ใครๆ ก็อยากมีบ้าน แต่งบ้าน แต่เงินไม่มี แล้วคนขายวัสดุสร้างบ้านจะอยู่อย่างไร

เกือบทุกคนต้องเคยฝันว่าอยากมีบ้านของตัวเองซักหลัง เพื่อเป็นที่พักอาศัยตั้งแต่ช่วงทำงาน จนถึงแก่เฒ่า หรือไม่ก็อยากทำให้บ้านตัวเองกลายเป็นวิมานย่อมๆ เวลากลับจากที่ทำงานจะได้ผ่อนคลายได้เต็มที่ แต่เมื่อเศรษฐกิจซบเซาแบบนี้ ใครล่ะจะอยากเป็นหนี้เพื่อมาสร้างบ้าน หรือแต่งบ้าน

ทนอยู่บ้านแบบเดิมๆ ส่วนสร้างใหม่ต้องรอก่อน

กำชัย หลุยยะพงศ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายการตลาด บริษัท ซีอาร์ซี ไทยวัสดุ จำกัด บอกว่า ช่วงนี้เศรษฐกิจโดยรวมยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ทำให้ฝั่งผู้บริโภคไม่ตัดสินใจซื้ออุปกรณ์ตกแต่งบ้าน และชะลอการสร้างบ้านเอาไว้ก่อน โดยเฉพาะในต่างจังหวัดที่ผลผลิตทางการเกษตรถูกภัยธรรมชาติ รวมถึงกลไกทางตลาดจนเกษตรกรมีรายได้ลดลง ดังนั้นคงไม่แปลกที่ผู้ค้าวัสดุเกี่ยวกับการตกแต่ง และสร้างบ้านต้องกลับมาวางแผนทั้งการตลาด และบริหารสต๊อกเพื่อรอความหวังตลาดกลับมาฟื้นในปี 2560

“ถ้าไม่นับคนทำงานในกรุงเทพ ในต่างจังหวัดส่วนใหญ่ที่ซื้อบ้าน และตกแต่งบ้านก็จะเป็นเกษตรกร แต่เมื่อสภาพอากาศ และราคาตลาดไม่เอื้ออำนวย จากเดิมที่พวกเขาขายผลผลิต แล้วก็มาซื้อของไปทำบ้าน ปัจจุบันก็แทบไม่มี เช่นการต่อเติมบ้าน และสร้างหลังคา ซึ่งผู้ค้าวัสดุเกี่ยวกับบ้าน และอุตสาหกรรมอื่นๆ ก็ประสบกับวิกฤตินี้ทั้งหมด จนถ้าเจาะกันไปถึงตัวเลข ปีนี้ตลาดวัสดุสร้างบ้าน และต่อเติมบ้านคงลดลง 3 – 5% เมื่อเทียบกับปีก่อน แต่ถ้ามีกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้ามารวมด้วย จะมีมูลค่า 4.6 แสนล้านบาท และเพิ่มขึ้น 3%”

กำชัย
กำชัย หลุยยะพงศ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายการตลาด บริษัท ซีอาร์ซี ไทยวัสดุ จำกัด

ปรับตัวเข้าโครงการรัฐ – เอกชนคือทางออก

อย่างไรก็ตามการปรับตัวเข้าโครงการภาครัฐ และเอกชนเป็นอีกวิธีที่ดีที่สุดสำหรับผู้ค้าวัสดุสร้าง และตกแต่งบ้าน เพราะการซื้อจะเป็นรูปแบบเหมาทั้งโครงการ เช่นคอนโดมีเนียม และการสร้างรถไฟฟ้าสายต่างๆ ทำให้ลดความเสี่ยงที่จะโฟกัสการตลาดไปที่ผู้บริโภคเพียงอย่างเดียว แต่กลุ่มไทวัสดุ ที่ปัจจุบันมี 3 แบรนด์คือ ไทยวัสดุ, โฮมเวิร์ค และบ้านแอนด์บียอนด์ จะเน้นเจาะกลุ่มผู้บริโภค และช่างรับเหมาที่มาสร้าง กับตกแต่งบ้านเหมือนเดิม เพราะแต่ละแบรนด์มีจุดเด่นแตกต่างกัน และการแข่งขันของผู้เล่นประเภทเดียวกันยังมีไม่มากนัก

สำหรับ ไทยวัสดุ จะเจาะกลุ่มผู้ซื้อที่ต้องการสร้างบ้านตั้งแต่เริ่มต้น เช่นการวางโครงสร้างพื้นฐาน และการตีห้องในรูปแบบต่างๆ ทำให้ส่วนใหญ่เป็นช่างรับเหมา หรือเจ้าของบ้านพาช่างมาซื้อ ส่วนโฮมเวิร์คจะเจาะกลุ่มผู้ต้องการตกแต่งบ้านระดับเบื้องต้น และบ้านแอนด์บียอนจะเน้นที่การตกแต่งในระดับสูง ทำให้ทั้งสองหน้าร้านจะเป็นเจ้าของบ้านมาเลือกซื้อมากกว่า โดยปีนี้ตั้งเป้ารายได้รวมไว้ที่ 2 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 3 – 5% และทั้งหมดนี้เน้นจำหน่ายผ่านหน้าร้าน ไม่ทำช่องทางออนไลน์

construction-646914_1920

ยึดคอนเซ็ป From land to house, From house to home.

กำชัย เล่าว่า การที่บริษัทไม่เน้นทำช่องทางออนไลน์ เพราะการเลือกซื้อวัสดุสร้าง และตกแต่งบ้าน ผู้ซื้อส่วนใหญ่ต้องการมาเห็นสินค้าจริงก่อนซื้อ เพื่อแน่ใจว่าซื้อไปแล้วไม่ผิด ดังนั้นกลุ่มไทวัสดุจึงวางทุกบริษัทให้ทำหน้าร้านให้ดีที่สุด เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค และช่างรับเหมา ผ่านคอนเซ็ปจากที่ดินเป็นที่พักอาศัย และจากแค่ที่พักอาศัยเป็นบ้านที่อบอุ่น ผ่านการขยายสาขาอย่างต่อเนื่อง อย่างปีนี้ใช้งบกว่า 560 ล้านบาทเพื่อเพิ่มสาขาไทวัสดุ 1 แห่ง และปีหน้าจะทยอยเพิ่มหน้าร้านอีกเช่นกัน

ไทวัสดุสาขาใหม่ย่านพระราม 2
ไทวัสดุสาขาใหม่ย่านพระราม 2

สรุป

ด้วยภาพรวมเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวตอนนี้ ทำให้กลุ่มค้าวัสดุสร้าง และตกแต่งบ้านประสบปัญหาการขายสินค้า และน่าจะเป็นไปอีกซักระยะ หากร้านเหล่านี้ไม่ปรับตัวร่วมกับโครงการต่างๆ ของภาครัฐ และเอกชน เพราะการไม่ปรับตัวเท่ากับว่าต้องพึ่งยอดขายจากฝั่งผู้บริโภคเท่านั้น

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา