ไมเนอร์ดึงแบรนด์ OVS เติมพอร์ต Fast Fashion ท้าชน UNIQLO/H&M

ตลาด Fast Fashion เดือดอีกแน่ ในปีนี้ไมเนอร์ คอร์ปอเรชั่นดึงแบรนด์ OVS จากอิตาลี ผสมโรงตลาด Fast Fashion กับเขาบ้าง เป้ารายได้ 300 ล้านบาทในปีนี้

ไมเนอร์ขอเติมพอร์ตแฟชั่นด้วย OVS

OVS เป็นแบรนด์ Fast Fashion จากประเทศอิตาลี มีอายุ 46 ปีแล้ว การเข้ามาทำตลาดในไทยในปีนี้ถือเป็นประเทศที่ 2 ในเอเชียต่อจากประเทศจีน และเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผ่านการจับมือกับ “ไมเนอร์ คอร์ปอเรชั่น” เป็นผู้ทำตลาดในไทย

ไมเนอร์เองมีแผนในการบุกตลาดไลฟ์สไตล์ และแฟชั่นมากขึ้น เพราะเป็นตลาดที่มีการเติบโต ทำให้ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาได้เห็นไมเนอร์ดึงแบรนด์ใหม่ๆ เข้ามาตลอด

ซึ่ง OVS จะเข้ามาเติมในเซ็กเมนต์ Fast Fashion ที่ไมเนอร์ยังไม่เคยมี แต่เดิมมีแค่กลุ่มแฟชั่นระดับกลาง ไปจนถึงพรีเมี่ยม ได้วางหมากให้ OVS เป็นแบรนด์ที่จะสร้างการเติบโตได้ดีในอนาคต

เจมส์ ริชาร์ด อมตวิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไมเนอร์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า

หนึ่งในวิชั่นของไมเนอร์คือต้องการเป็นหนึ่งในผู้นำด้านแฟชั่น ทำให้ต้องหาแบรนด์ใหม่ๆ มาตอบโจทย์ลูกค้าตลอด ปัจจุบันมีทั้งหมด 14 แบรนด์ในเครือ พบว่าตลาด Fast Fashion เรายังไม่เคยเล่น แต่มีทิศทางการเติบโตที่ดีมาตลอด จึงหาแบรนด์เด่นๆ อย่าง OVS จากอิตาลีมาเติมในพอร์ตให้แน่นขึ้น”

OVS เบอร์ 1 ในอิตาลี

เหตผลที่ไมเนอร์นำแบรนด์นี้เข้ามาทำตลาดในไทยนั้น เพราะเป็นแบรนด์ Fast Fashion ที่โดดเด่นกว่าแบรนด์อื่น และเป็นแบรนด์อิตาลีซึ่งเป็นประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องแฟชั่นอยู่แล้ว จึงใช้มาเป็นจุดเด่นในการสู้กับแบรนด์อื่น

ปัจจุบัน OVS มีสาขารวม 1,300 สาขา เป็นสาขาในอิตาลี 1,000 สาขา และในต่างประเทศอีก 35 ประเทศ 300 สาขา ในปี 2559 มียอดขายรวม 43,738 ล้านบาท มีผู้เข้าชมร้านปีละ 150 ล้านคน

สู้ศึกด้วยเสื้อผ้าเด็ก!

การลงศึก Fast Fashion ในครั้งนี้ของไมเนอร์ได้วางเกมไว้ว่าจะใช้จุดเด่นของแบรนด์ OVS ที่ดังเรื่องเสื้อผ้ากลุ่มเด็ก เพราะมีสินค้าให้เลือกตั้งแต่เด็กแรกเกิดจนถึง 14 ขวบ และมีสัดส่วนสินค้าในร้านถึง 40% ต่างจากแบรนด์อื่นๆ ที่จะเน้นเสื้อผ้าแฟชั่นผู้หญิง เพราะเป็นกลุ่มลูกค้าใหญ่ในสินค้าแฟชั่น

นิศากร เมสันธสุวรรณ ผู้จัดการทั่วไป OVS ประเทศไทย เล่าว่า

การทำตลาดในไทยเราเลือกสินค้ากลุ่มเด็กเป็นหลักเพราะเป็นจุดแข็งของแบรนด์ที่ประสบความสำเร็จในต่างประเทศ ทำให้แบรนด์ต่างจากคู่แข่งในตลาดด้วย เพราะแบรนด์อื่นมีสินค้าเด็กราว 12-15% เท่านั้น แต่เรามี 40% และสินค้าผู้หญิง 40% ผู้ชาย 20%”

และได้เลือกสาขา “เมกา บางนา” เป็นแฟล็กชิพสโตร์แห่งแรกด้วยพื้นที่ 660 ตารางเมตร เพราะเป็นห้างสำคัญในโซนตะวันออก มีแบรนด์ของไมเนอร์อยู่ที่นี่เยอะทั้ง Etam, Charles & Keith, Anello และกลุ่มลูกค้าเป็นกลุ่มครอบครัวตรงกับกลุ่มเป้าหมาย

ที่สำคัญคือที่เมกา บางนาเป็นพื้นที่เดือดของ Fast Fashion รวมทุกแบรนด์ไม่ว่าจะ UNIQLO, Zara, H&M, Cotton On มีการแข่งขันที่สมบูรณ์ ลูกค้าสามารถเลือกได้ตอบโจทย์ตัวเอง

ในปีนี้ไมเนอร์ได้วางงบลงทุน 200 ล้านบาทในการชยายสาขา ในสิ้นปีจะมี 7 สาขา ตอนนี้ได้เปิดไปแล้ว 3 สาขา ได้แก่ สนามบินดอนเมือง, จังซีลอน ภูเก็ต และเมกา บางนา อีก 4 สาขาได้แก่ แฟชั่นไอซ์แลนด์, เซ็นทรัลเวิลด์, เซ็นทรัลเฟสติวัลเชียงใหม่ และ เทอร์มินอล 21

ตั้งเป้าขยาย 3-5 สาขาต่อปี และมี 25 สาขาใน 5 ปี มีรายได้ 1,000 ล้านใน 3 ปี ในปีนี้ขอรายได้ 300 ล้านบาท พร้อมขึ้นท็อป 3 ในตลาด Fast Fashion ให้ได้ในไม่ช้า

Fast Fashion ในไทยยังโตสวย

ตลาด Fast Fashion ในไทยในปี 2560 ที่ผ่านมา มีมูลค่าราว 30,000 ล้านบาท เติบโต 8-9% ซึ่งโตสูงกว่าตลาดเสื้อผ้าแฟชั่นทั่วไปที่มีมูลค่า 234,000 ล้านบาท เติบโต 4.4% ในปีนี้คาดจะโต 4.1%

3 ผู้เล่นใหญ่ในตลาด ได้แก่ UNIQLO มูลค่า 8,500 ล้านบาท, Zara 4,500 ล้านบาท และ H&M 4,000 ล้านบาท และมีแบรนด์อื่นๆ อีกอย่าง Forever 21, Topshop และ Cotton On

ตลาดนี้ยังมีโอกาสโตได้อีก เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคนิยมใน Fast Fashion มากขึ้น มีราคาจับต้องได้ สามารถซื้อได้บ่อยครั้ง

สรุป

ตลาด Fast Fashion ยังคงมีโอกาสเติบโตได้ดี และมีการแข่งขันสูง เห็นได้จากการเร่งขยายสาขาของแบรนด์ใหญ่ๆ และมีแบรนด์ใหม่เข้ามา ซึ่งเป็นหมากเด็ดของไมเนอร์ในการรุกตลาดแฟชั่นด้วยเช่นกัน หวังให้พอร์ตแฟชั่น ไลฟ์สไตล์เติบโตมากขึ้น

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา