KTB ออกบัตร Krungthai Travel Card เจาะกลุ่มคนไปนอก ให้อัตราแลกเงินดีกว่าท้องตลาด

ช่วงหลังแวดวงธนาคารกลับมาคึกคักเรื่องเทคโนโลยีและบริการใหม่ๆ หลายอย่าง ฝั่งของค่ายนกสีฟ้า KTB ที่เดิมมีภาพลักษณ์เป็นแบงค์รัฐที่ดูล้าสมัย ก็เริ่มมีความเคลื่อนไหวเช่นกัน

ผลิตภัณฑ์ตัวใหม่ที่น่าสนใจจากธนาคารกรุงไทยคือ Krungthai Travel Card บัตรจ่ายเงินที่จับกลุ่มคนไทยเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศปีละประมาณ 7 ล้านคน โดยมีจุดขายเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนเงินสกุลต่างประเทศที่ถูกกว่าบัตรเครดิตทั่วไป

บัตรจ่ายเงิน Visa + ร้านแลกเงินผ่านแอพ

แนวทางของ Krungthai Travel Card คือใช้บัตรรูดหรือกดเงินจาก ATM ในต่างประเทศดังเช่นบัตรเครดิต Visa ปกติ (ตัว Travel Card เองไม่ใช่บัตรเครดิต แต่จ่ายได้ทุกที่ที่รับ Visa และไม่มีค่าธรรมเนียมการรูดเหมือนบัตรเครดิตทั่วไป) แต่ลูกค้าจำเป็นต้อง “แลกเงิน” จากเงินไทยเป็นสกุลเงินที่ต้องการไว้ก่อนผ่านแอพ Krungthai netbank ที่เป็นมาตรฐานของธนาคารกรุงไทยอยู่แล้ว จากนั้นเงินต่างประเทศที่แลกไว้จะถูกหักออกเมื่อใช้บัตรจ่ายในสกุลเงินนั้นๆ (ต่างจากบัตรเครดิตทั่วไปที่รูดเป็นเงินต่างประเทศแล้วค่อยแปลงเป็นเงินไทย ในเรตที่ลูกค้าควบคุมไม่ได้ แต่บัตร Travel Card ลูกค้าจะรู้อัตราแลกเปลี่ยนที่แลกเก็บไว้ก่อนรูด)

ในกรณีที่ลูกค้าแลกเงินไว้ในบัตรไม่พอ จะสามารถกดซื้อเพิ่มได้จากแอพ KTB Netbank ได้เช่นกัน (หากสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ในตอนนั้น) และหากแลกเงินไว้มากเกินจำเป็นก็สามารถ “ขาย” คืนกลับไปยังธนาคารกรุงไทยเพื่อรับเงินเป็นเงินบาทคืนได้ด้วย

 

วงเงินการใช้งานของ Travel Card คือ 50,000 บาท/วันสำหรับการถอนเงินสดจากตู้ ATM ในต่างประเทศ และ 500,000 บาท/วัน สำหรับการรูดจ่ายค่าสินค้าผ่านเครื่อง EDC ในต่างประเทศ

ชูจุดเด่นอัตราแลกเปลี่ยน 7 สกุลเงินหลัก ไม่แพ้ใครในท้องตลาด

จุดเด่นของบัตร Krungthai Travel Card คืออัตราแลกเปลี่ยนที่ดีกว่าในท้องตลาดของ 7 สกุลเงินหลัก ได้แก่ ดอลลาร์สหรัฐ (USD) ยูโร (EUR) ปอนด์ (GBP) เงินเยน (JPY) ดอลลาร์ฮ่องกง (HKD) ดอลลาร์ออสเตรเลีย (AUD) และดอลลาร์สิงคโปร์ (SGD) ซึ่งตรงนี้เป็นอัตราแลกเปลี่ยนพิเศษเฉพาะลูกค้า Travel Card เท่านั้น

จากการตรวจสอบข้อมูลของทีมงาน Brand Inside ได้ขอข้อมูลอัตราแลกเปลี่ยนเงินทั้ง 7 สกุลจากธนาคารกรุงไทย (เฉพาะเรตของ Travel Card) ประจำวันที่ 10 เมษายน 2561 และนำมาเทียบกับอัตราแลกเปลี่ยนเงินสกุลเดียวกันจากเว็บไซต์ Super Rich Thailand พบว่าเรตค่อนข้างใกล้เคียงกันมาก จะต่างกันคือในระดับเศษสตางค์เท่านั้น และถ้าเทียบกับอัตราแลกเปลี่ยนของธนาคารทั่วไปหรืออัตราแลกเปลี่ยนของบัตรเครดิต จะเห็นว่า Travel Card มีความน่าสนใจมากทีเดียว

ถ้าหาก Krungthai Travel Card ยังสามารถรักษาอัตราแลกเปลี่ยนระดับเดียวกับร้านอย่าง SuperRich ได้ตลอด ก็จะเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจมากเวลาเดินทางไปต่างประเทศ เพราะไม่ต้องเสียเวลาไปต่อคิวร้านแลกเงินก่อนไปเดินทาง สามารถกดแลกผ่านแอพได้เองจากที่ไหนก็ได้ โดยได้เรตที่ทัดเทียมกัน

อัตราแลกเปลี่ยน Krungthai Travel Card vs Super Rich (เขียว) วันที่ 10 เมษายน 2561

ธนาคารกรุงไทยเริ่มเปิดบริการบัตร Krungthai Travel Card ตั้งแต่วันที่ 5 เมษายน 2561 โดยตั้งเป้าไว้ 2 แสนบัตร มีกลุ่มเป้าหมายคือ นักธุรกิจ นักศึกษา นักท่องเที่ยว บริษัททัวร์ และพนักงานสายการบิน ช่วงแรกยังจะเว้นค่าธรรมเนียมออกบัตร 200 บาท และค่าธรรมเนียมรายปี 2 ปีแรกด้วย

ที่มา – ธนาคารกรุงไทย

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา