ดิจิทัล เวนเจอร์ส ผู้ศึกษาและพัฒนานวัตกรรมทางการเงินในเครือธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดโครงการระดับชาติ U.REKA จับมือคณะวิศวกรรมศาสตร์จากมหาวิทยาลัยชั้นนำ 7 แห่งของไทย ร่วมกับไมโครซอฟท์ และ KXในการสนับสนุนให้เกิดการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมผ่านเทคโนโลยีชั้นสูง (Deep Technology) ตั้งแต่ต้นน้ำจนปลายน้ำ โดยมุ่งหวังให้โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของการร่วมพัฒนานวัตกรรมแก่ประเทศ
โครงการนี้ได้รับความร่วมมือจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ในหลายสถาบัน ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รวมถึง The Knowledge Exchange (KX) และ ไมโครซอฟท์ ไทยแลนด์
อรพงศ์ เทียนเงิน ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ดิจิทัล เวนเจอร์ส จำกัด กล่าวว่า “ในฐานะผู้ส่งเสริมระบบนิเวศสำหรับสตาร์ทอัพและการสร้างนวัตกรรม พบว่า ปัจจุบันการวิจัยและพัฒนาด้าน Deep Technology ในประเทศไทยนั้นยังมีความท้าทายในหลายส่วน เมื่อเทียบกับประเทศที่เป็น Innovation Hub ของโลกอย่างสหรัฐฯ จีน หรือ ญี่ปุ่น ที่มีองค์ประกอบต่างๆ ที่เอื้อต่อการพัฒนานวัตกรรม ทั้งการสนับสนุนจากภาคเอกชน ภาครัฐ ภาคการศึกษา ความคิดแบบผู้ประกอบการของประชากรในประเทศ (Entrepreneur Mindset) รวมถึงทรัพยากรด้านเงินทุน ดังนั้น จึงเป็นที่มาของการริเริ่มโครงการ U.REKA ขึ้น โดยมุ่งหวังจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในด้านการพัฒนานวัตกรรมให้กับประเทศในระยะยาวได้”
โครงการนี้มุ่งเน้นให้กลุ่มอาจารย์ นักศึกษา นักวิจัย และผู้สนใจเทคโนโลยีชั้นสูง รวมกลุ่มกันเป็น Startup นำเสนอไอเดียจากการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง อาทิ Artificial Intelligence (AI) / Blockchain / Clouds & Security / Big Data & Internet of Things / VR & AR และ Quantum Computing ซึ่งสามารถนำมาพัฒนาเป็นนวัตกรรมใหม่ๆ ที่สามารถตอบโจทย์อุตสาหกรรมหลัก ซึ่งในระยะแรกมุ่งเน้นที่อุตสาหกรรมการค้าปลีก การท่องเที่ยว การเดินทาง และ บริการทางการเงิน เพื่อนำไปต่อยอดและพัฒนาให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์และบริการ และนำออกสู่ตลาดได้จริงในอนาคต
กลุ่ม Startup ที่ผ่านการคัดเลือกจะได้รับการสนับสนุนจากทุกฝ่ายตลอดระยะเวลาโครงการ โดยได้รับการสนับสนุนด้านเงินทุน รับคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญในสายการเงินจาก ดิจิทัล เวนเจอร์ส ได้รับการสนับสนุนด้านเทคโนโลยีซอฟต์แวร์ และผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีจากไมโครซอฟท์ นอกจากนี้ The Knowledge Exchange (KX) ได้สนับสนุนสถานที่ทำงานที่เอื้อต่อการพัฒนาและวิจัยของกลุ่ม Startup เพื่อร่วมสร้างระบบนิเวศทางนวัตกรรมที่ยั่งยืนอีกด้วย ในขณะเดียวกัน มหาวิทยาลัยต่างๆ จะสนับสนุนการให้องค์ความรู้และนวัตกรรมจากงานวิจัยพื้นฐานเพื่อมาใช้เป็นแนวทางในการต่อยอดและสร้างโอกาสทางการตลาด รวมถึงการสรรหานักวิจัยในสาขาที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีชั้นสูงเพื่อร่วมพัฒนานวัตกรรม
ธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “ในฐานะผู้นำด้านเทคโนโลยี ไมโครซอฟท์ได้ให้การสนับสนุนกับกลุ่มสตาร์ทอัพและนักวิจัยมาโดยตลอด โดยในระดับโลก เราได้เปิดตัวโครงการ ‘Microsoft for Startups’ เพื่อเสริมศักยภาพให้กับธุรกิจสตาร์ทอัพทั่วโลก ซึ่งโครงการ U.REKA เอง มีจุดมุ่งหมายที่สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของเราอย่างสมบูรณ์ ด้วยเหตุนี้ เราจึงพร้อมที่จะร่วมสนับสนุนอย่างเต็มกำลัง นับตั้งแต่การแบ่งปันความรู้ความเข้าใจเชิงเทคนิค ไปจนถึงการสนับสนุนด้านการทำตลาดโซลูชั่น รวมถึงจัดให้มีโครงการแลกเปลี่ยนความรู้ด้านเทคโนโลยีกับ Microsoft Technology Center ที่สิงคโปร์ ซึ่งเป็นสำนักงานใหญ่ประจำภูมิภาคเอเชียอีกด้วย โครงการนี้ถือเป็นโอกาสอันดีที่เราจะได้นำทรัพยากรและประสบการณ์ระดับโลกมาแบ่งปันให้กับนักคิดและนักพัฒนาแห่งอนาคตของไทย และเราตื่นเต้นมากที่จะได้เห็นพลังสร้างสรรค์จากมันสมองของสตาร์ทอัพและนักวิจัยไทยภายใต้ความร่วมมือนี้”
บุญเจริญ ศิริเนาวกุล ประธานกรรมการบริหาร Knowledge Exchange (KX) กล่าวว่า “การสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการพัฒนานวัตกรรมมีความสำคัญอย่างยิ่ง นอกเหนือจากความรู้และทรัพยากรต่างๆ แล้ว สถานที่สำหรับนักวิจัยและพัฒนาหรือสตาร์ทอัพที่จะทำงานร่วมกันเพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมเป็นปัจจัยที่สำคัญเช่นกัน KX จึงเข้ามาสนับสนุน ด้วยการให้พื้นที่ทำงานสำหรับนักพัฒนาให้สามารถแลกเปลี่ยนความคิดและทำงานได้เต็มที่ตลอดระยะเวลาโครงการ”
อรพงศ์ กล่าวเสริมว่า “เรามุ่งหวังว่าโครงการนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆ ในการพัฒนานวัตกรรมของประเทศให้เกิดขึ้นจริงในระยะยาวได้ โดยที่ ดิจิทัล เวนเจอร์ส และพันธมิตรในปัจจุบัน ยินดีที่จะขยายความร่วมมือกับพาร์ทเนอร์อื่นที่มีเป้าหมายเดียวกัน เพื่อร่วมกันผลักดันให้โครงการนี้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประเทศได้อย่างยั่งยืน”
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา