ท่าทีของรัฐบาลสหรัฐในยุคทรัมป์ต่อข้อตกลงการค้า TPP (Trans Pacific Partnership) มีอันเปลี่ยนไปอีกครั้ง เมื่อทรัมป์กลับลำ 180 องศา และบอกว่าสหรัฐ “อาจ” กลับเข้าร่วม TPP อีกครั้ง
ทรัมป์แสดงท่าทีชัดเจนว่าต่อต้าน TPP มาตลอดตั้งแต่ช่วงเลือกตั้งประธานาธิบดี และการถอนตัวจาก TPP เป็นสิ่งแรกๆ ที่เขาทำเมื่อเข้าดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีอย่างเป็นทางการช่วงต้นปี 2017
แต่ล่าสุดเมื่อคืนนี้ ทรัมป์แจ้งให้คณะทำงานด้านเศรษฐกิจของตัวเอง ได้แก่ Larry Kudlow ประธานสภาเศรษฐกิจแห่งชาติ (National Economic Council) และ Robert Lighthizer ตัวแทนการค้าของสหรัฐ เตรียมตัวกลับเข้าไปเจรจาเงื่อนไข TPP ใหม่
หลังเรื่องนี้เป็นข่าว ทรัมป์ได้ทวีตอธิบายแนวคิดของเขาว่า เขายินดีกลับเข้าร่วม TPP ก็ต่อเมื่อได้รับข้อเสนอที่ดีกว่าสมัยรัฐบาลโอบามาเท่านั้น และปัจจุบัน สหรัฐก็มีข้อตกลงแบบทวิภาคีกับ 6 ประเทศสมาชิกของ TPP อยู่แล้ว (จากปัจจุบันมี 11 ประเทศ)
Would only join TPP if the deal were substantially better than the deal offered to Pres. Obama. We already have BILATERAL deals with six of the eleven nations in TPP, and are working to make a deal with the biggest of those nations, Japan, who has hit us hard on trade for years!
— Donald J. Trump (@realDonaldTrump) April 13, 2018
ส่วนโฆษกของทำเนียบขาวก็ย้ำประเด็นนี้ว่า ทรัมป์ไม่ได้ต่อต้านข้อตกลง TPP แต่เขาต้องการถอนตัวเพราะเงื่อนไข TPP ที่รัฐบาลโอบามาไปเจรจาไว้นั้นส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในประเทศ และทรัมป์ก็พูดตลอดมาว่ายินดีจะกลับเข้า TPP หากมีเงื่อนไขที่ดีกว่าเดิม
ที่ผ่านมา กลุ่มประเทศสมาชิก TPP จำนวน 11 ประเทศ ตัดสินใจเดินหน้าเซ็นสัญญากันโดยไม่รอสหรัฐ และลงนามอย่างเป็นทางการในเดือนมกราคม 2018 ประเทศเหล่านี้ที่เรียกว่า TPP-11 ประกอบด้วย ออสเตรเลีย บรูไน แคนาดา ชิลี ญี่ปุ่น มาเลเซีย เม็กซิโก นิวซีแลนด์ เปรู สิงคโปร์ และเวียดนาม
เหตุผลที่ทำให้ทรัมป์กลับลำเรื่อง TPP น่าจะมาจากสงครามการค้ากับประเทศจีนที่กำลังร้อนแรงในรอบ 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา (อ่านรายละเอียดในบทความ บทวิเคราะห์ สงครามการค้าระหว่าง สหรัฐอเมริกา และ จีน เกมนี้จะจบอย่างไร) ทำให้ทรัมป์อาจต้องหาพันธมิตรอื่นมาช่วยกันกดดันจีน และ TPP ก็ถือเป็นพันธมิตรที่เข้มแข็งของสหรัฐในเรื่องนี้
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา