รีวิว 2018 HIGHLAND 4.20 หนึ่งในงานเปิดโลกกัญชาที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ณ ชั้นดาดฟ้าของศูนย์การค้าฟอร์จูนทาวน์ มีการจัดงานเปิดโลกกัญชาที่รวมตัวพลพรรคสายเขียวในชื่อ 2018 HIGHLAND 4.20 โดยมีนิทรรศการบอกเล่าเรื่องราวและประวัติศาสตร์ของกัญชาในประเทศไทยตั้งแต่ยุคอดีตจนถึงปัจจุบัน พร้อมทั้งแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความรู้ และร่วมกันฉายภาพอนาคตของกัญชาในประเทศไทย ว่าถึงที่สุดแล้วจะเดินไปทางไหนดี

Brand Inside ได้เดินทางเข้าร่วมงาน จึงถือโอกาสนี้รีวิวภาพรวมของงานมาให้ได้ชมกัน

ทางเข้างาน
ทางเข้างาน

งาน 2018 HIGHLAND 4.20 จัดขึ้นในปีนี้เป็นครั้งที่ 4 แล้ว ตัวตั้งตัวตีของงานนี้คือเพจกัญชาชน โดยงานจะจัดขึ้นปีละ 1 ครั้ง ส่วนการจะเข้าร่วมงานได้นั้น ต้องสมัครผ่าน event ที่จัดขึ้น โดยมีราคาบัตรเริ่มต้นที่ 550 บาท (หากซื้อหน้างานราคาบัตรจะอยู่ที่ 600 บาท)

หลังจากนั้น เมื่อลงทะเบียนเสร็จเรียบร้อย เดินเข้ามาในงาน จะได้พบกับนิทรรศการ เวที ร้านค้า และพื้นที่สังสรรค์

สกรีนเสื้อด้านหลังของผู้ร่วมงานคนหนึ่ง
สกรีนเสื้อด้านหลังของผู้ร่วมงานคนหนึ่ง

นิทรรศการเรื่องเล่ากัญชา

สิ่งแรกที่พบเมื่อเข้ามาในงานคือนิทรรศการที่บอกให้รู้ตั้งแต่คำถามพื้นฐาน เช่น กัญชาคืออะไร มีสารอะไรอยู่ในกัญชา วัฒนธรรมของกัญชาไทยและโลกเป็นอย่างไร ลากไปจนถึงกฎหมายกัญชาในประเทศไทยขณะนี้ถึงไหนแล้ว

  • ในปัจจุบัน ร่างประมวลกฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ (ที่มีการระบุให้กัญชาใช้ในทางการแพทย์ได้) ยังอยู่ในขั้นตอนของการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา
นิทรรศการกัญชาในประเทศไทย
นิทรรศการกัญชาในประเทศไทย

ภูมิปัญญา “กัญชง” จากรุ่นสู่รุ่นของชนเผ่าม้ง

ถัดจากนิทรรศการกัญชา มีพื้นที่แสดงสินค้าของชุมชนบ้านเล่าเน้ง พวกเขาเป็นคนเผ่าม้ง ที่นำกัญชง (ไม่ใช่กัญชา) มาถักทอเป็นผ้าใยที่มีความคงทนสูง เป็นภูมิปัญญาที่ส่งทอดกันรุ่นสู่รุ่น ทำกันมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ

ในปัจจุบัน แม้จะใช้กัญชงเพื่อถักทอผ้าใยได้ แต่จำนวนและบริเวณการปลูกกัญชงยังคงต้องอยู่ภายใต้การกำกับของภาครัฐ

นุชจรีย์ ประทีปศิริ หัวหน้าชุมชนบ้านเล่าเน้ง เล่าให้เราฟังว่า “เผ่าม้งของเราก็ปลูกกัญชงมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ กัญชงกับเผ่าม้งผูกพันธ์กันตั้งแต่เกิดจนตาย อย่างตอนที่มีคนในเผ่าตาย พวกเราจะทำรองเท้า เสื้อผ้าจากกัญชง แล้วจะฝังไปกับคนตาย เพราะเราเชื่อว่าคนตายจะได้นำไปใช้ในโลกหน้า ทุกวันนี้เราก็ยังปลูกกัญชงเพื่อทำผ้าใย ใส่เองบ้าง ขายบ้าง แต่ก็ต้องอยู่ในการดูแลของเจ้าหน้าที่”

นุชจรีย์ ประทีปศิริ หัวหน้าชุมชนบ้านเล่าเน้ง
นุชจรีย์ ประทีปศิริ หัวหน้าชุมชนบ้านเล่าเน้ง

เวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์

นิกร ชายหนุ่มผู้หายขาดจากโรคมะเร็งระยะสุดท้ายด้วยการใช้กัญชา (โปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน)

เขาเล่าว่าเมื่อชีวิตไม่เหลือทางเลือก วิธีการรักษาทางการแพทย์ปฏิเสธการรักษา เขามีโอกาสได้พึ่งกัญชาในห้วงเวลานั้น และปัจจุบันนี้เขากลับมามีอาการปกติแล้ว

“ผมหายมาแล้ว 2 ปี ถ้าย้อนไปตอนนั้น เทียบค่าคีโมรักษาที่แสนแพงกับค่าปรับมีกัญชาในครอบครอง ผมยอมเลือกเสียค่าปรับ เพราะมันคือชีวิตผม ชีวิตของผม ผมขอเลือกวิธีตายของตัวเองดีกว่า ไม่ต้องให้ใครมาบอก”

คุณนิกร (ผู้หายจากโรคมะเร็งระยะสุดท้ายด้วยกัญชา)
คุณนิกร (ผู้หายจากโรคมะเร็งระยะสุดท้ายด้วยกัญชา)

ส่วนด้านของ น้อย วีระพันธ์ งามมี นักเคลื่อนไหวและผู้อำนวยการมูลนิธิโอโซน ขึ้นบนเวทีพูดถึงความพยายามในการเคลื่อนไหวให้กัญชาถูกกฎหมายในประเทศไว้ว่า “ทุกเสียงสำคัญ ถ้าเรามีสมาชิกในเพจมากพอ จะแสนหรือสองแสน มันมีพลัง สิ่งสำคัญคือเราจะต้องส่งเสียงให้ทุกคนได้ยิน เราต้องไม่เงียบ”

ข้อเสนอของพวกเราคือ เราไม่ได้ต้องการให้กัญชาเสรี 100% (ชนิดที่ว่าซื้อขายได้อย่างพริกหรือมะนาว) แต่สิ่งที่จำเป็นมากที่สุดขณะนี้คือ ต้องเอากัญชาออกจากลิสต์ของยาเสพติด เพราะประสบการณ์ทั้งต่างประเทศและไทยพิสูจน์แล้วว่า มาตรการแบบนี้มันไม่ได้ผล ต่อจากนี้เราจะเคลื่อนไหวโดยมียุทธศาสตร์ มีนักวิชาการ มีคนรุ่นใหม่ มีพรรคการเมืองที่เห็นด้วยกับเราช่วยกันผลักดันประเด็นนี้ในประเทศไทย

น้อย วีระพันธ์ งามมี (นักเคลื่อนไหว และผู้อำนวยการมูลนิธิโอโซน)
น้อย วีระพันธ์ งามมี (นักเคลื่อนไหว และผู้อำนวยการมูลนิธิโอโซน)
สกรีนเสื้อด้านหลังของผู้ร่วมงานคนหนึ่ง
สกรีนเสื้อด้านหลังของผู้ร่วมงานคนหนึ่ง

พื้นที่สังสรรค์ภายในงาน

โซนพักผ่อนของผู้เข้าร่วมงาน ในระหว่างการรับฟังความเห็นและความรู้จากวิทยากร 

บรรดาร้านค้าที่มาเปิดบูธภายในงาน

ร้านขายน้ำผลไม้
ร้านขายน้ำผลไม้
ร้านขายอาหาร
ร้านขายอาหาร
ร้านขายสินค้าไลฟ์สไตล์
ร้านขายสินค้าไลฟ์สไตล์
บูธร้านค้าจากเพจ บ้อง ปาร์ตี้
บูธร้านค้าจากเพจ บ้อง ปาร์ตี้

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา