ผ่าน Online นอกจากนี้ยังมีระบบจัดส่งยาตามใบสั่งให้ฟรี ทำให้ผู้ป่วยโรคเรื้อรังมาโรงพยาบาลแค่เวลาจำเป็นเท่านั้น

“เราเป็นแพลตฟอร์มกลางในการเชื่อมต่อแพทย์, ร้านขายยา และพยาบาลให้เข้ามาดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่มีความเสถียรแล้ว ทำให้มันช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายกับผู้ป่วยได้ 50-60% เลยด้วย ถึงตอนนี้เราทำมา 1 ปีแล้ว มีลูกค้าประจำ 400 กว่าคน แต่การชนะในโครงการนี้ก็ทำให้ธุรกิจเราไปไกลกว่าเดิม”

ด้านการขยายไปต่างประเทศนั้น การได้ Allianz มาเป็นพาร์ทเนอร์ ก็ช่วยให้การเข้าไปร่วมกับโรงพยาบาล และร้านขายยาต่างๆ ได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ความสะดวกของ SHARMBLE ยังทำให้ค่าเคลมประกันต่อปีนั้นลดลงด้วย ผ่านการทำราคาค่าบริการที่ต่ำกว่าเดิม

ทั้งนี้ Startup ที่ชนะทั้ง 3 ทีมจะได้เงินลงทุนมูลค่ารวมกว่า 2 ล้านบาท พร้อมได้สิทธิ์ไปนำเสนอธุรกิจในระดับโลกบนเวที Allianz X ที่เป็นหน่วยงานดูแลการลงทุนเชิงดิจิทัลของกลุ่ม Allianz ที่ประเทศเยอรมนี นอกจากนี้ยังทำธุรกิจกับ Allianz Ayudhya ในระยะยาวอีกด้วย

สรุป

การทำงานของ Startup นั้นปัจจุบันจะมองแค่ตลาดไทยไม่ได้ ต้องมองภาพในระยะยาวด้วย ซึ่งการทำตลาดในต่างประเทศก็เป็นเรื่องสำคัญ ดังนั้นเวที Allianz Ayudhya Activator จึงเป็นหนึ่งในนิมิตหมายใหม่ของวงการ Startup ไทยที่เปิดกว้างให้ธุรกิจไปสู่ตลาดที่กว้างขึ้น นอกจากนั้น เรายังได้เห็นก้าวใหม่ของบริษัทประกันชีวิต ที่ลงมาเล่นเรื่องของการดูแลสุขภาพในเชิงรุกมากขึ้น ผ่านการเลือกพาร์ทเนอร์กับสตาร์ทอัพ ที่จะช่วยต่อยอดธุรกิจเพื่อตอบโจทย์ลูกค้ายุคใหม่

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

mm
Branded Content เป็นบทความที่ได้รับการสนับสนุนจากสปอนเซอร์