เป็นคำถามยอดนิยมในยุคนี้ของนักลงทุนและนักวิเคราะห์กับธนาคารในประเทศไทยทุกรายว่า เมื่อรายได้จากค่าธรรมเนียมกำลังลดลง และหดหายไปเรื่อยๆ จนถึงวันหนึ่งอาจจะ “ไม่เหลือ” ค่าธรรมเนียมในบริการพื้นฐานต่างๆ อีกเลย
ธนาคารจะทำอย่างไร?
ปีที่ผ่านมาจากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการของธนาคารพาณิชย์ไทย ปี 2560 อยู่ที่ประมาณ 196,000 ล้านบาท จากธนาคาร 30 แห่ง ตัวเลขนี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตลอดเวลามากกว่า 10 ปีที่ผ่านมา โดย ธปท. ได้กำหนดประเภทของค่าธรรมเนียมและบริการไว้ 12 ประเภท
- การรับรอง รับอาวัล และค้ำประกัน
- บัตรเครดิต
- บริการบัตร ATM บัตรเดบิต และบริการธนาคารอิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ
- บริการโอนเงินและเรียกเก็บเงิน
- บริการที่ปรึกษา
- ค่าธรรมเนียมจัดการ
- การจัดการออก การจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ และการค้าตราสารแห่งหนี้
- การดูแลและเก็บรักษาหลักทรัพย์ของลูกค้า
- ค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับเช็ค
- ค่าธรรมเนียมการออกเล็ตเตอร์ออฟเครคิต
- ค่านายหน้า
- ค่าธรรมเนียมและบริการอื่น ๆ
การยกเลิกค่าธรรมเนียมบริการ 4-5 ประเภท ถือว่ายังเป็นส่วนน้อย เมื่อเทียบกับค่าธรรมเนียมอื่นๆ ที่ธนาคารยังเก็บจากผู้ใช้ เช่น บัตรเครดิต, บัตร ATM ดังนั้นจากตัวเลข 196,000 ล้านบาท จะลดลงไปไม่มากนัก
อีกปัจจัยหนึ่งคือเมื่อปีที่ผ่านมาเริ่มมีบริการ พร้อมเพย์ (PromptPay) เกิดขึ้น และประชาชนเริ่มใช้บริการ แม้จะยังเป็นส่วนน้อยแต่ก็กำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และน่าจะเป็นสัญญาณสำคัญที่บอกให้ธนาคารรู้ว่า รายได้จากค่าธรรมเนียมกำลังจะลดลงอยู่แล้ว ดังนั้นชิงยกเลิกค่าธรรมเนียมในบางบริการที่เหมือนพร้อมเพย์ไปเลย ก็ไม่ได้เสียหาย และอาจได้ประโยชน์จากจำนวนผู้ใช้มากกว่าด้วย
เมื่อค่าธรรมเนียมกำลังหายไป งั้นเลิกคิด (บางบริการ) เลยแล้วกัน
ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ SCB ได้ประกาศเลิกเก็บค่าธรรมเนียมบริการตั้งแต่ 26 มี.ค. ที่ผ่านมา ใน 4 บริการ ผ่าน Easy Net และ Easy App ฟรีค่าธรรมเนียมแบบไม่มีเงื่อนไข ได้แก่
- โอนข้ามเขต ข้ามธนาคาร ไม่จำกัดจำนวนครั้ง
- จ่ายบิล สินค้าและบริการ
- เติมเงินมือถือ ทุกค่าย
- กดเงินไม่ใช้บัตรทั่วไทย (แปลว่าต้องมี แอพ SCB EASY เพื่อกดเงินจากตู้ ATM แบบไม่เสียค่าธรรมเนียม)
ขณะที่ ธนาคารกสิกรไทย หรือ KBank ก็ประกาศตามมาติดๆ ฟรีค่าธรรมเนียมผ่าน K PLUS, K PLUS SME, K-Cyber, K-Cyber SME ตั้งแต่วันที่ 28 มีนาคมจนถึงสิ้นปีนี้ ในบริการดังนี้
- โอนข้ามเขต/โอนต่างธนาคารแบบทันที ไม่จำกัดจำนวนครั้ง
- จ่ายบิลค่าสินค้าและบริการ
- เติมเงินมือถือ
ธนาคารมีต้นทุนการบริหารจัดการเงินสดที่ลดลงในระยะยาว ช่วยลดต้นทุนให้ระบบเศรษฐกิจ ทั้งระดับส่วนรวม ร้านค้า และลูกค้าที่ใช้บริการ โดยคาดว่าการงดค่าธรรมเนียมนี้จะทำให้ปริมาณธุรกรรมเพิ่มขึ้นเป็น 6,000 ล้านรายการภายในกลางปีนี้
ล่าสุดในวันที่ 28 มีนาคม 2561 ธนาคารอีกสองรายคือ ธนาคารกรุงไทย และ ธนาคารกรุงเทพ ก็ทยอยประกาศฟรีค่าธรรมเนียมสำหรับการทำธุรกรรมดิจิทัลในลักษณะเดียวกัน
- กรุงไทยมาแล้ว ประกาศฟรีค่าธรรมเนียม KTB Netbank ด้วย เริ่ม 29 มีนาคมนี้
- มาอีกราย ธนาคารกรุงเทพประกาศฟรีค่าธรรมเนียมโอนเงินดิจิทัล มีผล 1 เมษายน
ไม่มีรายได้จากค่าธรรมเนียม ธนาคารจะทำอย่างไร
ค่าธรรมเนียมเป็นรายได้หลักส่วนหนึ่งของธนาคาร และมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ ในอนาคต อาทิตย์ นันทวิทยา CEO ของ SCB เคยประกาศไว้ก่อนหน้านี้ว่า SCB ไม่ได้กังวลเรื่องรายได้จากค่าธรรมเนียมลดลง แต่ SCB จะเน้นสร้างรายได้จากบริการอื่นๆ เช่น การลงทุน, ค่าธรรมเนียมการลงทุน, ดอกเบี้ย และบริการทางการเงินอื่นๆ
สอดคล้องกับท่าทีของธนาคารกสิกรไทย ที่ประกาศวิสัยทัศน์ KADE ใช้ระบบ AI ช่วยผลักดันบริการใหม่ๆ แห่งอนาคต เช่น machine lending การให้กู้ขนาดเล็กเฉพาะบุคคลผ่านแอพ และ machine commerce การขายสินค้าผ่านแอพธนาคาร ที่กำลังอยู่ระหว่างการทดสอบใน sandbox ของธนาคารแห่งประเทศไทย
ในงานแถลงข่าวของธนาคารไทยพาณิชย์ นายธนา เธียรอัจฉริยะ CMO ของ SCB ตอบคำถามนี้ว่า ธนาคารคิดแบบเดียวกับบริษัทไอทีที่เป็นเจ้าของแพลตฟอร์มขนาดใหญ่ ว่ามุ่งเป้าสร้างฐานผู้ใช้จำนวนมากๆ ก่อนโดยไม่ต้องสนใจโมเดลธุรกิจ ถ้าหากสามารถสร้างโมเมนตัม มีฐานผู้ใช้จำนวนเยอะพอแล้ว วิธีหาเงินจะตามมาเอง
ธนา ระบุว่าภาพจำของธนาคารไทยในหมู่ผู้บริโภคคือ “งก ช้า ห่วย” ซึ่งเป้าหมายของ SCB ต้องการเปลี่ยนให้เป็น Better, Faster, Cheaper โดยสองข้อแรก (Better / Faster) สามารถแก้ได้ผ่านแอพ SCB Easy เวอร์ชันใหม่ที่ดีขึ้นกว่าเดิม โดนใจผู้บริโภคมากขึ้น ส่วน “Cheaper” ก็แก้โดยยกเลิกค่าธรรมเนียมทั้งหมด
ปัจจุบัน SCB Easy มีผู้ใช้งาน 6.5 ล้านคน ส่วน K PLUS ของธนาคารกสิกรไทย มีผู้ใช้งาน 8 ล้านคน ถือเป็นสองหัวหอกสำคัญของธนาคารดิจิทัลไทย ที่เร่งกวาดยอดผู้ใช้งาน และสร้างสายสัมพันธ์ของผู้ใช้กับธนาคาร เพื่อป้องกันผู้เล่นหน้าใหม่ๆ ที่เป็นกลุ่ม non-bank
ลดค่าใช้จ่ายจากเงินสด อีกประเด็นสำคัญของ Digital Banking
นอกเหนือจากการสร้างรายได้ส่วนอื่นขึ้นทดแทน ส่วนที่สำคัญอีกประการคือ การลดค่าใช้จ่าย
- ลดต้นทุนการจัดการเงินสด – บริการที่ยกเลิกการเก็บค่าธรรมเนียม คือ โอน, จ่ายบิล และเติมเงิน ถ้าไม่นับกดเงินสดไม่ใช้บัตร เป็นบริการดิจิทัลที่ลดต้นทุนการจัดการเงินสด ซึ่งมีการคาดว่าอยู่ที่ 2% ของปริมาณเงินสดที่มีการเคลื่อนไหว เท่ากับว่าเงินสดจะลดการเคลื่อนที่แต่ธุรกรรมยังเกิดขึ้น
- ถ้าจำนวนธุรกรรมดิจิทัลเพิ่มขึ้น มีโอกาสลดจำนวนตู้ ATM ในอนาคต ก็ช่วยลดค่าใช้จ่ายได้มหาศาล
- การเปลี่ยนสาขาธนาคาร ให้เป็นศูนย์บริการ คาดกันว่า ธนาคารจะไม่ลดจำนวนสาขา (ยกเว้นจุดที่ซ้ำซ้อน) เปลี่ยนเป็นจุดให้บริการแบบอัตโนมัติ และศูนย์บริการ ด้านการลงทุน, บริการธุรกิจ, บริการทางการเงิน เป็นต้น ซึ่งเป็นบริการที่ยังเก็บค่าธรรมเนียมได้
ก่อนหน้านี้ TMB ก็เคยทำบัญชี TMB All Free ใช้ ATM กดเงิน โอนต่างธนาคาร และจ่ายบิล ฟรีค่าธรรมเนียมไม่จำกัดจำนวนครั้ง ทุกตู้ ATM ของทุกธนาคารทั่วประเทศ โดยเป็นบริการผ่านทั้ง ATM และช่องทางดิจิทัล
สรุป
การก้าวเข้ามาให้บริการ Mobile Banking หรือ Digital Banking เพิ่มจำนวนร้านค้าและผู้ใช้ทั่วไป ไม่ใช่เพื่อให้มีรายได้จากค่าธรรมเนียมมากขึ้น แต่เพื่อเป็นช่องทางให้ธนาคารเข้าถึงผู้ใช้ และมีโอกาสนำเสนอบริการทางการเงิน
ธนาคารรู้อยู่แล้วว่า ค่าธรรมเนียมกำลังลดลงและหลายส่วนจะหมดไป เป็นส่วนประกอบ New Normal ที่เกิดขึ้นจากการ Disrupt ของเทคโนโลยีและ FinTech เมื่อมองในมุมกลับ ชิงประกาศเลิกเก็บค่าธรรมเนียม สร้างฐานลูกค้า ลดต้นทุนการจัดการเงินสด และเตรียมบุกธุรกิจบริการใหม่ๆ น่าจะเป็นทางออกที่ดีกว่า
source: ธปท.
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา