มองมุมใหม่กับโอกาสใหม่ๆ ในการไปลงทุนในประเทศอินเดีย

ประเทศอินเดียนอกจากเศรษฐกิจที่กำลังเจริญเติบโตอย่างมากแล้ว หลายๆ ธุรกิจในประเทศอินเดียยังน่าสนใจที่จะไปลงทุนไม่น้อย ซึ่งมีหลายๆ อุตสาหกรรมที่ยังต้องการการลงทุนจากต่างประเทศ

โดยสัมมนาจัดขึ้นในงานเปิดตัวกองทุน ONE-INDIAOPP ซึ่งทาง Brand Inside มองว่าหัวข้อน่าสนใจมาก ในบางมุมของประเทศอินเดียที่คนไทยอาจยังมีอคติอยู่ อาจปิดโอกาสสำคัญในธุรกิจของท่านได้

ความแตกต่างระหว่างอินเดียกับจีน

ปิติ ศรีแสงนาม อาจารย์จากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าถ้ามองเรื่องขนาดเศรษฐกิจอาจมองได้ว่าอินเดียตามจีนหลายก้าวมาก GDP ห่างกัน 5 เท่า PPP ต่างกัน 3 เท่า แต่ถ้ามาเฉลี่ยหมดแล้วอินเดียห่างกับจีนแค่ 2 เท่า

ถ้าหากมองเรื่องของภาคการผลิตแล้วอินเดียมีเรื่องของการผลิตที่หลากหลายกว่าจีน เช่น ด้านการเขียนซอฟท์แวร์ ฯลฯ ซึ่งทางจีนยังเน้นเรื่องการผลิตที่ต้นน้ำมากกว่าอินเดีย เช่น สินแร่ โรงถลุงเหล็ก เรื่องนี้จีนกำลังปรับตัว

ความหลากหลายด้านชาติพันธุ์ ปิติ ศรีแสงนาม มองว่าเรื่องนี้อินเดียได้เปรียบกว่าจีน เพราะอินเดียมีหลายชาติพันธุ์ ความลุ่มลึกในวิธีคิดหรือแม้แต่เรื่องอื่นๆ นั้นเยอะกว่ามาก ซึ่งสามารถดูได้จากพันธบัตรอินเดียที่มีภาษาหลากหลายภาษา

อินเดียมาเที่ยวไทยเยอะมาก

อดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ได้กล่าวว่าชาวไทยยังอคติกับประเทศอินเดียเยอะมาก แตกต่างกับทางอินเดียที่ชื่นชอบมาเที่ยวประเทศไทย ปีหนึ่งๆ คนอินเดียมาเที่ยวประเทศไทยถึงหลักล้านคน แต่ละปีมีชาวอินเดียมาแต่งงานที่ไทยเกิน 300 คู่ ซึ่งประเทศไทยนั้นเป็นอีกหนึ่งประเทศที่ชาวอินเดียชื่นชอบมาก และอาหารไทยชาวอินเดียก็ชอบมาก แม้แต่มหาเศรษฐีอย่าง Mukesh Ambani ยังนำเครื่องบินมารับพ่อครัวไทยไปทำอาหารให้รับประทานบ่อยๆ

อินเดียสะอาดขึ้นทุกๆ ด้าน

อดุลย์ โชตินิสากรณ์ และ ปิติ ศรีแสงนาม ยังได้กล่าวต่อว่าตัวเองกลับไปอินเดียแต่ละรอบจะเห็นว่าอินเดียสะอาดขึ้น เพราะว่านโยบาย Swachh Bharat Abhiyan เรียกง่ายๆ ว่า “ทำให้อินเดียสะอาด” ปัจจุบันนี้อินเดียได้แบนถุงพลาสติกแล้ว และนโยบายนี้ไม่ใช่แค่การทำให้บ้านเมืองสะอาดเท่านั้น ยังมีการทำให้อินเดียสะอาดในเรื่องอื่นๆ เช่น การเปลี่ยนธนบัตรอินเดีย เพื่อปราบเรื่องของเงินที่มาจากคอร์รัปชั่น

รูปของเมือง Mumbai (ภาพจาก Shutterstock)

นโยบายรัฐบาลส่งเสริมลงทุนในประเทศอินเดีย

ซึ่งนโยบายของรัฐบาลของ นเรนทระ โมที ได้เริ่มเอื้อให้ต่างประเทศเข้าไปลงทุนมากขึ้น เช่น การจดทะเบียนบริษัทหรือการตั้งกิจการในประเทศอินเดียทำให้ง่ายมากขึ้น แต่ละรัฐมีการแข่งขันให้ต่างชาติเข้าไปลงทุน หรือว่าหากติดขัดเรื่องอะไรก็สามารถสอบถามกับเจ้าหน้าที่ได้ รวมไปถึงนโยบายที่สำคัญคือ Made in India ซึ่งหลายๆ อุตสาหกรรมอาจได้ประโยชน์ในการมาตั้งฐานการผลิตที่อินเดีย รวมไปถึงการเชิญต่างชาติเข้าไปลงทุน

ยังมีหลายอุตสาหกรรมที่คนไทยน่าสนใจไปลงทุน

ตัวอย่างหลายๆ อุตสาหกรรมที่ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ มองว่ายังน่าไปลงทุนในประเทศอินเดียมาก

  • กลุ่ม Logistics ยังน่าสนใจสำหรับในอินเดียระยะยาว เพราะว่าอินเดียกำลังเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และอุตสาหกรรมนี้จะได้ประโยชน์มาก
  • กลุ่มอุตสาหกรรมแปรรูปผลิตภัณฑ์ทางเกษตร หรือแม้แต่การส่งผลไม้บางชนิดเข้าไปขาย เช่น มังคุด มะขามหวาน แก้วมังกร ลำใย กิโลกรัมละ 300-400 บาทยังมีชาวอินเดียซื้อ
  • ห้องแช่ผลผลิตทางการเกษตร ปีนึงๆ ประเทศอินเดียสูญเสียผลผลิตทางการเกษตรไปถึงเกือบๆ 50%
  • โรงพยาบาล ถึงแม้ว่าโรงพยาบาลที่ดีที่สุดในมุมใบก็ยังมีบริการที่ดีไม่เท่าที่ประเทศไทย
  • อุตสาหกรรมเครื่องประดับ โดยเฉพาะเมืองสุรัต ในรัฐคุชราต เพชรส่วนมากในโลกนี้ถูกเจียรไนจากที่นี่

ซึ่งอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศมองว่าคนไทยยังน่าไปลงทุนในประเทศอินเดีย ซึ่งบางทีการที่ประเทศไทยอาศัยส่งออกไปประเทศอินเดียเอาอาจทำให้เกิดข้อจำกัดได้เช่น ภาษี ฯลฯ

เรื่องที่น่าสนใจอื่นๆ

ยังมีเรื่องที่น่าสนใจเล็กๆ น้อยๆ แต่คิดว่ามีประโยชน์กับคนไทย หรือสนใจที่หาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ในอินเดีย

  • เครื่องใช้พลาสติกของไทยเป็นที่นิยมมาก เพราะมีคุณภาพดี เชื่อถือได้
  • ของใช้เด็กอ่อน เสื้อผ้าเด็กอ่อน จากประเทศไทยถือว่าขายดีมาก
  • ร้านค้าปลีกในอินเดียปรับตัวอย่างมาก เช่น สามารถโทรศัพท์สั่งสินค้าได้เช่น เอาไข่ 6 ฟอง สักพักก็มาส่ง
  • E-commerce ถือว่าข้ามเรื่องค้าปลีกในอินเดียไปเลย สั่งของออนไลน์การแข่งขันสูงมาก
  • ถนนจากแม่สอด-มณีปุระ กำลังปรับปรุงถนน ต่อไปอาจขับรถเที่ยวพม่า อินเดียได้

หวังว่าผู้อ่านจะได้โอกาสทางธุรกิจใหม่ในประเทศอินเดีย ซึ่งทาง Brand Inside ต้องขอขอบคุณทาง บลจ. วรรณ สำหรับสัมมนาดีๆ นี้ด้วยครับ

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

mm
Content Writer ที่สนใจในเรื่องของตลาดทุนทั้งในและต่างประเทศ กลุ่ม TMT (Technology, Media, Telecom) การควบรวมกิจการ (M&A) นโยบายทางเศรษฐกิจของไทยและต่างประเทศ รวมถึงสิ่งละอันพันละน้อยทางธุรกิจที่น่าสนใจ